สภาเทคนิคการแพทย์ชวนประชาชนใช้สิทธิตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่คลินิกเทคนิคการแพทย์เอกชนที่เข้าร่วมโครงการ Lab Anywhere ฟรี ย้ำค้นหาหน่วยบริการใกล้บ้านและจองคิวง่ายๆ ผ่านกระเป๋าสุขภาพในแอปพลิเคชันเป๋าตัง  

ทนพญ.ศิริรัตน์ ลิกานนท์สกุล ที่ปรึกษาสภาเทคนิคการแพทย์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา สภาเทคนิคการแพทย์ได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดทำโครงการ Lab Anywhere หรือตรวจแล็บนอกหน่วยบริการเพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) สามารถเข้ารับบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจอุจจาระ และสิ่งส่งตรวจอื่นๆ สำหรับประกอบการวินิจฉัยและการรักษาของแพทย์ ได้ที่คลินิกเทคนิคการแพทย์เอกชนที่เข้าร่วมโครงการนอกเหนือจากการตรวจในโรงพยาบาล

ทนพญ.ศิริรัตน์ กล่าวว่า รายการตรวจที่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับการตรวจในคลินิกเทคนิคการแพทย์เอกชนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายจะมีทั้งหมด 24 รายการ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.รายการตรวจสำหรับผู้ป่วยนอก เช่น ตรวจน้ำตาล ค่าไขมันในเลือด ตรวจการทำงานของตับ ตรวจการติดเชื้อไวรัส ฯลฯ รวมทั้งหมด 22 รายการ และ 2.รายการตรวจสำหรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค 2 รายการ ประกอบด้วย การตรวจการตั้งครรภ์ปีละ 4 ครั้ง และการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่สำหรับผู้มีอายุ 50-70 ปี ทุกๆ 2 ปี

สำหรับขั้นตอนการเข้ารับบริการนั้น จะแยกเป็น 2 ส่วนเช่นกัน โดยในส่วนของกลุ่มผู้ป่วยนอกครอบคลุมผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท (สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) จะต้องให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาออกใบสั่งตรวจ ซึ่งจะเป็นคนไข้ที่รักษากับโรงพยาบาลอยู่แล้วและต้องติดตามการรักษา เช่น แพทย์ต้องการทราบผลเลือดก่อนให้ยา แพทย์สามารถออกใบสั่งตรวจให้ผู้ป่วยถือมารับบริการที่คลินิกเทคนิคการแพทย์เอกชนนอกโรงพยาบาลก็ได้

ขณะที่ในส่วนของกลุ่มสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคนั้น ประชาชนคนไทยทุกคนทุกสิทธิการรักษาสามารถมารับบริการที่คลินิกได้เลยโดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวและไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาทเท่านั้น โดยสามารถตรวจรายชื่อคลินิกที่เข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์ของ สปสช. และที่สะดวกกว่านั้นคือสามารถค้นหารายชื่อหน่วยบริการใกล้บ้านและจองคิวเข้ารับบริการได้ผ่านกระเป๋าสุขภาพในแอปพลิเคชันเป๋าตังอีกด้วย

“อยากเชิญชวนให้ลองเปิดแอปฯแล้วลองนัดหมายเข้ารับบริการ โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ซึ่งเป็นภัยเงียบ กว่าจะรู้มันลุกลามไปแล้ว ดังนั้นอยากให้ทุกคนไปตรวจเพราะที่ผ่านมาการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่มีจำนวนการตรวจน้อย อาจจะเป็นเพราะไม่สะดวกสำหรับหลายๆ คนเพราะต้องเก็บตัวอย่างอุจจาระ แต่ถ้ารับบริการกับคลินิกเอกชนจะทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น เนื่องจากเวลาทำการยืดหยุ่นไม่จำกัดแค่เวลาราชการ บางคลินิกเปิดถึง 2 ทุ่ม บางที่เปิดถึงเที่ยงคืน และวันเสาร์อาทิตย์ก็ยังเปิดให้บริการ ทำให้เป็นทางเลือกที่ดีมากสำหรับประชาชนอยากมาใช้บริการ”ทนพญ.ศิริรัตน์ กล่าว

ทนพญ.ศิริรัตน์ กล่าวอีกว่า เนื่องจากโครงการนี้เพิ่มเริ่มให้บริการมาได้เพียง 1 เดือน ดังนั้นจึงยังมีคลินิกที่เข้าร่วมโครงการไม่มาก ปัจจุบันมีคลินิกเทคนิคการแพทย์ในโครงการประมาณ 35 แห่ง อย่างไรก็ดี ในอนาคตจะมีจำนวนคลินิกเข้าร่วมมากขึ้น เพราะที่ผ่านมามีคลินิกแสดงความสนใจเข้ามากว่า 300 แห่งทั่วประเทศ และนอกจากจำนวนคลินิกที่จะมากขึ้นแล้ว ในปีต่อไป รายการตรวจก็จะเพิ่มมากขึ้นมากกว่า 24 รายการ โดยขณะนี้สภาเทคนิคการแพทย์อยู่ระหว่างหารือกับ สปสช. ว่าในปีต่อๆไป จะเพิ่มรายการตรวจอะไรเข้ามาในชุดสิทธิประโยชน์อีกบ้าง

ด้าน ทนพ.สมชัย เจิดเสริมอนันต์ นายกสภาเทคนิคการแพทย์ กล่าวว่า แม้จะเป็นการให้บริการนอกโรงพยาบาล แต่ประชาชนและโรงพยาบาลที่ต้องการส่งตัวผู้ป่วยมากรับบริการ สามารถมั่นใจในมาตรฐานของคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการได้ว่ามีความน่าเชื่อถือ ถูกต้อง แม่นยำในการตรวจ เพราะคลินิกที่เข้าร่วมจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานตามที่กำหนด

ขณะเดียวกัน อยากทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลว่าการให้ผู้ป่วยมารับบริการกับคลินิกเทคนิคการแพทย์นอกโรงพยาบาล ไม่ได้หมายความว่า สปสช. จะตัดงบประมาณของโรงพยาบาลมาจ่ายให้คลินิกแต่อย่างใด โรงพยาบาลยังได้รับงบประมาณจาก สปสช. เหมือนเดิม และการให้ผู้ป่วยมารับบริการข้างนอกจะเป็นการช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้อีกทางหนึ่ง ช่วยลดภาระงานของบุคลากรในโรงพยาบาลและมีเวลาทำงานคุณภาพได้มากขึ้น

\

ขณะที่ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์หลักการการลดความแออัดในโรงพยาบาล และเพิ่มความสะดวกให้ประชาชนสามารถไปรับบริการได้ใกล้บ้าน ไม่ต้องรอคิวนาน และขอให้โรงพยาบาลมั่นใจว่าแม้จะมีคลินิกเอกชนเข้าร่วมให้บริการ แต่งบประมาณที่ สปสช. จัดสรรแก่โรงพยาบาลยังเหมือนเดิม ไม่ได้ตัดทอนลงแต่อย่างใด ขณะเดียวกัน ในส่วนของคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการ ขอให้มั่นใจว่า สปสช. จะมีการจ่ายเงินค่าบริการให้อย่างเร็วที่สุด โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 15 วัน/ครั้ง

ด้าน ทนพ.โสฬส ธนิกกุล เวอร์คแล็บสหคลินิก อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี คลินิกเทคนิคการแพทย์ที่ร่วมให้บริการ Lab Anywhere กล่าวว่า เหตุผลที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเนื่องจากต้องการช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดระยะเวลารอคอยการตรวจ แต่เนื่องจากเพิ่งเริ่มโครงการมา 1 เดือน ตอนนี้จึงยังมีผู้ป่วยมารับบริการ 5 คน อย่างไรก็ดี เชื่อว่าในอนาคตจะมีประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองมารับบริการมากขึ้น และยืนยันกับคลินิกเทคนิคการแพทย์อื่นๆที่สนใจว่า สปสช. จ่ายเงินค่าบริการรวดเร็ว ตรงเวลา แน่นอน