รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขร่วมอภิปรายการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เน้นย้ำความสำคัญของระบบสุขภาพปฐมภูมิที่ต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อให้บรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ชี้การเกิดขึ้นของโควิด-19 ทำให้ไทยเกิดนวัตกรรมบริการสุขภาพปฐมภูมิรูปแบบใหม่เพื่อดูแลประชาชน ทั้งการแพทย์ทางไกล รับยาใกล้บ้าน เจาะเลือด-ตรวจแล็บนอก รพ. อสม.ดูแลสุขภาพคนในชุมชน และการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ซึ่งทั้งหมดมีหลักการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 เวลา 11.00 น. (เวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการอภิปรายของภาคส่วนที่หลากหลาย (Multistakeholder panel) ในหัวข้อความสำคัญของระบบสุขภาพปฐมภูมิและแนวทางในการสนับสนุน (What is a primary healthcare approach and why does it matter?) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (High-Level Meeting on Universal Health Coverage) ระหว่างห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 78 เพื่อทบทวนความคืบหน้าในการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ.2573)

 

นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยการเกิดขึ้นของโควิด-19 ได้นำเราไปสู่การมีนวัตกรรมทางสังคมและบริการรูปแบบใหม่ของระบบสุขภาพปฐมภูมิ เช่น บริการการแพทย์ทางไกล (telemedicine) การดูแลสุขภาพของคนในชุมชนด้วยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) การรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน การเจาะเลือด-ตรวจแล็บที่ห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่และคลินิกเทคนิคการแพทย์นอกหน่วยบริการ รวมไปถึงระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (homeward) เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือนวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ (New Normal) ที่นำเราไปสู่มิติใหม่ของการให้บริการระบบสุขภาพปฐมภูมิ

ทั้งนี้ การจะบรรลุเป้าหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ปัจจัยสำคัญคือต้องมีการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพปฐมภูมิ ขณะเดียวกันประเทศต่างๆ ก็จำเป็นต้องลงทุนอย่างเพียงพอในระบบสาธารณสุขเพื่อการดูแลสุขภาพของประชาชนในประเทศ นอกจากนั้นกลไกทางการเงินและการคลังด้านสาธารณสุขก็ต้องได้รับการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน เพื่อสร้างความมั่นใจในศักยภาพของระบบสาธารณสุขที่จะสามารถดูแลสุขภาพของผู้คนได้ในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีระบบสุขภาพปฐมภูมิในรูปแบบใหม่ที่เน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของการให้บริการและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สิ่งเหล่านี้คือความสำคัญของระบบสุขภาพปฐมภูมิที่จะช่วยให้แต่ละประเทศบรรลุเป้าหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้