อเมริกาพร้อม 19 ประเทศ ลงชื่อไม่เห็นด้วยปฏิญญาสากลสหประชาชาติที่ไทยร่วมเสนอ เพราะอาจตีความได้ว่าสนับสนุน “ทำแท้ง”
ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (สหรัฐอเมริกา) เมื่อวันอังคารที่ 24 กันยายน 2562
อเล็กซ์ อาซาร์ รมว.สาธารณสุข สหรัฐอเมริกา ประกาศบนเวทีการประชุมระดับสูงว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (High-level Meeting on Universal Health Coverage) เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ขอให้ถอนคำกำกวม ในย่อหน้า 68 ของปฏิญญาทางการเมืองเรื่อง “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า: เดินหน้าไปด้วยกันเพื่อสร้างโลกที่สุขภาพดีขึ้น” ออกไป เพราะอาจถูกตีความได้ว่าหมายถึงการ “ทำแท้ง”
ย่อหน้าเจ้าปัญหา ระบุว่า “ในปี 2570 ทุกประเทศ จะกำหนดให้มีการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในด้านอนามัยเจริญพันธุ์และการคุมกำเนิด การวางแผนครอบครัว ข้อมูลข่าวสาร และการศึกษาด้านที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงบูรณาการเรื่องดังกล่าวเป็นแผนยุทธศาสตร์ และให้คำมั่นว่าจะให้มีการเข้าถึงการคุมกำเนิด และอนามัยเจริญพันธุ์ ในฐานะ ‘สิทธิ’”
สำหรับปฏิญญาทางการเมืองฉบับนี้ ถูกเสนอโดยผู้แทนจาก 2 ประเทศ ได้แก่ คาฮา อินนาดเซ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรจอร์เจีย ประจำสหประชาชาติ และวิทวัส ศรีวิหค เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหายาวกว่า 11 หน้า ให้ทุกประเทศสมาชิกสหประชาชาติ สนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามแผนพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) ในปี 2570
นอกจากนี้ อาซาร์ รวมถึง ไมค์ ปอมเปโอ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ ในนามรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความกังวลว่า ปฏิญญาทางการเมืองฉบับนี้ อาจเกิดการตีความผิดๆ และทำให้ “สถาบันครอบครัว”อ่อนแอลง
ไม่เพียงเท่านั้น สหรัฐฯ ยังได้ล่ารายชื่อสมาชิกสหประชาชาติอีก 19 ประเทศ ให้ลงนามในแถลงการณ์ร่วม แสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อความในปฏิญญาทางการเมือง โดยระบุว่าการ “ทำแท้ง” ไม่ใช่ “สิทธินานาชาติ” อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ประเทศอื่นๆ ที่สนับสนุนปฏิญญา ภาคประชาสังคม และกลุ่มสิทธิสตรี กลับรวมตัวกันไม่เห็นด้วยกับอเมริกา โดยกล่าวหาว่า อเมริกา ได้ร่วมกับชาติอื่น เช่น ซาอุดีอาระเบีย และ ซูดาน ซึ่งมีประวัติไม่ค่อยดีนักในเรื่องสิทธิมนุษยชน ให้ร่วมลงนามในแถลงการณ์คัดค้านปฏิญญาฉบับนี้นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังมีท่าทีกดดันต่อประเทศต่างๆ ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ให้ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ฉบับนี้
สัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวแทนจากหลายประเทศทวีตคำคัดค้านของพวกเขาต่อแถลงการณ์ของสหรัฐฯ ภายใต้แฮชแท็ก #SRHR ซึ่งย่อมาจาก Sexual Reproductive Health and Reproductive Rights สุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์และสิทธิ ซึ่งเป็น “ถ้อยคำ” ที่สหรัฐฯ ระบุว่า “กำกวม” และพยายามขอให้ลบออกจากปฏิญญา
ปีเตอร์ อีริคสัน รมว.การพัฒนาระหว่างประเทศของสวีเดนทวีตว่า การกระทำดังกล่าวของสหรัฐฯ และ 19 ประเทศ ถือเป็นเรื่อง “เหลือเชื่อ
ขณะเดียวกัน อีก 58 ประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย อังกฤษ นิวซีแลนด์ อิตาลี เยอรมนี ฯลฯ ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์อีกฉบับ แสดงความไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของสหรัฐฯ และอีก 19 ประเทศ โดยเห็นว่าเรื่อง “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ด้านอนามัยเจริญพันธุ์ และการคุมกำเนิด ถือเป็นเรื่องจำเป็น ขณะเดียวกัน ปฏิญญาทางการเมืองที่ถูกเสนอนั้น ก็ไม่ได้หมายความถึงการ “ทำแท้ง” อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ 58 ประเทศ มอบหมายให้ ซีกรีด คาร์ค รมว.การค้าต่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ เป็นผู้ร่างแถลงการณ์ โดยมีเนื้อหาคร่าวๆ ระบุว่าต้องการเน้นย้ำความจำเป็นในเรื่องการรักษา‘สิทธิ’ ในการเข้าถึงอนามัยเจริญพันธุ์ และการคุมกำเนิด ในฐานะหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ขณะเดียวกัน จุดประสงค์ของข้อความดังกล่าว ก็ไม่ได้หมายรวมถึงเรื่องการทำแท้ง อย่างที่ 19 ประเทศกังวล เพียงแต่มีจุดประสงค์ให้การ “คุมกำเนิด” เป็นเรื่องที่ผู้หญิงทุกคน ทุกวัย และทุกสถานะ สามารถเข้าถึงได้ โดยไม่มีการ “เลือกปฏิบัติ” เท่านั้น
แถลงการณ์ร่วมจาก 58 ประเทศ ยังระบุอีกด้วยว่า มีตัวอย่างจากหลายประเทศทั่วโลกที่บรรจุเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์ และเรื่องสุขภาพทางเพศ ลงไปในนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น สร้างประโยชน์มากกว่าที่จะสร้างปัญหา โดยประสบความสำเร็จทั้งในเรื่องป้องกันความเสี่ยงจากการทำแท้งเถื่อน ป้องกันการ “ท้องไม่พร้อม” รวมถึงสามารถช่วยชีวิตคนได้จำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังได้กล่าวชื่นชมตัวแทนจากไทย และตัวแทนจากจอร์เจีย ที่เสนอเรื่องดังกล่าวไว้ในปฏิญญาทางการเมือง โดยให้เหตุผลว่า ทั่วโลก ต้องการการ “ลงทุน” สร้างระบบอนามัยเจริญพันธุ์ และการคุมกำเนิดที่ทุกคนเข้าถึงได้ ตามหลักการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”เพื่อให้แม่ เด็กที่เกิดใหม่ และครอบครัว มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
ฟรองซัวส์ จิราด ประธานสมาพันธ์สิทธิสตรีสากล ระบุว่า สหประชาชาติ ได้สนับสนุนเรื่อง “การคุมกำเนิด และอนามัยเจริญพันธุ์” มาไม่ต่ำกว่า25 ปีแล้ว การตัดสินใจประท้วงถ้อยคำดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลทรัมป์ ต้องการจะตัดสิทธิ์สตรี, เด็ก และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ออกจากสิทธิ์ที่ควรจะได้รับ
ทว่า ในทางตรงกันข้าม กลุ่มต่อต้านการทำแท้ง ได้ออกมาชื่นชมการตัดสินใจของรัฐบาลทรัมป์ พร้อมกับระบุว่า ตั้งแต่วันแรก ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ทำงานอย่างหนัก เพื่อให้ความเคารพคุณค่าของชีวิตทุกชีวิต ไม่เพียงแค่ในนโยบายภายในประเทศเท่านั้น แต่ในนโยบายระหว่างประเทศ ประธานาธิบดี ก็มีจุดยืนที่ชัดเจน
สำหรับ 19 ประเทศ ที่ร่วมลงนามในแถลงการณ์ร่วม ให้ตัดเรื่องการอนามัยเจริญพันธุ์ การคุมกำเนิด และสุขภาพทางเพศ ออกจากปฏิญญาทางการเมืองฉบับนี้ ได้แก่ สหรัฐฯ, บาห์เรน, เบลารุส, บราซิล, คองโก, อียิปต์, กัวเตมาลา, เฮติ, ฮังการี, อิรัก, ลิเบีย, มาลี, ไนจีเรีย, โปแลนด์, รัสเซีย, ซาอุดีอาระเบีย, ซูดาน, สาธารณรัฐอาหรับอิมิเรตส์ และเยเมน
เรียบเรียงจาก
2.ปฏิญญาทางการเมือง “Universal Health Coverage : moving together to build a healthier world”
- 149 views