“ส.ว.ณรงค์” อภิปรายในการประชุมสภา ฝากถึง “หมอชลน่าน” ประเด็นนโยบายสาธารณสุข หนุนตั้งบอร์ดสุขภาพ national health board เพื่อความเป็นเอกภาพ ปรับกลไกการเงินการคลังไม่ให้บอร์ดสปสช.จัดการหนึ่งเดียว แต่กระจายกองทุนหลักประกันฯระดับเขต ดึงประชาชนมีส่วนร่วม เพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร รพ. ไม่หนุนแยกเป็นองค์การมหาชน พร้อมขอทบทวนถ่ายโอนรพ.สต. เหตุทำระบบสาธารณสุขบิดเบี้ยว
ตามที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เผยถึงนโยบายสาธารณสุขจะมีการแถลงรายละเอียดภายในวันที่ 22 กันยายนนี้ และมีแนวคิดคณะกรรมการกำหนดนโยบายที่เรียกว่า National Health Board เพื่อทำหน้าที่ด้านนโยบายสาธารณสุขของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกกระทรวงฯ โดยจะไม่ได้ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นๆนั้น
เมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่ประชุมรัฐสภา นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะสมาชิกรัฐสภา (อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข) กล่าวอภิปรายถึงข้อเสนอแนะต่อนโยบายรัฐบาล ประเด็นการพัฒนาระบบสาธารณสุข ว่า ตนมีข้อเสนอแนะเชิงโครงสร้าง 3 ประเด็น และมีความห่วงใยอยู่ 1 ประเด็น โดยในอดีตที่รัฐมนตรีว่าการสธ. ของพรรคเพื่อไทยได้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการวิเคราะห์สถานการณ์ระบบสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และภาคี พบว่ามีปัญหาเชิงโครงสร้างหลายประเด็น ซึ่งทำให้มีประเด็นสำคัญถูกยกขึ้นมาเพื่อดำเนินการ 2 ประเด็นหลักๆ
ประเด็นที่ 1 คือ ความไม่เป็นเอกภาพของกลไกที่ดำเนินการด้านสาธารณสุข ตัวอย่างเช่น กลไกการเงินการคลัง บริหารโดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) กลไกการพัฒนาบุคลากร บริหารโดยสภาวิชาชีพ และทางมหาวิทยาลัย การพิจารณาค่าตอบแทนให้สอดคล้องกับสภาพงาน อยู่ที่กรมบัญชีกลาง ดังนั้น รัฐบาลพรรคเพื่อไทยสมัยนั้นโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดควรให้มีกลไก คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเกิดขึ้น national health board เพื่อให้นโยบายที่แยกส่วน มีเอกภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
(ข่าวเกี่ยวข้อง : “หมอชลน่าน” ฟื้นบอร์ดสุขภาพแห่งชาติ คุมนโยบายทั้งประเทศ ลั่นจากนี้ สธ.เป็นยุคสมานฉันท์)
ประเด็นที่ 2 ควรมีการกระจายอำนาจระบบสาธารณสุขให้กับเขตพื้นที่ โดยมีการแบ่งเขตพื้นที่ของประเทศเป็น 12 เขตในเขตภูมิภาค และกทม. 1 เขต ซึ่งพิสูจน์แล้วว่า เขตสุขภาพเป็นคำตอบในการบริหารจัดการในเชิงพื้นที่ได้ แต่ขณะนี้บริหารโดยกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น หากจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารเขตสุขภาพก็จะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
“จาก 2 ประเด็นนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมทั้งสภาปฏิรูปการขับเคลื่อนประเทศในเวลาต่อมาเห็นตรงกัน และยกร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการสุขภาพและเขตสุขภาพขึ้น แต่ขณะนี้ยังไม่คืบหน้า อยู่ระหว่างการพิจารณาเชิงกระบวนการ จึงขอเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่า ในเชิงโครงสร้างจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นจุดคาดงัด ทำให้ประสิทธิภาพของระบบสาะรณสุขเพิ่มมากขึ้น”
สำหรับประเด็นการเงินการคลังที่บริหารโดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ เป็นการรวมอำนาจไว้ที่คณะกรรมการในการออกแบบการเงินการคลังหนึ่งเดียว แต่ใช้ทั่วประเทศ ซึ่งน่าจะไม่เหมาะกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน มีข้อเสนอหลายแหล่งว่าควรกระจายและตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพฯระดับเขต โดย 2 ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญในการเปลี่ยนโครงสร้างของระบบสาธารณสุข
ประเด็นที่ 3 คือ ประสิทธิภาพของการบริหารโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เพราะรพ.ของสธ.ครอบคลุมประชากรถึง 70% หากสามารถบริหารเพิ่มประสิทธิภาพให้คล่องตัวก็จะทำให้ภาพรวมระบบสุขภาพดีขึ้น โดยทางออกเรื่องนี้ที่จะเป็นองค์การรพ.มหาชน ไม่น่าใช่คำตอบ เพราะขณะนี้มีการพัฒนานวัตกรรมการบริหารหลายรูปแบบ จึงขอฝากรัฐมนตรีดูเรื่องนี้
“นอกจากนี้ ข้อห่วงใยที่กำลังเกิดขึ้น คือ มีการถ่ายโอน รพ.สต.ไปอยู่อบจ.ประมาณ 1 ใน 3 โดยวุฒิสภาลงพื้นที่ตลอด 1 ปีเต็ม พบว่ามีปัญหาการถ่ายโอน ความไม่พร้อม ส่งผลกระทบต่อประชาชน ระบบบริการกำลังบิดเบี้ยว จึงต้องขอฝากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่เคยเป็นรมว.สาธารณสุข ทบทวนในประเด็นเรื่องการถ่ายโอนรพ.สต.ว่าจะทำอย่างไรต่อไป” นพ.ณรงค์ กล่าว
- 1165 views