โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ขานรับนโยบาย One Province One Hospital ประสานความร่วมมือสถานบริการเอกชนและมหาวิทยาลัย ยกระดับการจัดบริการสุขภาพในพื้นที่ พร้อมจัดระบบ “ล้านนา 3” เพิ่มทางเลือกในการเข้ารับบริการของประชาชนพื้นที่รอยต่อจังหวัดพะเยาช่วยให้เข้าถึงบริการที่สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น
วันที่ 10 กันยายน 2566 นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 เปิดเผยความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบาย One Province One Hospital ว่า โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 758เตียง ไม่เพียงแต่ใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ร่วมกับโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดเท่านั้น แต่ยังขยายความร่วมมือไปถึงสถานพยาบาลภาคเอกชนในการจัดบริการโรคหลอดเลือดสมอง และสถานพยาบาลของมหาวิทยาลัยในการให้บริการผู้ป่วยร่วมกัน รวมทั้งมีการจัดระบบบริการล้านนา 3 ให้บริการรักษาพยาบาล ส่งต่อผู้ป่วยในพื้นที่รอยต่อจังหวัดเชียงรายและพะเยา ทำให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการที่สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น
ด้านแพทย์หญิงอัจฉรา ละอองนวลพานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลโอเว่อร์บรู๊ค ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดเชียงราย ได้สนับสนุนสถานที่และเครื่องมือแพทย์ให้ทีมแพทย์ของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ทำการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองด้วยวิธีลากลิ่มเลือดผ่านสายสวน (Thrombectomy) โดยตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 -พฤษภาคม 2566 มีผู้ป่วยได้รับการรักษาแล้ว 74 ราย ส่วนความร่วมมือกับโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์แม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นการสนับสนุนเครื่องมือแพทย์และสถานที่ และโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์จัดทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรไปร่วมบริการ ซึ่งช่วยให้ประชาชนในจังหวัดเชียงรายได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานมากขึ้น
สำหรับระบบบริการล้านนา 3 เป็นความร่วมมือของโรงพยาบาลพาน-โรงพยาบาลพะเยา-โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เนื่องจาก อำเภอพาน มีพื้นที่ติดกับอำเภอเมืองเชียงราย และจังหวัดพะเยา ใช้ระยะเวลาเดินทาง 45 กิโลเมตรเท่ากัน เพื่อให้ประชาชนสามารถเลือกเข้ารับบริการได้ตามความต้องการ จึงได้หารือกับโรงพยาบาลพะเยา ในการรับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลพาน และดูแลประชาชนในพื้นที่ร่วมกัน นอกจากนี้ ยังร่วมกันดูแลรักษาโรคตาให้กับประชาชนตามความเชี่ยวชาญของจักษุแพทย์ โดยโรงพยาบาลพะเยาให้การรักษาผู้ป่วยโรคต้อหิน
ส่วนโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จะให้การรักษาผู้ป่วยโรคต้อกระจก นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในการส่งต่อผู้ป่วยข้ามจังหวัดระหว่างโรงพยาบาลเทิง จังหวัดเชียงราย กับโรงพยาบาลเชียงคำ จังหวัดพะเยา เนื่องจากอยู่ห่างกันเพียง 20 กิโลเมตร แต่หากส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จะอยู่ไกลถึง 70 กิโลเมตร ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวกและช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดินทาง อีกทั้งช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ได้อีกด้วย
- 468 views