สัมภาษณ์ : นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เตรียมงานรองรับนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค เบื้องต้นอยู่ระหว่างศึกษาระบบการจ่ายเงินให้ รพ. ใช้ Per Visit เหมาจ่ายรายครั้งเมื่อผู้ป่วยรักษาโอพีดี รองรับ ‘บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่’ จัดระบบไอทีรองรับข้อมูลประชาชนบนพื้นฐานไซเบอร์เซฟตี้ คาด 100 วันเริ่มเห็นผล ส่วนภาระงานบุคลากรหารือร่วม สธ. หากงานเพิ่มต้องมีค่าตอบแทน
นโยบาย “ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค” เป็นอีกนโยบายรัฐบาลที่จะมีการแถลงในวันที่ 11 กันยายนนี้ และหลายคนกำลังรอรายละเอียดว่า การยกระดับบัตรทอง ที่สร้างปรากฎการณ์ผลงานชิ้นโบว์แดงแห่งยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย (ปัจจุบันคือ พรรคเพื่อไทย) ที่รับข้อเสนอจาก นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้บุกเบิก 30 บาทรักษาทุกโรค จนเป็นวลีว่า “หมอสงวนคิด ทักษิณทำ” สร้างการยอมรับของประชาชนมาจนทุกวันนี้
ดังนั้น เมื่อมาถึงการยกระดับบัตรทอง หรือ “30 บาทรักษาทุกโรค” ก็ต้องมุ่งเป้าไปที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) หน่วยงานที่ดูแลเรื่องระบบหลักประกันฯ หรือสิทธิ์บัตรทอง... เกิดคำถามว่า มีความพร้อมรองรับนโยบายนี้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะงบประมาณดำเนินการ...
สปสช. หารือ “หมอชลน่าน” รับนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าวว่า ขณะนี้สปสช.เตรียมพร้อมหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบัตรประชาชนใบเดียวรับบริการที่ไหนก็ได้ ซึ่ง ต้องทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับการขับเคลื่อนระบบของสปสช. และยังมีเรื่องอื่นๆที่คิดว่า จะทำได้ทันที คือ เรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือสถานชีวาภิบาล รวมทั้งการไปรับยาที่ร้านยา ซึ่งหลายๆส่วน สปสช.ทำลักษณะนำร่องไว้แล้ว
“ล่าสุดได้หารือกับท่านชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่านอยากให้ขยายไปทั่วประเทศ กำลังประสานกับท่านปลัดสธ.ในการขับเคลื่อน โดยเฉพาะร้านยา ซึ่งทางสธ.จะพิจารณาว่าจุดไหนเหมาะกับการนำร่องและขยายทั่วประเทศต่อไปในอนาคต” เลขาฯสปสช.กล่าว
ยินดีรับข้อเสนอทุกฝ่ายเพิ่มประสิทธิภาพ ลดปัญหาแออัด รอคิว
เมื่อถามกรณีข้อเสนออาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เสนอให้จัดระบบร้านยา 24 ชั่วโมงในบางพื้นที่ เพื่อลดการเข้าถึงบริการที่ไม่ฉุกเฉินวิกฤตนอกเวลาราชการ ลดความแออัดผู้ป่วยไม่รุนแรง นพ.จเด็จ กล่าวว่า เป็นไปได้หมด เพราะนโยบายอยากให้คนไข้ส่วนหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องมายังหน่วยบริการ ไปใช้หน่วยบริการปฐมภูมิ หรือหน่วยอื่นๆที่ไม่ต้องเดินทางมายัง รพ.ขนาดใหญ่ ดังนั้น ร้านยา 24 ชั่วโมงเป็นไปได้หมด แต่ก็ต้องดูความพร้อมทั้งตัวร้านยา เภสัชกร มีความพร้อมแค่ไหน ซึ่งทาง สปสช.พร้อมรับความคิดเห็นทุกหน่วยงานเสนอเข้ามาได้ เพื่อปรับประสิทธิภาพให้ดียิ่งขึ้น
รมว.สาธารณสุข เล็งขยายสิทธิประโยชน์ “วัคซีนเอชพีวี” จากป.5 เล็งเพิ่มกลุ่มเป้าหมาย
นพ.จเด็จ กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างเรื่องการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกนั้น จริงๆท่านรัฐมนตรีชลน่าน มองว่าอยากทำมะเร็งครบวงจร จากฉีดในเด็กหญิงระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 5 ก็อาจขยายกลุ่มเป้าหมายเพิ่ม เป็นต้น รวมไปถึงตรวจสุขภาพจิตที่รพ.ใกล้บ้าน หรือผ่านเทเลเมดิซีน ท่านอยากให้เป็นจิตเวชครบวงจรแบบยกระดับใหม่ทั้งระบบ คำว่า จิตเวช ไม่ใช่แค่รพ. แต่ต้องมีสายด่วน ปัจจุบันมีสายด่วนกรมสุขภาพจิต แต่อนาคตอาจมีสายด่วนวัยรุ่น ทรานส์เจนเดอร์ มีระบบตรวจคัดกรอง วัดความรุนแรงกลุ่มเสี่ยงต่างๆ เป็นต้น ซึ่งรวมๆท่านมีโปรเจกต์ที่ไปไกลเพื่อครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม นอกจากนี้ ต้องมีระบบในการให้ความรู้ว่า กลุ่มคนสุขภาพจิตเป็นกลุ่มที่เราต้องดูแล ต้องปรับทัศนคติใหม่ เน้นการเข้าไปช่วยเหลือพวกเขา
ยกระดับบัตรทองครอบคลุมทุกมิติ ทั้งส่งเสริมป้องกันฯ รักษา ฟื้นฟู
ผู้สื่อข่าวถามถึงนโยบายยกระดับบัตรทองภาพรวม จะมุ่งเน้นเรื่องใด หรือกลุ่มไหนเป็นพิเศษ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ประเด็นจะมีตั้งแต่สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟู และการดูแลระยะยาว โดยเริ่มจากการสร้างเสริมสุขภาพฯ นั้น มีทั้งการตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี เรื่องการฉีดวัคซีน ซึ่งเมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมาได้นำเรียนว่า ปัญหาค่าใช้จ่ายทุกสิทธิ์เกี่ยวกับการใช้งบฯสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคสามารถดำเนินการได้แล้ว สามารถยกระดับนโยบายที่เกี่ยวข้องได้
ส่วนการรักษาพยาบาล อย่าง การสร้าง 50 รพ.ในกทม. เรื่องการรับยาที่ร้านยา การนัดหมอ การใช้บัตรประชาชนใบเดียว จะเป็นระบบการรักษา ส่วนการฟื้นฟูสุขภาพก็จะมีการดูแลประเด็นสุขภาพจิต การดูแลระยะท้าย ที่เรียกว่า ชีวาภิบาล จะมองตั้งแต่ระบบการดูแลระยะยาว(Long–term care) ติดบ้านติดเตียง อาจใช้หน่วยอื่นเข้ามาทำ แต่จะยกระดับทั้งหมด
งบฯยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค คาดต่ำกว่า 2 หมื่นล้าน
ผู้สื่อข่าวถามว่างบประมาณต้องปรับเพิ่มหรือไม่อย่างไร นพ.จเด็จ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เราจัดทำข้อมูลโดยพิจารณาจากนโยบายของพรรคต่างๆรวม 37 นโยบาย คิดเป็นงบประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งเสนอคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) ไปแล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่มีรัฐบาล ปัจจุบันเป็นพรรคเพื่อไทย เนื่องจากได้รัฐบาลแล้ว จากการพิจารณานโยบายก็น่าจะใช้งบประมาณไม่ถึง 2 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม หลังแถลงนโยบายหากมีการปรับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับหลักประกันสุขภาพฯใหม่ ต้องปรับงบประมาณก็จะต้องเสนอบอร์ดสปสช.ใหม่อีกครั้ง
สธ.ร่วมสปสช.จัดแนวทางรองรับภาระงานบุคลากร ทั้งค่าตอบแทน เงินฉีดวัคซีน
เมื่อถามข้อห่วงใยที่มีอาจารยแพทย์ บุคลากรต่างๆมองว่า สิทธิประโยชน์เพิ่ม คนเข้าถึงบริการมากขึ้นย่อมเป็นเรื่องดี แต่จำนวนบุคลากรน้อย ภาระงานโหลดจะส่งผลต่อการบริการ...
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ได้หารือกับท่านปลัดสธ.แล้วว่า หากมีสิทธิประโยชน์อะไรใหม่ๆ ทางสธ.จะรับไปดูว่า ภาระงานจะเพิ่มขึ้นอย่างไร และกระทบกับบุคลากรหรือไม่ หากกระทบจะมีค่าตอบแทนเพิ่มเติมที่สมน้ำสมเนื้ออย่างไร หรือบางกรณีการขับเคลื่อนนโยบายบางอย่างอาจใช้บุคลากรอื่นเข้ามาช่วยได้หรือไม่ เช่น รับยาที่ร้านยา จะลดความแออัดของรพ.ได้ การใช้เทเลเมดิซีน หรือระบบแพทย์ทางไกล การใช้ระบบสายด่วนเพื่อรองรับผู้ป่วยสุขภาพจิต ก็จะลดภาระบุคลากรได้ เรียกว่า เทคโนโลยี เข้ามาช่วยลดภาระบุคลากร
ยกระดับบัตรทอง ใช้เทคโนโลยีไอทีช่วย ลดภาระงาน
“ไม่ใช่ทุกเรื่องจะเพิ่มภาระบุคลากร และเจ้าหน้าที่ แต่ต้องมาดู การที่มีการนัดหมายคุณหมอก่อน จะทำให้การเข้าพบไม่แน่น ทั้งหมดจะมีการเพิ่มประสิทธิภาพในระบบอยู่ แต่ก็มีบางเรื่องที่เพิ่มภาระงาน เช่น จากเดิมวัคซีนฉีดปีละ 4 แสนคน แต่ปีนี้อาจต้องฉีดเพิ่มเป็นล้านคน ตรงนี้ก็ต้องปรึกษากับสธ.ว่า บุคลากรจะไหวหรือไม่ ซึ่งค่าตอบแทนตรงนี้จะเป็นส่วนกระทรวงสาธารณสุข แต่ทาง สปสช.จะจ่ายเป็นค่าบริการ เช่น ฉีดวัคซีน 1 เข็มเราให้ 20 บาท หาก 10 ล้านเข็มก็ต้องเตรียมเงิน 200 ล้านบาท ส่วนกำลังคนมาให้บริการ ทางสธ.ก็จะเป็นคนจัดหา” เลขาฯกล่าว
ศึกษาเบิกจ่ายแบบ Per Visit เหมารักษารายครั้งรับ ‘บัตรปชช.ใบเดียวรักษาทุกที่’
เกิดคำถามว่าจะนำเทคโนโลยีอย่างไรมาใช้ให้เป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ถูกต้อง อย่างบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ เรียกว่า เป็นดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) ซึ่งการจะทำลักษณะนี้ต้องบูรณาการข้อมูลให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็ยังต้องมีใบส่งตัวถึงจะไปรักษาอีกแห่ง บางเขตสามารถทำได้ แต่เมื่อเป็นนโยบายสำคัญจะต้องทำให้ได้ทั้งประเทศ เชื่อว่ากระทรวงสาธารณสุขจะเป็นแม่งานใหญ่ในการเป็นเจ้าภาพบูรณาการเข้ามา ส่วนสปสช.ก็ต้องมีเจ้าภาพในการเบิกจ่ายข้อมูลทุกสังกัด เราต้องเชื่อมข้อมูลจากสังกัดอื่นๆ ทั้งเอกชน โรงเรียนแพทย์ เป็นต้น โดยการเบิกจ่ายนั้น เบื้องต้นคิดว่าจะเบิกจ่ายที่เรียกว่า Per Visit โดยจะจ่ายตามคนไข้ที่ไปรักษายังรพ.นั้นๆ ในแต่ละครั้ง
นพ.จเด็จ กล่าวเพิ่มเติมว่า เราเคยทำมาก่อนในลักษณะPer Item อย่างยาแต่ละเม็ดเราก็จะคิดและจ่ายตามให้รพ.ที่รักษา แต่กรณี Per Visit จะจ่ายเหมาแต่ละครั้ง ซึ่งก็ต้องพิจารณากลุ่มโรคว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนเงินเหมาจ่ายรายหัวยังให้ตามปกติ โดยเราจะกันงบก้อนหนึ่งสำหรับ Per Visit เราจะตามจ่ายให้ ข้อมูลที่ผ่านมาไม่ถึง 20%ที่มีการเดินทางข้ามจังหวัด โดยงบนี้เป็นผู้ป่วยนอกหรือโอพีดี แต่ผู้ป่วยในเราจะมีเงินอีกก้อนแยกกัน
อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ไม่ต้องกังวล สปสช.จ่ายแน่นอน เพียงแต่รายละเอียดว่าจะจ่ายแต่ละครั้งในกลุ่มโรคอย่างไร ต้องพิจารณาก่อน ส่วนการใช้สิทธิ์ก็จะใช้วิธีง่ายๆ ด้วยการใช้บัตรประชาชนใบเดียว เพื่อพิสูจน์ตัวตนว่า อยู่จังหวัดนี้ แต่มารับบริการอีกจังหวัดหนึ่ง เช่น อยู่เชียงใหม่ มาใช้บริการนครปฐม ระบบของเราจะรู้ทันที จากนั้นจะมีรหัสข้อมูลไปยังรพ. มีคิวอาร์โค้ดเชื่อมโยงกันหมด ซึ่งข้อมูลใหญ่ที่เราจะต้องมีเพื่อให้รู้ข้อมูลคนไข้ คือ เชื่อมข้อมูลผ่านคลาวด์ (Cloud) จะโชว์ข้อมูลทั้งหมดว่า ผู้ป่วยเคยรักษาอะไร ใช้ยาอะไร ซึ่งรพ.ต้นทางจะโชว์ข้อมูลทั้งหมด
สปสช.พร้อมรับนโยบายเดินหน้าเห็นผลเบื้องต้น 100 วัน
เมื่อถามว่าสปสช.พร้อมยกระดับตรงนี้ได้เมื่อไหร่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า จากการหารือท่านรัฐมนตรีฯ ก็อยากให้ทำเร็วที่สุด อย่าง 100 วัน 3 เดือนต้องเกิดอะไรขึ้น ซึ่ง สปสช. เราทำส่วนการเงิน เราพร้อมอยู่แล้ว เพราะระบบเรามี เพียงแต่เราต้องดึงระบบจากรพ.มาเพื่อทำเรื่องเบิกจ่าย หากรพ.พร้อม เราก็พร้อม ทั้งนี้ มองว่า เริ่มแรกอาจไม่ได้ทำทั่วประเทศทันที เพราะรพ.มีหลายสังกัด แต่อาจนำร่อง และเริ่มจากรพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
เมื่อถามว่าปัจจุบันรพ.ในสังกัดที่แตกต่างกัน ทั้งสธ. โรงเรียนแพทย์ กลาโหม ใช้โปรแกรมไม่เหมือนกันจะมีปัญหาหรือไม่ เลขาฯ สปสช. กล่าวว่า หากใช้สแตนดาร์ทเดียวกัน 100 โปรแกรมมีมาตรฐานเดียวกันหมดก็ทำได้ อย่างเพศชาย เพศหญิง ทุกโปรแกรมต้องเขียนเลขรหัสเดียวกันหมด จริงๆในส่วนนี้จะช่วยลดภาระบุคลากร เพราะเทคโนโลยีจะอำนวยความสะดวกมากขึ้น ดังนั้น หากรพ.อนุญาตให้เชื่อมข้อมูล บุคลากรแทบไม่ต้องคีย์ข้อมูลอะไรเพิ่มเติม เราสามารถดึงข้อมูลเข้าระบบได้ แต่อยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สปสช.ก็ทำร่วมกับโรงเรียนแพทย์แล้วเช่นกัน อย่างรามาฯ ศิริราช เป็นต้น
“สำหรับเงิน Per Visit ต้องดูว่า หนึ่งครั้งจะเหมาเท่าไหร่ ต้องพิจารณารายละเอียดก่อน ส่วนที่กังวลว่า การทำลักษณะนี้คนจะแห่ไปรักษารพ.ใหญ่นั้น ข้อมูลตั้งแต่นโยบายให้บริการที่ไหนก็ได้ในหน่วยบริการปฐมภูมิเราพบว่า คนออกนอกจังหวัดไม่เกิน 20% ส่วนโครงการมะเร็งรักษาทุกที่ มีการข้ามจังหวัด ข้ามเขตเพียง 4% แสดงว่า 80% อยู่ในจังหวัด อาจข้ามอำเภอบ้าง เพราะค่าใช้จ่ายการเดินทางสูงเกินไปที่ประชาชนจะวิ่งไปอย่างอิสระ มองว่าประชาชนจะยอมเดินทางไกลๆไปรักษา หากเราทำรพ.ในจังหวัดให้ดีมีคุณภาพ มีเครื่องมือแพทย์พร้อม มีเทคโนโลยี เขาไม่อยากเดินทางไกลแน่นอน” นพ.จเด็จ กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวเกี่ยวข้อง : สปสช.รอ “หมอชลน่าน” ประกาศนโยบายสาธารณสุข เตรียมเสนอยกระดับบัตรทองด้วย ‘เทเลเมดิซีน’ ทั่วประเทศ
- 7626 views