กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยศูนย์วิทย์สงขลา รับของกลางตรวจวิเคราะห์ลักษณะเม็ดกลมแบนสีส้ม คล้ายยาเสียสาว ตรวจพบเป็นสารตัวใหม่ ชื่อ ฟลูอัลปราโซแลม เตือนอาจไม่ใช่แค่ภาคใต้ พร้อมประสานข้อมูลหน่วยงานเกี่ยวข้องติดตามดูแล ย้ำประชาชนระวังตัว หากใช้ผิดกฎหมายวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 1
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่อาคาร 100 ปีการสาธารณสุขไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นพ.พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ภก.สมศักดิ์ สุนทรพาณิชย์ ผู้อำนวยการสำนักยาและวัตถุเสพติด และภญ.วราพร ชลอำไพ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา แถลงข่าวประเด็น “ตรวจพบวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทชนิดใหม่ (ฟลูอัลปราโซแลม)”
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา ได้รับของกลางเพื่อตรวจวิเคราะห์ ลักษณะเป็นยาเม็ดกลมแบนสี ส้ม ด้านหนึ่งพิมพ์เลข “5” อีกด้านหนึ่งพิมพ์สัญลักษณ์ บนแผงพิมพ์ “Erimin 5” ตรวจพบสาร “ฟลูอัลปราโซแลม” (Flualprazolam) ซึ่งเป็นยานอนหลับกลุ่มเบนโซไดอะเซปีนส์ชนิดใหม่ ที่ยังไม่เคยตรวจพบมาก่อนในประเทศไทย คาดว่าน่าจะผลิตจากต่างประเทศและลักลอบเข้ามา โดยจัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 1
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เดิมทียาเม็ดอีริมิน 5 มีส่วนประกอบของวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทชื่อ “ไนเมตาซีแพม” (Nimetazepam) มีขนาดยา 5 มิลลิกรัม จัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ฯ ในประเภท 2 ปัจจุบันไม่มีการจำหน่ายในประเทศไทยแล้ว เพราะมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดและพบระบาดมากใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะจ. นราธิวาส ระยะหลังพบการระบาดของยาอีริมินปลอมเพิ่มมากขึ้น โดยการใส่หรือผสมยาหรือวัตถุออกฤทธิ์ฯ ตัวอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย
ภาพจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
Erimin 5 สารอันตราย
จากรายงานการตรวจพิสูจน์ของกลาง Erimin 5 ตั้งแต่ปี 2556 ตรวจพบ Nimetazepam, Nitrazepam, Phenazepam, Diazepam, Clozapine และ Etizolam ดังนั้นการตรวจพบตัวยา Flualprazolam จึงเป็นการตรวจพบครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งในประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย มีการตรวจพบ ตั้งแต่ปี 2564 ห้องปฏิบัติการยา ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา ตรวจพิสูจน์ยืนยันตัวยา Flualprazolam ใน ของกลางยาเม็ด Erimin 5 ด้วยเทคนิค Liquid chromatography mass spectrometry (LCMS), Gas chromatography mass spectrometry (GCMS), Thin Layer Chromatography (TLC) และ UV-Vis spectrophotometry โดยเปรียบเทียบตัวอย่างกับสารมาตรฐาน Flualprazolam Flualprazolam เป็นยากลุ่ม benzodiazepines ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น (Synthetic benzodiazepines) มี โครงสร้างทางเคมีคล้ายกับ อัลปราโซแลม (alprazolam) แตกต่างกันที่ Flualprazolam มีอะตอมของฟลูออรีน อยู่ในโครงสร้าง
ฟลูอัลปาโซแลม เจอครั้งแรกในไทย ระวังใช้ทางอาชญากรรม
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ฟลูอัลปาโซแลม (Flualprazolam) จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 มีการออกฤทธิ์คล้ายกับยานอนหลับตัวอื่นใน กลุ่ม benzodiazepines โดยออกฤทธิ์คลายความวิตกกังวล และ ทำให้ง่วงนอน เนื่องจาก Flualprazolam ไม่มี การใช้เป็นยาในมนุษย์ จึงไม่พบการศึกษาวิจัยทางคลินิกของตัวยา แต่จากโครงสร้างทางเคมี คาดว่า Flualprazolam ออกฤทธิ์ภายใน 10 - 30 นาที หลังการรับประทาน และออกฤทธิ์นาน 6 ถึง 14 ชั่วโมง เนื่องจาก ไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่ชัดเจน ดังนั้น การใช้หรือเสพตัวยา Flualprazolam จึงเป็นความเสี่ยงต่อผู้เสพที่อาจทำให้ เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และควบคุมการแพร่ระบาดของยา ดังกล่าว
“ยา Flualprazolam ตัวนี้ไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อน ต้องระมัดระวังกันมาก โดยให้ระวังตัว อย่าดื่มเครื่องดื่มจากคนไม่รู้จัก หรือคนที่ไม่น่าไว้วางใจ เพราะไม่ใช่แค่หลับ แต่จะอันตรายต่อชีวิต ซึ่งสารตัวนี้จึงเป็นสารตัวแรกที่เราเจอในประเทศไทย จากนี้เราจะนำข้อมูลประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องต่อไป” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าสามารถสังเกตยาตัวนี้ผสมในเครื่องดื่มได้หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ยากมาก เพราะไม่มีสี ไม่มีกลิ่น พวกมิจฉาชีพก็จะนำมาใช้ ทั้งนี้ กรมวิทย์ตรวจเจอพื้นที่ภาคใต้ก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าภาคอื่นในไทยจะไม่มี ต้องระวังทั้งหมด
เมื่อถามว่าเพราะอะไรจึงตรวจเจอ หรือมีการใช้มากขึ้นในพื้นที่หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า หน่วยงานเกี่ยวข้องเฝ้าระวังพบก็ส่งมาตรวจ ส่วนรายละเอียดเจ้าหน้าที่ส่งตรวจเจอที่ไหนอย่างไร เราไม่มีข้อมูล เราตรวจเจอจากสิ่งที่ส่งมาให้เรา
“การที่เราออกมาแถลงเพราะยังไม่เคยเจอสารตัวนี้มาก่อน จึงออกมาเผยแพร่ข้อมูลให้ระวัง ฟลูอัลปาโซแลม” อธิบดีกรมวิทย์กล่าว
พบข้อมูลวัยรุ่นชายในอเมริกาใช้ในทางที่ผิด
ด้านนพ.พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สำหรับ อิริมิน 5 มีการใช้มานาน แต่ยกเลิกทะเบียนไป ซึ่งเดิมเป็นยา “ไนเมตาซีแพม” (Nimetazepam) แต่เมื่อยกเลิกขึ้นทะเบียน การใช้ก็ผิดกฎหมาย แต่ด้วยชื่อ Erimin 5 คงมีการใช้กันมาก จึงมีการใช้สารตัวอื่นๆ และล่าสุดปีนี้ จึงใช้ ฟลูอัลปาโซแลม และจากศึกษาข้อมูลจากหน่วยงานอเมริกาที่ทำเรื่องยากับอาชญากรรมพบว่า ยาฟลูอัลปาโซแลม เจอ 1 ใน 3 ที่มีการใช้ในทางที่ผิดและมีผลต่อการออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท โดยมาเลเซีย สิงคโปร์เจอแล้ว แต่รอบนี้เพิ่งเจอในไทย ทางกรมวิทย์จึงต้องออกมาเตือน เพราะออกฤทธิ์เร็วและยาว และยังเสี่ยงเกิดอาการโคม่า ซึ่งไม่มีข้อมูลทางคลินิกเพราะไม่ใช้เป็นยา
“ข้อมูลในอเมริกา มีการแอบซื้อขายในออนไลน์ โดยเฉพาะผู้ชาย เอามาใช้ในทางสันทนาการ และส่วนหนึ่งวัยรุ่นชายก็เอาไปใช้ทางที่ผิด มอมเมา ก่ออาชญากรรม ซึ่งอันตรายมาก จึงต้องมาเตือน” รองอธิบดีกรมวิทย์กล่าว
- 16294 views