คลินิกพยาบาลและการผดุงครรภ์ เป็นหน่วยบริการอีกประเภทหนึ่งที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพิ่มเติมเข้ามาในเครือข่ายบริการสุขภาพในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มจำนวนหน่วยบริการในระบบบัตรทองให้ครอบคลุม ให้ผู้ป่วยมีความสะดวกในการรับบริการ อีกทั้งช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลอีกทางหนึ่ง
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีคลินิกพยาบาลฯ รวมกันทั่วประเทศประมาณ 5,000 แห่ง และเมื่อ สปสช. เปิดรับสมัครให้เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในเครือข่ายบัตรทอง ก็มีคลินิกพยาบาลฯ เข้าร่วมแล้ว 331 แห่ง ในจำนวนนี้ เป็นคลินิกพยาบาลฯ ของมหาวิทยาลัย 2 แห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ของวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นั่นเอง
อาจารย์ลัดดาวัลย์ ไวยสุระสิงห์ หัวหน้าภาควิชาการพยาบาลรากฐาน และรองคณบดีวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวถึงที่มาในการจัดตั้งคลินิกพยาบาลฯ ว่า ปรัชญาของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คือ “เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต” จึงเป็นหน้าที่หนึ่งของวิทยาลัย ฯ ในการใช้ความรู้ ทางการพยาบาล ในการดูแลสุขภาพของประชาชนให้มีสุขภาวะที่ดี ตามพระปณิธานของพระองค์ท่าน ประกอบกับทาง สปสช. มีนโยบายเชิญชวนให้คลินิกพยาบาลทั่วประเทศสมัครเข้ามาเป็นคลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น เพื่อให้เกิดการบริการที่สะดวกประชาชน เพิ่มการเข้าถึงบริการ ลดความแออัด จึงได้จัดตั้งคลินิกพยาบาลฯ ขึ้นในเขตหลักสี่ ซึ่งเป็นเขตที่วิทยาลัยตั้งอยู่ และขึ้นทะเบียนเป็นคลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น เปิดให้บริการประชาชนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งเป็นคลินิกพยาบาลชุมชนแห่งแรกที่จัดตั้งโดยสถาบันการศึกษาพยาบาล
ผลการดำเนินงานตลอด 3 ปีพบว่านอกจากประชาชนจะได้รับการบริการพยาบาลที่มีคุณภาพมาตรฐานแล้ว ยังเกิดชมรมรักษ์สุขภาพที่เกิดจากการรวมตัวของผู้สูงอายุในชุมชนเพื่อทำกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพทุกเดือน จึงเป็นพื้นที่ให้อาจารย์พยาบาลสามารถนำความรู้ ความเชี่ยวชาญ มาให้บริการประชาชน เป็นแหล่งฝึกภาคปฏิบัติของนักศึกษาในพื้นที่จริงที่มีการบูรณาการพันธกิจทั้ง 4 ด้านของสถาบันการศึกษา คือ การเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
อาจารย์ลัดดาวัลย์ กล่าวว่า ในการให้บริการประชาชนนั้น ทางคลินิกพยาบาลฯ จะทำงานร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 53 ของ กทม. โดยได้หารือกันว่ามีช่องว่างตรงไหนที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 53 ยังดูแลไม่ทั่วถึงและทางคลินิกพยาบาลฯ สามารถเข้าไปช่วยปิดช่องว่างหรือทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ช่วงเวลาให้บริการ หน่วยบริการประจำส่วนมากจะเปิดทำการวันจันทร์-ศุกร์ ตามเวลาราชการ แต่สำหรับคนไข้แล้วไม่ได้เจ็บป่วยตามเวลาราชการ หรือไม่สะดวกในการมารับบริการตามเวลาราชการได้ ทางคลินิกพยาบาลฯ ก็สามารถรับช่วงให้บริการฉีดยา ทำแผล ฯลฯ ได้จนถึง 18.00 น. อีกทั้งเพิ่มวันบริการในวันเสาร์และอาทิตย์ได้ด้วย เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการบริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้านซึ่งคลินิกพยาบาลฯของวิทยาลัย จะบูรณาการไปกับการเรียนการสอนในรายวิชา เป็นต้น
“บริการของเราจะเป็นไปตามขอบเขตการบริการของสปสช ได้แก่ 1.การสร้างเสริมสุขภาพ และ 2.การบริการผู้ป่วยนอก โดยบริการสร้างเสริมสุขภาพจะให้บริการแก่คนไทยทุกคนและทุกสิทธิการรักษาพยาบาล แต่ในการบริการผู้ป่วยนอก เช่น ฉีดยา ทำแผล การรักษาโรคเบื้องต้น เราจะให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแก่ผู้มีสิทธิบัตรทอง ไม่ว่าสิทธิบัตรทองของคุณจะอยู่ที่ไหน ก็สามารถมาใช้บริการได้ ส่วนสิทธิประกันสังคมและข้าราชการยังต้องเสียเงินอยู่ แต่คนกลุ่มนี้เขาก็ยินดีมารับบริการที่เรานะ เขาบอกว่ามันสะดวกกว่าไปโรงพยาบาล ประหยัดค่าเดินทางและไม่ต้องเสียเวลารอคิวนาน” อาจารย์ลัดดาวัลย์ กล่าว
อาจารย์ลัดดาวัลย์ กล่าวต่อไปว่า การจัดบริการโดยคลินิกพยาบาลฯ เป็นการช่วยเพิ่มความสะดวกแก่ประชาชนในส่วนที่เกี่ยวกับการเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ เช่น ฉีดยา ทำแผล ตัดไหม หัตถการเหล่านี้ไม่ต้องไปโรงพยาบาล สามารถมารับบริการที่คลินิกพยาบาลฯ ได้ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลความพึงพอใจของผู้รับบริการ พบว่าประชาชนมีความพึงพอใจมาก อัตราการเข้ามารับบริการก็เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับอัตราการกลับมารับบริการซ้ำก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย และในภาพรวมระดับประเทศแล้ว คลินิกพยาบาลฯ ส่วนมากจะตั้งอยู่ในตำบล หมู่บ้าน ให้บริการคนในชุมชนแบบญาติพี่น้อง บางครั้งก็เก็บค่าบริการในราคาต่ำๆ หรือไม่เก็บค่าบริการเลย เป็นการทำด้วยใจไม่ได้มุ่งเน้นที่ตัวเงินเป็นหลักเพราะพยาบาลส่วนมากที่ไปเปิดคลินิกก็มักจะมีงานประจำและมีรายได้ที่มั่นคงอยู่แล้ว แต่เมื่อ สปสช. เห็นความสำคัญและดึงคลินิกพยาบาลฯเข้าร่วมในเครือข่าย ก็ทำให้สามารถเบิกจ่ายค่าบริการจาก สปสช. ได้ มีรายได้พอเป็นต้นทุน และทำให้บริการของ สปสช. เข้าถึงประชาชนได้ลึกถึงในระดับตำบลมากขึ้น
ด้าน น.ส.วรรณา พิศวง พยาบาลวิชาชีพประจำคลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า บริการที่จัดในคลินิกพยาบาลฯ จะมี 2 กลุ่มคือกลุ่มที่เป็นบริการสร้างเสริมสุขภาพกับกลุ่มที่เป็นการพยาบาลเบื้องต้น
ในกลุ่มบริการสร้างเสริมสุขภาพจะให้บริการอยู่ 8 อย่าง ตามข้อกำหนดของ สปสช. คือ ฝากครรภ์ที่ไม่ใช่การฝากครรภ์ครั้งแรกและไม่ใช่ครรภ์เสี่ยง รับยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กเพื่อป้องกันโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก บริการตรวจหลังคลอด ไม่เกิน 12 วันหลังคลอด บริการคุมกำเนิดเฉพาะยาเม็ดคุมกำเนิดและถุงยางอนามัย ไม่รวมยาฉีดคุมกำเนิด บริการตรวจการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังมีบริการคัดกรองประเมินสุขภาพกายสุขภาพจิตในช่วงอายุ 15-35 ปี และช่วงอายุ 35-59 ปี การป้องกันการขาด ไอโอดีน ธาตุเหล็ก กรดโฟลิก การคัดกรองและประเมินปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพกาย/สุขภาพจิต
“จริงๆแล้ว โดยสมรรถนะวิชาชีพเราสามารถให้บริการคัดกรองประเมินสุขภาพผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปได้เช่นกัน เช่น การประเมินค่า ADL เป็นต้น เพียงแต่จะเป็นรายการที่ไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช.ได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีผู้สูงอายุมาบอกว่าอยากจะมาคัดกรอง เราก็ทำให้ได้ค่ะ”น.ส.วรรณา กล่าว
น.ส.วรรณา กล่าวต่อไปว่า ในกลุ่มของบริการรักษาพยาบาลเบื้องต้น จะประกอบด้วยบริการทำแผล บริการฉีดยาในกรณีที่มีใบสั่งจากแพทย์ และบริการสุขภาพผู้ป่วยที่บ้านใน 3 กลุ่มโรค คือ ผู้ป่วยที่เป็นโรคที่หายขาดได้ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีความพิการร่วมด้วย ทั้งนี้ คลินิกพยาบาลฯ ที่ให้การรักษาเบื้องต้นโดยพยาบาลเวชปฏิบัติ ยังสามารถจ่ายยาได้มากกว่าพยาบาลวิชาชีพทั่วไปอีกด้วย
“มีบริการหลายอย่างที่จริงๆวิชาชีพพยาบาลทำได้แต่ สปสช. เพิ่งจะเปิดให้เบิกค่าบริการได้ เช่น การรักษาโรคเบื้องต้น หรือในด้านการเยี่ยมบ้าน จริงๆพยาบาลสามารถเยี่ยมบ้านได้ถึง 6 กลุ่มโรค แต่บทบาทของคลินิกพยาบาลฯ ที่ สปสช. กำหนดไว้ จะเยี่ยมบ้านได้ 3 กลุ่มโรค ซึ่งในการเยี่ยมบ้านเราจะประสานกับศูนย์บริการสาธารณสุข 53 ที่เป็นหน่วยบริการประจำในพื้นที่”น.ส.วรรณา กล่าว
- 271 views