ปลัดสธ.ประชุม Service Plan เขตสุขภาพทั่วประเทศ ตั้งเป้าปี 2567 ใช้เงินบำรุง 2 หมื่นล้านเป็นงบลงทุนภาพรวม สั่งรพ.ทุกแห่งหารือร่วมจังหวัด เขตสุขภาพ ถกลงทุนพัฒนาศักยภาพบริการรองรับความต้องการประชาชน ทั้งปรับปรุงห้องผ่าตัด ปรับปรุงระบบไอที สร้างรพ.ทันตกรรม จัดบริการรูปแบบใหม่ให้เป็นรพ.ของประชาชน
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวเปิดการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan Sharing) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระหว่างวันที่ 24 – 25 สิงหาคม 2566 พร้อมปาฐกถาพิเศษ "ทศวรรษที่ 2 ยกระดับศักยภาพบริการสู่ความมั่นคงด้านสุขภาพ" ว่า โจทย์สำคัญขณะนี้ของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพเพื่อประชาชน คือ “หนึ่งจังหวัด หนึ่งโรงพยาบาล” (One Province One Hospital) แต่เรื่องนี้เป็นวิธีการมากกว่า เป้าหมายจริงๆ คือ ต้องการให้โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข เป็นโรงพยาบาลของประชาชน คำนี้ดูง่ายแต่ไม่ง่าย เพราะพวกเราจะติดว่า รพ.เป็นของฉัน เราต้องปรับความคิดว่า รพ.ไม่ใช่ของใคร แต่เป็นของประชาชน และจะทำอย่างไรให้เป็นของประชาชนจริงๆ ซึ่งเราต้องเข้าใจความต้องการของประชาชนที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย
Service Plan ทางออกหลังกลไกการเงินแบบใหม่เข้าสู่ระบบสุขภาพ ลดปัญหาแย่งชิงทรัพยกร
สำหรับการบริการ Service Plan คือแผนการบริการระบบสุขภาพด้านต่างๆ ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากการพัฒนาระบบบริการการสาธารณสุข หรือเครือข่ายบริการสุขภาพ (พบส.) ในยุคแรกๆ หัวใจสำคัญคือ พี่ช่วยน้อง โดยโรงพยาบาลศูนย์(รพศ.)โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) จะช่วยโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ในการดูแลประชาชนอย่างเป็นเครือข่ายเป็นระบบ แต่สักระยะหนึ่งมีเรื่องกลไกทางการเงินแบบใหม่เข้าสู่ประเทศไทย พี่จึงไม่ค่อยช่วยน้อง แต่กลับแย่งงบประมาณกันอีก จึงเกิดปัญหา การบริการต่างคนต่างทำ รับรีเฟอร์แต่ต้องเอาเงินมาจ่ายก่อน กลายเป็นการแย่งชิงทรัพยากร จึงเป็นที่มาของการแก้ปัญหาเซอร์วิสแพลนแบบใหม่ที่ตั้งขึ้นในสมัย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เป็นปลัดสธ. จึงมีความหวังให้เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทั้งพี่ช่วยน้อง และน้องช่วยพี่ โดยทั้งหมดต้องเกิดประโยชน์กับประชาชน
เป้าหมาย สธ.ต้องตอบโจทย์ความต้องการประชาชน
สิ่งสำคัญเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข คือ ต้องตอบโจทย์ประชาชน ว่าประชาชนต้องการอะไร หรือเพลนพ้อย (pain point) ประชาชนต้องการบริการได้ทุกที่ ทุกเวลาและมีประสิทธิภาพตอบโจทย์ความต้องการ และยังมีเพลนพ้อยของผู้บริการ ทั้งค่าตอบแทน สวัสดิการ ความก้าวหน้า ภาระงาน จริงๆต้องมีเพลนพ้อยของผู้บริหารด้วย อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของกระทรวงฯ จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีชีวิตยืนยาวที่สุด อย่างตอนนี้เข้าใจว่าอยู่ที่ 78 ปี ผู้หญิงอายุมากกว่าผู้ชาย และต้องทำให้มีอายุยืนยาวแบบมีสุขภาวะดีด้วย
ระบบสาธารณสุขไทยเข้มแข็ง ผ่านพ้นวิกฤตการณ์โควิด
“จริงๆประเทศไทยเรามีระบบสาธารณสุขที่ไม่น้อยหน้าใคร อย่างโรคระบาดใหญ่เราเพิ่งผ่านพ้นวิกฤตโรคโควิดเป็นแพนดามิกระบาดใหญ่มากที่สุดในรอบ 100 ปี ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ทำให้ประเทศไทยผ่านวิกฤตได้และทำให้คนไทยเสียชีวิตน้อยกว่าประเทศมหาอำนาจมากมาย โดยไทยมีคนเสียชีวิตจากโควิด 2-3 หมื่นคน ซึ่งเรามีมาตรการต่างๆ ทั้งการสนับสนุนการรักษาและการฉีดวัคซีนสามารถลดคนไทยไม่ให้ป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด จากการศึกษาวิเคราะห์มาประมาณ 500,000 คน ซึ่งนี่คือโจทย์ที่เราสามารถปกป้องชีวิตคนไทยได้เป็นอย่างดี” ปลัดสธ.กล่าว
เตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดครั้งหน้า
นพ.โอภาส กล่าวว่า แม้จะผ่านวิกฤตโรคระบาดมาได้ แต่โควิดเป็นเพียงการจบยกแรก แต่ยกต่อไปเราต้องเตรียมพร้อมในการรับมือโรคระบาดใหญ่ในอนาคต จากพื้นฐานที่ได้จากโควิดที่ผ่านมา ทั้งกลไกการจัดการ ระบบโลจิสติกส์ ซึ่งตอนนี้เรามีโรงงานที่สามารถผลิตวัคซีนได้เพื่อรองรับเป้าหมายในการรับโรคระบาดครั้งหน้า ภายภาคหน้าต้องมีการตั้งเป้าว่า หากมีโรคระบาดครั้งใหม่ต้องมีวัคซีนอย่างต่ำ 100 ภายภาคหน้าต้องมีการตั้งเป้าว่าหากมีโรคระบาดครั้งใหม่ต้องมีวัคซีนอย่างต่ำ 100 ล้านโดสสำหรับประเทศไทยและใช้เวลา 100 วันต้องมีวัคซีนในการต่อสู้กับเชื้อโรคกันใหม่สู่ประชาชนภายใน 100 วัน แต่ตามสถิติการจะเกิดโรคระบาดใหญ่อีกครั้งน่าจะ 100 ปี จึงต้องฝากรุ่นต่อไป แต่นี่เป็นการคาดเดา แต่โลกปัจจุบันเดาไม่ได้ อาจเกิดตอนไหนก็ได้ จึงต้องเตรียมความพร้อมให้มากที่สุด
กำชับทุก รพ.อย่าติดกรอบ FTE อิงระดับขนาดรพ.เดิม หากที่ไหนมีศักยภาพยกระดับทันที
ปลัดสธ. กล่าวว่า จริงๆที่ผ่านมา รพ.ในกระทรวงฯ มีการพัฒนา ยกระดับเป็นอย่างดี แต่ก็ไปดูหลายแห่งควรดีกว่านี้ จึงเกิดคำถามว่า ติดกับดักอะไร มารู้ว่า อย่างของเดิมเราใช้การแบ่งระดับรพ.ในกระทรวงสาธารณสุข เป็น 4 ระดับ คือ F : Fundamental , M : Middle , S : Standard และ A : Advance ซึ่งเราปรับระดับตามจำนวนเตียงและศักยภาพในการดูแลผู้ป่วย เมื่อมีการแบ่งกรอบดังกล่าว ทำให้รพ.หลายแห่งที่มีศักยภาพพัฒนา แต่ทำไม่ได้ เพราะติดกรอบขนาดเหล่านี้อยู่ ตนจึงบอกว่า หากจะยกระดับบริการ ขนาดเหล่านี้พักไว้ก่อน และให้ไปประเมินว่า หากรพ.มีศักยภาพพัฒนาก็ทำไปเลย อย่าไปยึดติดกับกรอบมากนัก ส่วนค่า FTE ที่เป็นกรอบอัตรากำลังของรพ.แต่ละขนาด ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ค่า FTE คิดมา 10 ปีที่แล้วก็ต้องมีการปรับให้สอดคล้องกับปัจจุบัน
ปัจจุบัน รพ.ระดับ 7 ของเราไม่มีแล้ว ตอนนี้เงินบำรุงหลังโควิดมีอยู่ 1.2 แสนล้านบาท หักหนี้สินต่างๆเหลือเงินลงทุนอีก 7 หมื่นล้าน จะไปคิดตามกรอบเดิมทำไม เราต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับปัจจุบันเพื่อประโยชน์ประชาชน และหากเป็นกติกาที่เรากำหนดเองได้ เราย่อมทำได้เพื่อประชาชน เพราะพวกเขาต้องการการบริการมากขึ้น ต้องจัดบริการยอมรับ อย่างบางพื้นที่เน้นไพรมารีเฮลธ์แคร์ก็ทำได้ แต่บางพื้นที่ต้องมีการแพทย์ขั้นสูง การตรวจหัวใจก็ต้องจัดบริการที่ตอบโจทย์จริงๆ ดังนั้น กรอบยังใช้ได้ แต่หากรพ.ไหนมีศักยภาพให้ดำเนินการ โดยจากนี้ปรับระดับรพ. เป็น 3 ระดับ คือ SAP โดย S : Standard รพ.แบบมาตรฐาน โดยทุก รพ.ต้องมีมาตรฐานก่อน A : Academy กระทรวงฯ มีศักยภาพผลิตพัฒนาบุคลากรได้ โดยเรามีศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาถึง 37 แห่ง เรามีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคต และ P : Premium/Professional ซึ่งจะขอสรุปคำอีกครั้ง โดย P จะเป็นการยกระดับศักยภาพให้สูงขึ้น
(ข่าวเกี่ยวข้อง : ปลัดสธ.จ่อปรับระดับ รพ.ในสังกัดใหม่ เป็น SAP เน้นมาตรฐานกลางต้องมีทุกแห่ง)
ปี67 Service Plan เน้นแก้ปัญหา “อุบัติเหตุ โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง และมะเร็ง”
ดังนั้น การจะพัฒนาระบบเซอร์วิสแพลนให้ดียิ่งขึ้น จากเดิม 10 ปีที่ผ่านมาที่มีการพัฒนาตลอดจะต้องทำอย่างไร สิ่งสำคัญต้องตอบโจทย์ประชาชน และลดปัญหาสุขภาพที่เกิดกับประชาชน ซึ่ง 3 อันดับแรก คือ อุบัติเหตุ โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง และโรคมะเร็ง ซึ่งรพ.หลายแห่งมีการดำเนินการสิ่งเหล่านี้มาตลอด และในปีต่อไปจะยิ่งเจาะลึกและทำให้ดียิ่งขึ้น จากปัจจุบันเรามีเซอร์วิสแพลนหัวข้อหลักๆ ถึง 19 สาขา
ตั้งเป้าปี 67 ใช้งบลงทุน 2 หมื่นล้าน ยกระดับ รพ.สังกัดทั่วประเทศ
ปลัดสธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ จากเงินบำรุงที่เพิ่มขึ้นนั้น เราสามารถนำมาพัฒนางานบริการต่างๆได้ โดยตอนนี้มีเงินลงทุน 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเมื่อต้นปีงบประมาณ 2566 เคยบอกว่า ปีนี้จะให้ลงทุน 1 หมื่นล้านบาท ตอนนี้ตัวเลขสะสมอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท ทั้งการสร้างบ้านพักพยาบาลประมาณ 10,000 ยูนิต และการติดตั้งโซล่าเซลล์ รวมไปถึงการปรับโฉมโรงพยาบาล ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย
และในปี 2567 มีงบลงทุนภาพรวมอยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท จึงตั้งเป้าให้ทุกรพ. ใช้เงินบำรุงไปลงทุนพัฒนารพ.ของตนเอง โดยไปหารือร่วมกันในระดับจังหวัดระดับเขตสุขภาพว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่เน้นการพัฒนาศักยภาพรพ.ของตัวเองให้ดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น อย่างการปรับปรุงห้องผ่าตัด การส่องกล้อง ปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ ระบบไอที เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวถามเพิ่มเติมเรื่องงบลงทุนคือ ให้ทุกรพ.ดำเนินการใช่หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ใช่ โดยให้แต่ละแห่ง ซึ่งมีเงินบำรุงอยู่แล้ว ไปพิจารณาว่า ต้องมีการพัฒนาศักยภาพอย่างไร หารือร่วมกันกับจังหวัด กับทางเขตสุขภาพ เน้นตอบโจทย์ประชาชนเป็นสำคัญ
เมื่อถามอีกว่าเงินบำรุงต้องใช้หนี้ก่อนใช่หรือไม่ จึงจะนำมาลงทุนยกระดับศักยภาพต่างๆ ปลัดสธ. กล่าวว่า หนี้มีทั้งหนี้ใหม่และหนี้เก่า โดยหนี้เก่าจ่ายให้หมด เมื่อมีหนี้ใหม่มาก็จ่ายตามวงรอบ แต่เรื่องหนี้สินมีปัญหาน้อย ส่วนใหญ่จ่ายไปตั้งแต่ปี 2565
งบลงทุนรวมกรณีตั้ง รพ.ทันตกรรม
ผู้สื่อข่าวถามว่าการลงทุนเพิ่มศักยภาพหมายรวมถึงการสร้างรพ.ทันตกรรมด้วยหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ใช่ แต่การสร้างรพ.ทันตกรรม หากงบประมาณไม่เพียงพอ แต่มีศักยภาพในการสร้าง และตอบโจทย์ประชาชนก็ต้องไปหางบประมาณเติมลงไป
เมื่อถามถึงก่อนหน้านี้ สธ.จะหารือร่วมสปสช.ในการจัดหางบฯรองรับภารกิจรพ.ทันตกรรม นพ.โอภาส กล่าวว่า กำลังหารืออยู่ อยู่ในคณะทำงานพิจารณา แต่เบื้องต้นคิดว่าไม่มีปัญหา และไม่เป็นภาระงบประมาณกระทรวงฯมากนัก
(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.ตั้ง 'รพ.ทันตกรรม' ปี 66 มี 39 แห่ง พร้อมผลิตบุคลากรเพิ่ม! หารือสปสช.แยกงบออกจากเหมาจ่าย)
- 1884 views