นักวิชาการชี้ซีรีส์เกาหลี มีผลทางการตลาด กระตุ้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ "โซจู" ในไทยพุ่ง! วัยรุ่นอยากทดลองดื่ม สะท้อนโฆษณามีผล ส่วนการฉายผ่านแอปฯ ดูหนังดูซีรีส์ ไม่มีการเบลอภาพน้ำเมาแบบทีวี เข้าข่ายโฆษณาแฝง แต่มีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องตรวจสอบ ว่าเข้าข่ายสตรีมมิ่งที่เป็นข้อยกเว้นหรือไม่
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ผศ.ดร.บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ อาจารย์ประจำหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขานวัตกรรมการสื่อสาร มหาวิทยาลัยเกริก ในฐานะคณะอนุกรรมการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหรืออนุบัญญัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 กล่าวถึงกรณีประเด็นซีรีส์เกาหลีที่มีฉากดื่ม "โซจู" จนมีผลทำให้คนอยากลองดื่ม และทำให้ยอดขายหรือการทำการตลาดในไทยเพิ่มสูงขึ้น ว่า การโฆษณาโซจูในซีรีส์เกาหลีถือว่ามีผลอย่างมาก ที่ทำให้ตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างโซจูในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมาก เนื่องจากซีรีส์เป็นตัวกระตุ้น ซึ่งก็ถือเป็นการตลาดของบริษัทในบ้านเขา จะเห็นว่าที่ผ่านมาในไทยแทบไม่ค่อยรู้จัก แต่ปัจจุบันมีการขายทั่วไปในซูเปอร์มาร์เก็ต ก็เป็นตัวสะท้อนว่า มาตรการโฆษณาและสื่อสารการตลาด ไม่ว่าจะในทางทฤษฎีหรือทางปฏิบัติล้วนมีผลชัดเจน มีผลต่อการกระตุ้นยอดซื้อยอดขาย โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น
ผลสำรวจ ศวส.ปี 65 พบวัยรุ่น 15-24 ปีเป็นนักดื่มหน้าใหม่ถึง 6% ผู้หญิงเยอะสุด
ผศ.ดร.บุญอยู่ กล่าวว่า จากการสำรวจทั่วประเทศของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) เมื่อปี 2565 ก็พบว่า ผู้ดื่มกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี ที่เป็นนักดื่มหน้าใหม่ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเยอะ คือ 6% เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน ที่สำคัญคือ นักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้หญิงเยอะประมาณ 7% ผู้ชายประมาณ 5% ซึ่งจากการสำรวจก็พบว่า มีผลมาจากการโฆษณาโดยเฉพาะการตลาดในสื่อสมัยใหม่อย่างโซเชียลมีเดีย ซึ่งในส่วนของซีรีส์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีผลทำให้เกิดความอยากทดลองตาม
ซีรีส์เกาหลีโปรโมท “โซจู” เข้าข่ายโฆษณาแฝงชัดเจน
"สำหรับมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 นั้น ที่มีการห้ามผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งความหมายเรื่องการโฆษณาค่อนข้างกว้าง หากเป็นกฎหมายฉบับอื่น การโฆษณาอทาจเขียนนิยามว่าเป้นการทำให้ได้เห็น ได้ยิน รับทราบ เพื่อประโยชน์ทางการค้า แต่ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขยายรวมถึงการสื่อสารการตลาดด้วย ดังนั้น การโฆษณาและทำการตลาดโดยให้มีสินค้ามาปรากฏในภาพยนตร์ ละคร หรือซีรีส์ จริงๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมานานตั้งแต่ยุค 80-90 แล้ว การที่ซีรีส์เกาหลีมีการโปรโมทโซจูก็เข้าข่ายว่าเป็นการโฆษณาแฝงชัดเจน" ผศ.ดร.บุญอยู่กล่าว
ซีรีส์โฆษณาเหล้าไร้เบลอผ่านช่องทางแอปฯ หากเป็นสตรีมมิ่งจากตปท. มีข้อยกเว้นทางกฎหมาย
เมื่อถามว่าหากเป็นการออนแอร์ผ่านทีวีสาธารณะ มักจะมีการเบลอฉากที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นละครไทยหรือซีรีส์ต่างประเทศ แต่ในแอปพลิเคชันดูหนังดูซีรีส์ต่างๆ จะไม่มีการเบลอภาพ ตรงนี้จะเข้าข่ายผิดเรื่องโฆษณาตามกฎหมายหรือไม่ ผศ.ดร.บุญอยู่กล่าวว่า จริงๆ การแสดงภาพเครื่องดื่มแอลกฮอล์โดยไม่มีการเบลอก็เข้าข่ายเป็นการโฆษณาแฝง แต่การเผยแพร่ผ่านทางช่องทางแอปฯ ดูหนังต่างๆ นั้น ต้องไปดูประเด็นด้วยว่า เป็นลักษณะของสตรีมมิ่งหรือไม่ เนื่องจากในมาตรา 32 วรรค 3 มีเรื่องของการถ่ายทดสดจากต่างประเทศ ซึ่งหากเป็นการยิงตรงจากต่างประเทศเข้ามา หรือเป็นเซิร์ฟเวอร์จากต่างประเทศ ก็จะเข้าข่ายได้รับการยกเว้น แต่หากเป็นการนำมาผลิตซ้ำภายในประเทศหรือนำมารีรันในเมืองไทยอีกที แล้วไม่มีการเบลอภาพก็จะเข้าข่ายโฆษณาแฝงที่มีความผิด
"เรื่องนี้มองว่าทางสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในฐานะเจ้าพนักงานก็ต้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นการโฆษณาแฝงหรือไม่ ที่มาที่ไปของคอนเทนต์เป็นอย่างไร เป็นลักษณะสตรีมมิ่งหรือไม่ ซึ่งก็ยอมรับว่าการดำเนินการค่อนข้างยาก เพราะการบังคับใช้กฎหมายต้องมีองค์ประกอบ คือ ได้ตัวผู้กระทำผิดว่าคือใคร จับตัวไม่ได้ก็ดำเนินคดีต่อไม่ได้ และหลักฐานต่างๆ ก็ต้องชัด ขณะที่คอนเทนต์ในแอปฯ เหล่านี้ เนื่องจากเป็นบริการแบบบอกรับสมาชิกที่มีรหัสเข้า ไม่ใช่สื่อสาธารณะ ก็ค่อนข้างมีความยากในการตรวจสอบ" ผศ.ดร.บุญอยู่กล่าว
- 262 views