ปลัดสธ.เผยกรณี “หมออ๋อง” โพสต์ภาพคราฟเบียร์ เป็นหน้าที่ของกรมควบคุมโรคดำเนินการ ด้าน “ศรีสุวรรณ” บุก สธ.ร้องเอาผิดส่อผิดพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ส่วนกรณี “พิธา” อยู่รวบรวมหลักฐาน เหตุยังไม่ค่อยชัดเจน
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม นพ.โอภาส การย์กวิงพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ภายหลังผู้สื่อข่าวสอบถามกรณีคณะอนุกรรมการแก้ไขกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระบุถึง นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 โพสต์ภาพคราฟเบียร์ ว่าเข้าข่ายผิดพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงสาธารณสุขต้องดำเนินการเรื่องนี้ ว่า เรื่องนี้ต้องถามกรมควบคุมโรค เพราะเป็นผู้ถือกฎหมาย ดูแลพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เราไม่ไปก้าวล่วง
ต่อมาเวลา 13.00 น. วันเดียวกัน นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ได้เดินทางไปยื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค เพื่อชี้เป้าเอาผิดนายปดิพัทธ์ สันติภาดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกลและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 หลังจากที่ปรากฎเป็นการทั่วไปว่าได้โพสต์ภาพและข้อความและคลิปวิดีโอลงสื่อโซเชียลออนไลน์หลายประเภท เพื่อเชียร์ดราฟท์เบียร์ยี่ห้อหนึ่งของ จ.พิษณุโลก อันเข้าข่ายเป็นการโฆษณา ต้องห้ามตามกฎหมาย โดยมี นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รับเรื่องดังกล่าว
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า กรณี “หมออ๋อง” ในฐานะเป็นส.ส.พรรคก้าวไกล จ.พิษณุโลก และยังเป็นรองประธานสภาคนที่ 1 ซึ่งทำการโพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ กรณีดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมาย โดยเฉพาะพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือทางอ้อม การโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ใดๆ อีกทั้งยังฝ่าฝืนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ 2563 อีกด้วย
“ดังนั้น การกระทำของหมออ๋อง จะทางตรงหรือทางอ้อม ถือว่า มีความผิดทั้งสิ้น ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นความตั้งใจ เพราะโพสต์ดังกล่าวยังมีในสังคมออนไลน์ของหมออ๋องเอง และยังให้สัมภาษณ์เองว่า เข้าใจว่ามีกฎหมาย แต่ต้องการให้เกิดกระแสพูดถึงเรื่องนี้ให้มาก เพื่อให้นำไปสู่การยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายเรื่องนี้ แต่เนื่องจากหมออ๋อง เป็นถึง ส.ส. เป็นถึงรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ย่อมเป็นผู้ที่ต้องบังคับใช้กฎหมาย การที่จะมาทำแบบนี้เหมือนบุคคลธรรมดาทั่วไปย่อมทำไม่ได้ ซึ่งหากคิดว่ากฎหมายนี้ไม่ดี ก็ต้องไปทำตามขั้นตอนของกฎหมายในเรื่องของการปรับแก้ อย่าลืมว่าหมออ๋อง ก็เป็นหมอ แม้จะเป็นสัตวแพทย์ แต่ก็น่าจะเข้าใจพิษภัยของสุราดีว่า ก่อให้เกิดโทษต่อสังคม ต่อมนุษย์อย่างไร มีคนเจ็บ คนพิการ คนเสียชีวิตจากการดื่มแล้วเมาเยอะแยะมากมาย เราจึงต้องมาร้องเรียนเรื่องนี้ เพราะอัตราโทษของพรบ.ค่อนข้างสูง ตั้งแต่ 5 หมื่นจนถึง 2 แสนหรือทั้งจำทั้งปรับ เรื่องนี้ต้องดำเนินการให้เข้มงวด เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง” นายศรีสุวรรณ กล่าว
ด้าน นพ.นิพนธ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับหนังสือ ว่า การร้องเรียนกรณีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะเกิดจาก 2 ระบบ คือ 1.มีผู้ร้องเรียนพร้อมส่งหลักฐานเข้ามาในระบบ และ 2.เจ้าพนักงานตรวจพบเจอและดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นการร้องเรียนเข้าระบบมา อย่างกรณีนี้ก็มีผู้ร้องเรียนเข้าระบบมาเช่นกัน เจ้าพนักงานก็มีหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่อยู่ดีๆ จะกล่าวโทษใครได้ ทางเจ้าพนักงานต้องรวบรวมหลักฐานตามกฎหมาย รวมถึงส่งหนังสือสอบถามเจ้าตัวเพื่อให้ชี้แจง หากยอมรับก็จะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ถ้าปฏิเสธก็จะกันตามหลักฐาน ทางเจ้าพนักงานก็จะร้องทุกข์ กล่าวโทษไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป อย่างไรก็ตาม หากมีหลักฐานชี้ชัดถึงความผิดตามมาตรา 32 ของ พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ก็จะมีโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี หากเป็นความผิดครั้งแรกก็จะปรับไม่น้อยกว่า 5 หมื่นบาท ทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับหลักฐานและดุลยพินิจของคณะกรรมการ
“เบื้องต้นทางนิติกรของสำนักฯ มองว่ามีหลายอย่างเข้าข่ายและมีความคล้ายคลึงกับคดีที่เคยพิจารณมาก่อนหน้านี้ เราก็ดำเนินการตามหลักฐาน แต่เขาอาจมีข้อโต้แย้งก็ว่ากันด้วยหลักฐาน ส่วนภาพที่โพสต์นั้น แม้จะมีการลบแต่ความผิดได้เกิดขึ้นแล้ว ก็ว่าตามหลักฐานเดิม แต่ถ้ายิ่งไม่ได้ลบก็จะเป็นความผิดต่อเนื่อง” นพ.นิพนธ์ กล่าว
ถามต่อว่ากระบวนการตรวจสอบกรณีหมออ๋องจะใช้เวลานานแค่ไหน นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า ไม่สามารถระบุเวลาได้ชัด แต่หลังรับหนังสือแล้วก็จะมีการรวบรวมหลักฐาน พร้อมส่งหนังสือไปยังผู้ที่ถูกร้องเรียน ให้ชี้แจงภายใน 15 วัน
“ปัจจุบันมีเรื่องออนไลน์ ก็มีการใช้ช่องว่าง มีการใช้อินฟลูเอนเซอร์โฆษณา ที่ผ่านมาเราก็มีการปรับแล้ว ซึ่งหากมีคนติดตามในโซเชียลฯ เยอะ ก็ถือว่ามีอิทธิพลต่อสังคม และกลไกการตลาดออนไลน์ก็จะใช้วิธีนี้เยอะ ซึ่งกรณอินฟลูเอนเซอร์กระทำผิดจะเข้าข่ายมาตรา 32 มีโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี แต่ถ้าเป็นความผิดครั้งแรกก็จะปรับไม่น้อยกว่า 5 หมื่น ดังนั้น จึงอยู่ที่ดุลพินิจและหลักฐานที่เกี่ยวข้อง” นพ.นิพนธ์ กล่าว
“เข้าใจกระแส แต่ว่าถ้าเราไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะเราเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ถ้าไม่ทำตามกฎหมาย เราก็โดนได้..” นพ.นิพนธ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามกรณีนายศรีสุวรรณ เคยร้องเรียน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล หลังจากเจ้าตัวไปออกรายการ หนึ่งและให้สัมภาษณ์ ถึงนโยบายสุราก้าวหน้า และรสนิยมการดื่มของตัวเอง พร้อมก้บเปิดเผยชื่อยี่ห้อและเชียร์สุราชุมชน มีการตรวจสอบแล้วหรือไม่ นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า ภาพที่โพสต์จะเป็นข่าว แต่ไม่ได้ยกภาพขึ้นมาโดยเจ้าตัว แต่เป็นการพูดชื่อขึ้นมา ทำให้คณะอนุกรรมการพิจารณาความผิดเรื่องนี้มีความเห็นแตกต่างกัน 2-3 ประเด็น ดังนั้น คณะอนุกรรมการฯ จึงพิจารณาแล้วว่า ให้เก็บหลักฐานเพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวข้องว่า เข้าข่ายชัดเจนหรือไม่ ขณะนี้จึงต้องเก็บหลักฐานให้ได้มากที่สุด
เมื่อถามว่ากรณีนายพิธา พูดยี่ห้อ ทำให้ขายดี แบบนี้จะเข้าข่ายผิดหรือไม่ นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า ต้องดูโดยสภาพ ก็จะคล้ายๆกัน อย่างหลายคนไปพูดโดยไม่มีเจตนาก็เรื่องหนึ่ง แต่คนพูดจะรู้เอง สิ่งสำคัญต้องไปดูหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
ข่าวเกี่ยวข้อง : “ศรีสุวรรณ” ร้องกรมควบคุมโรค ชี้เป้าเอาผิด “พิธา” เผยยี่ห้อเหล้าออกสื่อ เข้าข่ายโฆษณา
- 342 views