“หมอโอภาส” ย้ำ! การจ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิดนอกสังกัดกระทรวงฯ ข้อมูลมาจากหน่วยงานนั้นๆ สธ.เป็นเพียงผู้รวบรวม ไม่สามารถหักเงินเสี่ยงภัยได้ หลังมีกรณีบุคลากรนอกสังกัดเผยบางแห่งโดนหักเงิน พร้อมระบุไทม์ไลน์เบิกจ่ายยังเหมือนเดิม เริ่ม 29 ส.ค.นี้ ส่วนที่ยังค้างจ่ายอีก 1 เดือนกว่ารอครม.ใหม่

 

ความคืบหน้าหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา เห็นชอบอนุมัติค่าตอบแทนเสี่ยงภัยจากงบกลาง วงเงิน 2,995.95 ล้านบาท เพื่อเบิกจ่ายให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติภารกิจเกี่ยวข้องกับโรคโควิด 19 ทั้งสายวิชาชีพและสายสนับสนุน ทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 - ครึ่งเดือนแรกของมิถุนายน 2565 นั้น ปรากฎว่ามีบุคลากรที่ปฏิบัติงานโควิดนอกสังกัดให้ข้อมูลว่า มีรพ.บางแห่งนอกสังกัดสธ.หักเงินค่าเสี่ยงภัยจากเดิมเข้าใจว่า เป็นเพราะกระทรวงฯ หรือไม่

 

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า  เรื่องค่าเสี่ยงภัยโควิด ไม่ได้มีเพียงแค่กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ยังมีหน่วยงาน สถานพยาบาลนอกสังกัดอื่นๆอีกจำนวนมาก โดยกระทรวงสาธารณสุข เป็นเพียงผู้รวบรวมข้อมูลหลักฐานการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้น ซึ่งหน่วยงานนอกสังกัดจะส่งเรื่องเข้ามา ดังนั้น ประเด็นที่บอกว่ามีการหักค่าเสี่ยงภัยใดๆ นั้นไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุข เพราะเราพิจารณาตามหลักฐานการปฏิบัติงาน มีรายชื่อ มีข้อมูลหมด

“เราต้องรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานภายนอกด้วย ไม่ใช่แค่ของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น อย่างที่ผ่านมาค่าเสี่ยงภัยโควิดที่ล่าช้า ก็ไม่ใช่เพราะกระทรวงฯ เพราะเราต้องรอหน่วยงานอื่นๆด้วย หากข้อมูลไม่ครบ ทางสำนักงบประมาณก็ไม่พิจารณา ดังนั้น เราก็ต้องรอ ซึ่งหลังจากนี้ก็จะเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่เคยระบุว่า จะเบิกจ่ายให้ทุกหน่วยงานตั้งแต่ 29 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป และจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นปีงบประมาณในวันที่ 30 กันยายน 2566 พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไข ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงบประมาณทราบภายใน 15 วันทำการถัดไป” นพ.โอภาส กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามกรณีงบค่าเสี่ยงภัยโควิดส่วนที่ยังค้างจ่ายจะดำเนินการอย่างไร ปลัดสธ. กล่าวว่า สำหรับงบประมาณที่ยังค้างจ่ายในรอบการปฏิบัติงานช่วงครึ่งเดือนหลังของมิถุนายน - กันยายน 2565  ซึ่งสิ้นสุดการเป็นโรคติดต่ออันตราย จะต้องรอรัฐบาลใหม่ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขจะขอรับการสนับสนุนในปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 3,745 ล้านบาท ต่อ ครม.ชุดใหม่ต่อไป