อาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ท้วง ตัดลดงบประมาณ "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" เพราะรัฐบาลไม่ต้องการแตะโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ ไม่อยากเก็บภาษีจากคนรวย เพื่อทำให้สังคมเป็นธรรมมากขึ้น เตือน! "เมื่อความเหลื่อมล้ำรุนแรงมาก สักวันหนึ่งก็ต้องเผชิญวิกฤตขัดแย้งรุนแรง" การตั้งเป้าหมายตัดลดงบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นการเดินถอยหลังของประเทศ
ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอบทความประเทศไทยกำลังเดินถอยหลังเรื่องความคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ ตอนหนึ่งว่า เหตุผลหลักที่ต้องการตัดลดงบประมาณ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ก็เพราะว่า รัฐบาลไม่ต้องการแตะโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ นั่นคือ ไม่ต้องการเก็บภาษีจากคนรวย เพื่อทำให้สังคมเป็นธรรมมากขึ้น ทั้งที่มีข้อเสนอเรียกร้องจากทั้งจากภาคประชาชน ภาควิชาการ และ ภาคการเมือง ก็ถูกตีตก หรือรัฐบาลเจตนาเพราะกลัวว่า คนกลุ่มน้อยจะเสียประโยชน์ โดยไม่ได้คำนึงว่า อนาคตประเทศไทยจะอยู่กันต่อไปอย่างไร
แน่นอนว่า เราไม่สามารถแยกเรื่องโครงสร้างระบอบอุปถัมภ์ออกจากการเมืองเรื่องจัดตั้งรัฐบาล และ การกดขี่ขูดรีดแรงงานและการเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจจากคนไทย ดังนั้น คงจะไม่แปลกใจหากวันหนึ่งความโกรธแค้นของประชาชนเรื่องความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรม จะปะทุออกมาในที่สุด
ประเด็นความสัมพันธ์เรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ” และ “ความขัดแย้งทางการเมือง” นี้ ผู้เขียนได้เคยพูดคุยแลกเปลี่ยนในการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักข่าวกรองแห่งชาติ จึงขอนำเรียนตรงนี้อีกครั้งด้วยความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้โปรดตระหนักว่า ตามประวัติศาสตร์มนุษยชาติได้พิสูจน์แล้ว “เมื่อความเหลื่อมล้ำรุนแรงมาก สักวันหนึ่งก็ต้องเผชิญวิกฤตขัดแย้งรุนแรง”
เรื่องระบบสวัสดิการคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุ แม้จะมีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ถึงจะเป็นเบี้ยยังชีพเดือนละ 3 พันบาท ก็ยังใช้งบประมาณน้อยกว่างบบำนาญข้าราชการในระยะยาว ในที่สุดแล้ว เมื่องบประมาณสำหรับบำนาญข้าราชการจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วน่ากังวล เราก็ควรที่จะใช้โอกาสนี้ในการจัดสรรทรัพยากรให้เป็นธรรม ตามข้อเสนอทางเศรษฐศาสตร์ที่มีมากมาย เพื่อให้มีงบประมาณสามารถคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุได้ทั้งสังคม แต่ข้อเท็จจริง คือ รัฐบาลไม่ยอมทำ ดังนั้น การตั้งเป้าหมายตัดลดงบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จึงเป็นการเดินถอยหลังของประเทศ
ท้ายสุดนี้ ขอชวนอ่านบทความหรือการนำเสนอก่อนหน้านี้ของผู้เขียนเองเกี่ยวเรื่องความยากจนผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้เรากำลังอยู่ตรงช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อว่า จะปล่อยให้ประเทศเต็มไปด้วยคนจนผู้สูงอายุเต็มประเทศในอีก 10-20 ปีข้างหน้า และเต็มไปด้วยปัญหาสังคมที่เกิดจากคนจนล้นประเทศ หรือ รัฐบาลอยากจะวางรากฐานมั่นคงแข็งแรงให้เป็นสังคมที่ปรองดองและเป็นธรรม
ชวนอ่านเพิ่มเติม
EAT THE RICH เพื่อระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม
http://www.setthasarn.econ.tu.ac.th/blog/detail/645
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 166 views