สช.-ภาคีจัดวงเสวนา ใช้กลไกการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ “HIA” เชื่อมร้อยการประเมินยุทธศาสตร์ฯ “SEA” สู่การออกแบบ-จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ “สงขลา-ปัตตานี” สอดรับความต้องการชุมชน ย้ำเป็นเครื่องมือหนุนทุกภาคส่วนนำไปใช้ ช่วยมองภาพอนาคต พร้อมประกอบการตัดสินใจในทิศทางการพัฒนา

เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดเวทีเสวนา “การบูรณาการการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) ในการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อการจัดทำแผนพัฒนาเชิงพื้นที่” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Forum) พ.ศ. 2566 ภายในงานสร้างสุขภาคใต้ ครั้งที่ 13 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

ผศ.ดร.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ในการวางแผน นโยบาย ยุทธศาสตร์ กิจกรรมหรือโครงการพัฒนาใดๆ ไม่ว่าจะในระดับชาติไปจนถึงระดับท้องถิ่น จำเป็นที่จะต้องนำระบบการประเมินผลกระทบ (Impact Assessment: IA) เข้ามาใช้ เพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่กำลังจะทำนั้น จะมีผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบอย่างไร ก่อนนำไปปรับปรุงเพื่อลดผลกระทบเชิงลบให้น้อยลงที่สุด เพิ่มผลกระทบเชิงบวกให้มากขึ้น หรือหากไม่สามารถลดผลกระทบเชิงลบได้ ก็จำเป็นจะต้องตัดสินใจว่าแผน นโยบาย หรือโครงการนั้น ควรจะดำเนินต่อไปหรือไม่

ผศ.ดร.พงค์เทพ กล่าวว่า ที่มาของการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA คือแทนที่จะมองการประเมินเป็นรายแผนหรือรายโครงการ แต่ SEA จะมองภาพรวมทั้งหมดของพื้นที่ ครอบคลุมปัจจัยของผลกระทบในมิติต่างๆ ที่มากขึ้น ภายใต้คำว่าสิ่งแวดล้อมที่หมายรวมถึงทุกสิ่ง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ ขณะที่การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ หรือ HIA ของ สช. ก็เป็นการมองระบบสุขภาพ สุขภาวะที่เป็นองค์รวม ดังนั้นทั้ง 2 เครื่องมือนี้จึงมีนัยยะที่สอดคล้องเป็นเรื่องเดียวกัน และสามารถนำมาบูรณาการร่วมกันได้ ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดที่ ม.อ. นำไปใช้ในการศึกษาเพื่อจัดทำแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ของ จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี ด้วยเช่นกัน

"กำหนดอนาคต ‘สงขลา-ปัตตานี’ ด้วยเครื่องมือ ‘HIA - SEA’ ลดผลกระทบจากโครงการพัฒนา ประเมิน ‘สุขภาพ-สิ่งแวดล้อม’ ก่อนตัดสินใจ"

“HIA จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และพัฒนานโยบายสาธารณะ โดยมีหัวใจหลักคือให้ความสำคัญกับชุมชนในการมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนา ส่วน SEA ซึ่งถูกใช้ในการวางแผนเป็นแม่บท ก็ได้นำฐานคิดเดียวกันนี้ไปใช้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มาร่วมกันคิด โดยเราเริ่มจากการศึกษาต้นทุนในพื้นที่ ก่อนวางฉากทัศน์ภาพอนาคตที่ทุกคนอยากเห็น ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยให้เราเห็นความต้องการของส่วนรวมมากขึ้น ทำให้ทิศทางการพัฒนาที่เกิดขึ้นมีความยั่งยืน” ผศ.ดร.พงค์เทพ ระบุ

ผศ.ดร.เรวดี โรจนกนันท์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ของสภาพัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้ขับเคลื่อนและนำ SEA ไปใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยประกอบการตัดสินใจ พร้อมประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากแผนการพัฒนาพื้นที่ ช่วยให้เกิดการมองที่รอบด้านและครอบคลุมในทุกมิติ โดยเฉพาะสิ่งสำคัญที่ถอดแบบจาก HIA คือมุ่งเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม ให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาร่วมตัดสินใจในแทบทุกขั้นตอน

"กำหนดอนาคต ‘สงขลา-ปัตตานี’ ด้วยเครื่องมือ ‘HIA - SEA’ ลดผลกระทบจากโครงการพัฒนา ประเมิน ‘สุขภาพ-สิ่งแวดล้อม’ ก่อนตัดสินใจ"

“เราให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมอย่างมาก เพราะถือเป็นข้อมูลนำเข้าที่สำคัญในการขับเคลื่อน เพื่อให้แผนออกมาได้สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่มากที่สุด แต่ก็ต้องอยู่บนบริบทของการเดินไปข้างหน้า การพัฒนาที่ต้องเดินไปสู่อนาคต โดยนำเอาทั้งความต้องการของชุมชน กับแผนยุทธศาสตร์ที่ถูกกำหนดขึ้นมารวมกันให้ได้” ผศ.ดร.เรวดี กล่าว

ขณะที่ นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เป้าหมายของเครื่องมือการประเมินทั้งสองนั้นมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนบนพื้นฐานของสุขภาวะ ซึ่ง SEA นั้นจะถูกใช้กับการวางกรอบใหญ่ ที่เป็นนโยบายหรือแผนหลัก แต่ในส่วนของ HIA นั้นมีความตั้งใจที่จะให้เป็นเครื่องมือของสังคม ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้ และยังสามารถใช้ประเมินผลกระทบได้ในทุกระดับ ตั้งแต่แผนยุทธศาสตร์ นโยบายระดับชาติ ไปจนถึงกิจกรรมการพัฒนาในระดับชุมชน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ดังนั้น HIA จะสามารถบูรณาการกับ SEA ได้ในทุกระดับ อย่างการจัดทำแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ HIA ก็จะสามารถสนับสนุนโดยการสร้างทางเลือกให้กับนโยบายหรือแผนนั้น ด้วยข้อเสนอที่มีความชัดเจน มองอย่างรอบด้านทุกมิติ พร้อมยังช่วยปรับปรุงให้แผนนั้นได้นำข้อห่วงกังวลของคนในพื้นที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้ กลายเป็นรูปธรรมของหลักการทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ (HiAP) ซึ่งท้ายที่สุดผลการประเมินนี้จะเป็นตัวช่วยประกอบการตัดสินใจ

"กำหนดอนาคต ‘สงขลา-ปัตตานี’ ด้วยเครื่องมือ ‘HIA - SEA’ ลดผลกระทบจากโครงการพัฒนา ประเมิน ‘สุขภาพ-สิ่งแวดล้อม’ ก่อนตัดสินใจ"

“สช. ได้เดินหน้าขยับขยายกระบวนการ HIA ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง อย่างขณะนี้เราใช้ภาควิชาการนำ โดยมีเครือข่ายสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ทั้ง 6 ภูมิภาค เข้ามาร่วมสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ พัฒนาศักยภาพ เพราะเราหวังว่า HIA จะเป็นเครื่องมือที่ทุกคนเป็นเจ้าของ ร่วมใช้ได้ และอยากให้เกิดการเปลี่ยนมุมมองว่าการประเมินผลกระทบ ไม่ใช่เพื่อคัดค้านได้เพียงอย่างเดียว แต่ก็สามารถเป็นการประเมินอย่างสร้างสรรค์ ทำให้เกิดการพัฒนาในเชิงบวกมากขึ้น” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนารูปแบบการดำเนินงานในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) เพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ กล่าวว่า ทาง สช. ได้ดำเนินโครงการฯ ศึกษาภายใต้การสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เพื่อให้งานวิจัยนี้เป็นอีกช่องทางหนึ่งของการทำให้ HIA มีความเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ภายใต้หลักฐานเชิงวิชาการ

ขณะเดียวกัน งานวิจัยดังกล่าวยังมุ่งให้ความสำคัญไปที่ อปท. ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งถือเป็นตัวจริงในพื้นที่ ที่จะสามารถทำให้เกิดกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะได้ เพราะไม่ว่ากิจกรรม โครงการ หรือนโยบายใดๆ ล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ทั้งสิ้น แต่การประเมินผลกระทบก็ไม่ได้มุ่งหวังที่จะนำไปสู่การต่อต้านหรือคัดค้าน หากจะเป็นการช่วยทำให้โครงการหรือนโยบายนั้นดีขึ้น โดยใช้เครื่องมือ HIA เป็นตัวชี้บอก

"กำหนดอนาคต ‘สงขลา-ปัตตานี’ ด้วยเครื่องมือ ‘HIA - SEA’ ลดผลกระทบจากโครงการพัฒนา ประเมิน ‘สุขภาพ-สิ่งแวดล้อม’ ก่อนตัดสินใจ"

“เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ต้องการให้ HIA เป็นสิทธิของประชาชนทุกคน โดยสิ่งสำคัญที่เราอยากมุ่งเน้นคือการมีส่วนร่วมในกระบวนการ HIA เพราะจากประสบการณ์ใช้เครื่องมือ HIA ในพื้นที่ เราพบว่าสิ่งที่เป็นรูปธรรมหรือความภาคภูมิใจของงานนี้ คือการได้แก้ไขความขัดแย้ง ช่วยให้คนเข้าใจพื้นที่ และรักในท้องถิ่นตัวเองมากขึ้น ฉะนั้น HIA จะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในกระบวนการนโยบายสาธารณะที่สร้างชุมชนเข้มแข็ง” ผศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าว

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org