กระทรวงสาธารณสุข ตั้งคณะกรรมการจากทุกภาคส่วน ศึกษาผลกระทบของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกต่อระบบสาธารณสุขอย่างรอบคอบและรอบด้าน คาดได้ผลเบื้องต้นเสนอกระทรวงพาณิชย์เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2559
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการดำเนินการรองรับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ว่า ได้ตั้งคณะกรรมการนโยบายด้านสาธารณสุขในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือทีพีพี (Trans-Pacific Partnership: TPP) ประกอบด้วยภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขร่วมเป็นคณะกรรมการ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นที่ปรึกษา เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ผลกระทบของความตกลงทีพีพีต่อระบบสาธารณสุข ทั้งด้านบวกและด้านลบ วิธีการ และระยะเวลาการดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ เพื่อนำเสนอผลการศึกษาดังกล่าวต่อกระทรวงพาณิชย์ เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของความตกลงทีพีพี
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใย และตระหนักถึงผลกระทบของความตกลงทีพีพีที่อาจจะส่งผลต่อระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับยา การระงับข้อพิพาทระหว่างผู้ลงทุนกับรัฐภาคี การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การนำเข้าเครื่องมือแพทย์มือสอง การให้บริการข้ามแดน มาตรการสุขอนามัย ฉลากแอลกอฮอล์ ฉลากยาสูบ และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุข
ทั้งนี้ ข้อกังวล ความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เสนอผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ กระทรวงสาธารณสุขขอขอบคุณ และจะนำมาพิจารณา ขอให้มั่นใจว่า กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำการศึกษาผลกระทบดังกล่าวอย่างรอบคอบและรอบด้าน ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมทั้งเสนอมาตรการรองรับและการเยียวยาผลกระทบด้านสาธารณสุข หากไทยจะต้องเข้าร่วมในความตกลง ทีพีพี
สำหรับการศึกษาผลกระทบครั้งนี้ จะประยุกต์วิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) มาใช้ในการศึกษาผลกระทบของทีพีพีต่อระบบสาธารณสุข และหารือกับทุกภาคส่วนรวมทั้งภาคประชาสังคมและภาคเอกชนเพื่อให้ผลการศึกษาครอบคลุม ทั้งประเด็นข้อห่วงใยและการแสวงหาโอกาสจากข้อตกลงด้วย คาดว่าจะเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นให้กระทรวงพาณิชย์ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 และจะสามารถนำเสนอผลการศึกษาโดยละเอียดภายในเดือนตุลาคม 2559
- 5 views