ปลัดสธ.สั่งผู้ตรวจราชการฯ ลงพื้นที่หาข้อเท็จจริง หลังเพจดังแชร์ข้อมูลคนไข้ รพ.ศรีสะเกษถูกลบ!  พบแชทหลุดคาดจากคนในหวังใช้เป็นตัวประกันซื้อโปรแกรมใหม่ ด้าน ผอ.รพ.ฯ แจงข้อเท็จจริง ข้อมูลคนไข้ไม่หาย ไม่รั่วไหล มีระบบแบ็คอัพ พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงจากภายนอก หากผู้กระทำผิด และตั้งทีมป้องกันเกิดปัญหาซ้ำ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีการแชร์ข้อมูลจากเพจเฟชบุ๊ก “อยากดังเดี๋ยวจัดให้ รีเทริน์ part6”  โพสต์ตั้งคำถามโรงพยาบาลศรีสะเกษถึงกรณีการลบข้อมูลผู้ป่วย ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร หรือเป็นการขายโปรแกรมอะไรหรือไม่ วอนส่วนกลางและสื่อสังคมหาข้อเท็จจริง โดยระบุใจความว่า

“มีการลบข้อมูลผู้ป่วยจริงหรือไม่..ลบเพื่อเหตุอะไรขายโปรแกรมหรืออย่างไร..ส่วนกลางและสื่อสังคมช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย โรงพยาบาลศรีสะเกษ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล(เป็นข้าราชการ)ได้ทำการลบข้อมูลผู้ป่วย ใน Database ทั้งระบบ ทำให้ระบบ HIS ล่มทั้งระบบ ไม่สามารถให้การรักษาผู้ป่วยได้ ผู้ป่วยที่เดินทางมารักษาที่โรงพยาบาลต้องเดินทางกลับ โดยที่ยังไม่ได้รับการรักษา อีกทั้ง ข้อมูลเก่าสูญหาย ทำให้ไม่สามารถเรียกเก็บได้โรงพยาบาลสูญเสียรายรับเกือบ 50 ล้านบาท...

ทั้งนี้ มีผู้หวังดีส่งแชทหลุดของผู้กระทำมา ซึ่งจะเห็นว่ามีการแอบอ้าง ว่ามีแบ็ค ใหญ่ เป็นเด็กในสังกัดของ ผอ. โรงพยาบาลว่าเป็นใครไม่มีใครกล้าทำไร ซึ่งเรื่องนี้ทางผู้ใหญ่รับทราบ ได้แต่บอกจะดำเนินการ แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ ซึ่งมีการกระทำมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง สามารถตรวจสอบได้ โดยการกระทำดังกล่าวเพื่อที่จะเสนอขายโปรแกรมให้กับทางโรงพยาบาล เพื่อกินค่าหัวคิว  จากแชทที่หลุด ซึ่งโดยปกติ การกระทำลักษณะนี้เป็นคดีอาญาและแพ่ง ทุกวันนี้คนที่กระทำยังเดินลอยหน้าลอยตาปกติในโรงพยาบาล  สำหรับเหตุการณ์ล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4/7/2566 รายละเอียดสามารถตรวจสอบได้ครับ ซึ่งอาจจะเกิดอีกจากแชทที่หลุดมา ลองนึกถึงคนที่เดินทางมาจากต่างอำเภอ เจ็บป่วยหนักไม่ได้รับการรักษาจะมีผลกระทบยัง ไง อยากฝากให้ช่วยเป็นสื่อให้กับทางผู้ใหญ่ได้ดำเนินการ ...”

ปลัดสธ.ส่งผู้ตรวจฯ ลงพื้นที่รพ.ศรีสะเกษ กรณีข้อมูลคนไข้ถูกลบ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว Hfocus ถึงกรณีดังกล่าวว่า  ล่าสุดทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีสะเกษ รายงานข้อมูลเข้ามาเบื้องต้นว่า   ข้อมูลผู้ป่วยไม่ได้หายไปไหน มีการทำข้อมูลสำรองไว้  ส่วนที่ทางเพจโพสต์นั้น ทางผู้อำนวยการรพ.ระบุว่า มีทั้งตรงและไม่ตรงข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม ตนได้กำชับว่า ให้สรุปข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมด และชี้แจงต่อสาธารณะว่า จริงๆแล้วเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันได้มอบให้ทางผู้ตรวจราชการกระทรวงฯที่ดูแลพื้นที่ดังกล่าวลงไปตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีที่เกิดขึ้นส่วนกลางจะลงไปตรวจสอบข้อมูลด้วยหรือไม่ เนื่องจากมีคนมองว่า ผู้ที่ลบข้อมูลผู้ป่วย มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นตัวประกันต่อรองให้รพ. ซื้อโปรแกรมใหม่  นพ.โอภาส กล่าวว่า เรื่องนี้มอบผู้ตรวจฯลงไปดูรายละเอียดว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

ผอ.รพ.ศรีสะเกษ ตั้งคกก.สอบสวนข้อเท็จจริง ย้ำข้อมูลคนไข้ไม่ได้รั่วไหล  

ด้าน นพ.ชลวิทย์ หลาวทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีสะเกษ กล่าวว่า  ขณะนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร และใครมีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำให้ระบบข้อมูลต่างๆ ล่ม นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลยังตั้งคณะกรรมการในการดูแลข้อมูลไม่ให้เสียหาย คือ เป็นการเรียกข้อมูลสำรองที่เก็บไว้นำมาใช้ให้ทันเวลา ซึ่งตอนที่เกิดเหตุการณ์ช่วงที่ข้อมูลหาย ต้องมีการเข้าระบบระยะเวลาหนึ่ง ช่วงเวลานั้นจึงจำเป็นต้องกลับมาใช้ระบบกระดาษก่อน แต่เมื่อระบบคอมพิวเตอร์กลับมาปกติ เราจึงนำข้อมูลจากกระดาษกลับเข้าสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งขณะนี้ทุกอย่างเป็นปกติแล้ว

“ช่วงที่มีปัญหาของระบบ ทำให้คนไข้รอนาน เนื่องจากการคีย์ข้อมูลต้องกลับไปใช้กระดาษในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่เมื่อกู้ระบบได้ก็กลับคืนปกติ แต่ข้อมูลคนไข้ทั้งหมดไม่ได้หายไปไหน หรือหลุดออกไปข้างนอก ยังอยู่ในระบบแบคอัพข้อมูลอยู่ เพียงแต่การเรียกข้อมูลกลับคืนไม่ได้เรียกได้ทันที เนื่องจากเป็นรพ.ขนาดใหญ่ จึงต้องใช้เวลา” นพ.ชลวิทย์ กล่าว

ยังไม่ชัดว่า คนในทำหวังผลประโยชน์จริงหรือไม่ ขอให้รอผลการสอบสวนฯก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีมีประเด็นว่าบุคลากรในรพ.เป็นคนป่วนข้อมูลดังกล่าว เพื่อหวังส่วนต่างซื้อโปรแกรมใหม่ นพ.ชลวิทย์ กล่าวว่า อยู่ในขั้นตอนการสอบสวน จะไปโทษโดยตรงไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างอ่อนไหว อย่างระบบคอมพิวเตอร์ต้องตรวจสอบให้ดี เราไม่สามารถรู้ได้ทันทีว่าคนไหนเป็นคนทำ เพราะคนที่จะเข้าข้อมูลมีหลายระดับ ทั้งแอดมิน ทั้งแพทย์ พยาบาล สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวมองว่าไม่ใช่เกิดจากแฮกเกอร์จากภายนอก แต่เป็นระบบภายใน ซึ่งกำลังตรวจสอบเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วน

“ขอให้ผู้ป่วยและญาติว่า ข้อมูลไม่ได้รั่วไหล และไม่ได้หายไป  ซึ่งถูกเก็บไว้ในคลังข้อมูลอยู่ เพียงแต่ตอนนั้นกว่าจะเรียกข้อมูลกลับมาค่อนข้างใช้เวลานาน เนื่องจากข้อมูลชุดใหญ่ จึงทำให้ช่วงเวลาเกิดปัญหาค่อนข้างกระทบต่อผู้ป่วยในการรอนาน ซึ่งตอนที่เกิดเหตุ อย่างเกิดตอนเช้า และสามารถทำข้อมูลกลับมาเป็นปกติได้ในช่วงบ่าย” ผอ.รพ.ศรีสะเกษ กล่าว

 

ย้ำ! ผู้ป่วย ญาติไม่ต้องกังวล ข้อมูลไม่รั่วไหลไปภายนอก

นพ.ชลวิทย์ กล่าวอีกว่า ขอย้ำว่าผู้ป่วยไม่ต้องกังวลกรณีที่เกิดขึ้น เพราะข้อมูลไม่ได้รั่วไหล ส่วนเรื่องของปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากบุคคลภายในหรือไม่ ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว และเรามีการวางระบบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นอีก

ผู้สื่อข่าวถามว่าการสอบสวนข้อเท็จจริงตั้งกรอบระยะเวลาเท่าไหร่จึงแล้วเสร็จ ผอ.รพ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า คณะกรรมการที่จะมาตรวจสอบเรื่องนี้ เป็นองค์กรจากภายนอก เพื่อความโปร่งใส จะไม่มีการสอบสวนกันเอง จึงขึ้นอยู่กับว่าคณะกรรมการที่มาสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้  

 

ข่าวเกี่ยวข้องอัปเดต: ปลัดสธ.ขีดเส้น 2 สัปดาห์ ตรวจสอบปมข้อมูลคนไข้ รพ.ศรีสะเกษ เดินหน้า Big Data จัดระบบมาตรฐานกลาง