“แอปพลิเคชันคลิกนิก”เผย ประชาชนตอบรับบริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 42 กลุ่มโรค ผ่านระบบเทเลเมดิซีนดีมากๆ เตรียมพร้อมจำนวนแพทย์และจุดกระจายยา รองรับการขยายพื้นที่ให้บริการใน 5 จังหวัดปริมณฑล หวังรักษามาตรฐานผู้ป่วยได้วิดีโอคอลกับแพทย์ทุกเคส-ระยะเวลาจัดส่งยาเกิน 3 ชม. เหมือนใน กทม.
วันที่ 22 ก.ค. 2566 นายนีล นิลวิเชียร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คลิกนิกเฮลท์ จำกัด ผู้ให้บริการเทเลเมดิซีนผ่านแอปพลิเคชันคลิกนิก (Clicknic) กล่าวถึงภาพรวมการนำร่องให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 42 กลุ่มโรค (Common Illnesses) แก่ผู้มีสิทธิบัตรทองในพื้นที่ กทม. ผ่านระบบเทเลเมดิซีนว่า คลิกนิกเริ่มให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 และพบว่าได้รับการตอบรับจากประชาชนดีมาก อัตราการรับบริการซ้ำค่อนข้างสูง แม้แต่ผู้ใช้สิทธิประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการก็สะท้อนมาว่าอยากให้กองทุนสุขภาพของตัวเองเปิดให้รับบริการผ่านระบบเทเลเมดิซีนบ้างอีกด้วย
นายนีล กล่าวต่อไปว่า การให้บริการช่วง 1-2 เดือนแรก การตอบรับยังไม่ค่อยดีนักเพราะประชาชนยังไม่คุ้นเคย ยังสงสัยว่าบริการนี้คืออะไร มีเพียงกลุ่มผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ที่รับการดูแลจากคลิกนิกเข้ามารับบริการบ้างแต่ก็ยังเป็นกลุ่มเล็กๆ อย่างไรก็ดี จุดเปลี่ยนอยู่ในเดือนที่ 3 หลังเปิดให้บริการ ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบมากขึ้น และเมื่อประชาชนได้ลองเข้ามารับบริการแล้วรู้สึกเซอร์ไพรส์ ทำให้การตอบรับดีขึ้นอย่างมาก
“เขารู้สึกว้าว เพราะบริการของคลิกนิกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่นตรงที่จะได้วิดีโอคอลกับแพทย์ทุกเคส ไม่มีคุยผ่านแชท ทำให้คนไข้ประทับใจและมั่นใจในการกลับมารับบริการซ้ำ ทำให้เกิดการบอกต่อและอัตราการใช้บริการซ้ำสูง และถ้าดูจากคอมเมนต์จะพบว่านอกจากคอมเมนต์ในทางบวกแล้ว ยังมีอีกกลุ่มคือสิทธิประกันสังคมและข้าราชการที่สะท้อนเข้ามาว่าอยากใช้บริการเทเลเมดิซีนบ้าง”นายนีล กล่าว
นายนีล กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีผู้ใช้สิทธิบัตรทองใน กทม. รับบริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยผ่านคลิกนิกแล้วประมาณ 30,000 ราย ซึ่งถ้ามองว่าเป็นครั้งแรกของการนำเทเลเมดิซีนมาใช้กับโรคทั่วไปก็ถือเป็นตัวเลขที่น่าประทับใจ เพราะคนทั่วไปจะป่วยเฉลี่ย 4 ครั้ง/ปี และจากที่เก็บสถิติมาพบว่า 2 ครั้งจะรับบริการผ่านเทเลเมดิซีน ส่วนใหญ่คือกลุ่มอาการปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ แสบจมูก ตาแดง ไข้หวัด กลุ่มนี้มักกลับมารับบริการบ่อย ขณะที่อีก 2 ครั้งอาจป่วยหนักต้องเข้าไปรับบริการในโรงพยาบาล ซึ่งตัวเลข 2 จาก 4 คิดว่าเป็นตัวเลขที่ดี อย่างน้อยช่วยลดความหนาแน่นในโรงพยาบาลได้ครึ่งหนึ่งในผู้รับบริการกลุ่มนี้
“เราพบว่ามีผู้ป่วย 3 กลุ่มที่ใช้บริการกับเรา คือ 1.เด็กนักเรียน/วัยก่อนทำงาน กลุ่มนี้ใช้งานง่าย มีความเก่งทางด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว 2.กลุ่มอาชีพอิสระ เช่น ไรเดอร์ คนขับแท็กซี่ ฯลฯ ที่ไม่มีประกันสังคม กลุ่มนี้ก็มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีค่อนข้างดี และ 3.ผู้สูงอายุ 55 ปีขึ้นไป กลุ่มนี้มีความต้องการบริการสูงและมีการใช้บริการซ้ำมากที่สุด แต่อาจต้องให้เวลากลุ่มนี้ในการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งเชื่อว่าถ้ามีการเรียนรู้วิธีการใช้งานมากขึ้นๆ กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มหลักที่ใช้งานซ้ำ”นายนีล กล่าว
นายนีล กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้ สปสช. มีนโยบายขยายพื้นที่นำร่องให้บริการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 42 กลุ่มอาการ เพิ่มเติมจากใน กทม. ไปยัง 5 จังหวัดปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ซึ่งในส่วนของคลิกนิกเอง มีจุดเด่นตรงที่ 1.ได้วิดีโอคอลกับแพทย์ทุกเคส 2.ระยะเวลาในการจัดส่งยา เฉลี่ยแค่ 3 ชม. เพราะฉะนั้น เมื่อ สปสช.ขยายพื้นที่บริการเพิ่ม คลิกนิกจึงมุ่งมั่นว่าจะต้องจัดบริการให้ได้ระยะเวลาในการพบแพทย์ ระยะเวลาการจัดส่งยา เหมือนใน กทม. ด้วย ดังนั้น สิ่งที่ต้องเตรียมการเพิ่มคือเพิ่มจำนวนแพทย์เพื่อให้เพียงพอผู้ป่วยได้วิดีโอคอลคุยกับแพทย์ทุกคน รวมทั้งเพิ่มจำนวนจุดกระจายยาในพื้นที่ปริมณฑล เพื่อให้สามารถรักษาเวลาจัดส่งยาภายใน 3 ชม.ได้
ทั้งนี้ สิ่งที่อยากเสนอแนะเพิ่มเติมคือ อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับประกันสังคมและข้าราชการเปิดรับบริการเทเมเมดิซีน เพราะถ้าไปดูคอมเมนต์ในคลิกนิก จะเห็นว่าผู้ใช้สิทธิของทั้ง 2 กองทุนนี้อยากให้บริการเทเลเมดิซีนมากๆ และในระยะที่ผ่านมา การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ให้กับ สปสช. ก็พิสูจน์แล้วว่าเทเลเมดิซีนใช้งานได้จริง สะดวก และลดภาระแพทย์ในโรงพยาบาล ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ อยากให้ทั้ง 2 กองทุนเปิดโอกาสให้ผู้มีสิทธิของตนได้ใช้บริการเทเลเมดิซีนดูบ้าง
ทั้งนี้ ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองหรือบัตร 30 บาท ที่อยู่ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล 5 จังหวัดดังกล่าว (ไม่ว่าสิทธิบัตรทองจะอยู่ที่จังหวัดใดก็ตาม) หากมีอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดศีรษะ เจ็บตา ปวดคอ คัดจมูก ไข้หวัด กล้ามเนื้ออักเสบ ภูมิแพ้ ลมพิษ ไซนัส และโควิด 19 เป็นต้น สามารถใช้บริการการแพทย์ทางไกล พบหมอออนไลน์ จัดส่งยาถึงบ้านได้ที่ แอปพลิเคชัน Clicknic (คลิกนิก) โดยคลิกนิกเฮลท์คลินิกเวชกรรม สอบถามเพิ่มเติม ไลน์ไอดี @clicknic
- 999 views