กรมสุขภาพจิตเผยกรณีครม.เห็นชอบยกเลิก “โรคจิต-โรคอารมณ์ผิดปกติ” ออกจากโรคต้องห้ามเข้ารับราชการ หลักการไม่เปลี่ยนแปลงมาก เพราะข้อเท็จจริงหากมีอาการเด่นชัดรุนแรงไม่สามารถสอบเข้าระบบได้ ส่วนที่เป็นภายหลังรับราชการ จริงๆมีทุกอาชีพ มีเครื่องแบบหรือไม่มี ล้วนเสี่ยงได้ แต่ติดที่คนรอบข้างปล่อยให้เขาเดินหน้าความเสี่ยงเรื่อยๆ สิ่งสำคัญต้องใส่ใจและช่วยเหลือกัน

 

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมอนุมัติร่างกฎ ก.พ. ยกเลิกโรคจิต-โรคอารมณ์ผิดปกติ ออกจากโรคต้องห้ามในการรับราชการ ว่า โดยหลักการปฏิบัติยังคงคล้ายเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงมาก โดยทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เคยเสนอเรื่องนี้ไปแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งสร้างความฮือฮามาก เป็นการพิจารณานำถ้อยคำว่า "การกำหนดให้โรคจิต (Psychosis) หรือโรคอารมณ์ผิดปกติ(Mood Disorder) ที่ปรากฎอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรังและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่" ออก หากมองในทางปฏิบัติ ถ้าเป็นการสอบเข้าระบบราชการ แล้วผู้สมัครสอบมีความเจ็บป่วยด้วยโรครุนแรง หรือเรื้อรั้ง การจะสามารถสอบผ่านนั้นค่อนข้างยากอยู่แล้ว หรือหากเป็นกระบวนการสอบสัมภาษณ์ที่ต้องมีใบรับรองแพทย์ประกอบ ซึ่งหากผู้สมัครสอบมีข้อบ่งชี้ว่าเจ็บป่วยรุนแรง เช่น หูแว่ว แพทย์จะต้องระบุไว้ในข้อมูลการตรวจร่างกาย หรือใบรับรองแพทย์ ซึ่งคณะกรรมการที่สัมภาษณ์นำไปพิจารณาได้

 

เมื่อถามถึงหลายคนมองว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม ส่วนหนึ่งเกิดจากข้าราชการ เช่น ทหาร ตำรวจ หรือผู้ที่สามารถครอบครองอาวุธได้ ถ้าหากตัดเกณฑ์นี้ออกจะเกิดปัญญาภายหลังหรือไม่ พญ.อัมพร กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตเกิดขึ้นกับใครก็ได้ เวลาใดก็ได้ ดังนั้น การสรุปเป็นครั้งๆ แล้วไปเหมารวม ก็อาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้

 

"ไม่ว่าคนมีเครื่องแบบ คนมีหรือไม่มีอาวุธ ถ้าเราไปเผชิญกับสิ่งที่รุมเร้าก็จะเกิดปัญหาได้ ซึ่งทางที่ดีคือทุกองค์กร ควรดูแลและสนับสนุนให้บุคลากรมีสุขภาพจิตที่ดี เมื่อไหร่ที่พบผู้มีความเสี่ยง ก็จะต้องมีการช่วยเหลือแก้ไข ซึ่งเราย้ำเสมอว่าผู้ป่วยจิตเวชรักษาได้

 

ถามย้ำว่าปัญหาความรุนแรงที่เกิดจากภาวะทางสุขภาพจิต อาจเกิดขึ้นภายหลังที่เข้ามาทำงานแล้วหรือไม่ พญ.อัมพร กล่าวว่า  ใช่ แต่สิ่งที่น่าเสียดายไม่ว่าจะเกิดก่อนหรือเกิดหลัง คือ คนรอบข้างปล่อยให้เขาเดินหน้าเข้าสู่ความเสี่ยงเรื่อยๆ ดังนั้นความใส่ใจและการช่วยเหลือดูแลกันเป็นยาวิเศษของงานสุขภาพจิต และเป็นตัวป้องกันความรุนแรงได้ในทุกมิติ

 

เมื่อถามว่าทุกหน่วยงานควรจะมีการดูแลสุขภาพจิตของคนในองค์กรอย่างไร พญ.อัมพร กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตพยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่ เช่นการหารือร่วมกับกระทรวงแรงงาน เพื่อดูว่าพอจะสามารถออกกฎกระทรวง หรือพระราชกฤษฎีกาตรงไหนบ้างเพื่อมาดูแลเรื่องนี้ได้ หรือการนำบัญญัติสถานประกอบการ ที่จริงๆ มีการระบุว่าสถานประกอบการต้องดูแลสุขภาพจิตของคนทำงาน แต่อาจจะไม่ได้เป็นข้อกำหนดที่เป็นการกำหนดโทษ เป็นเพียงคำแนะนำด้านการส่งเสริมสุขภาพ ดังนั้น เราอาจต้องนำเรื่องนี้มาทำให้เกิดรูปธรรม ซึ่งปัจจุบันกระทรวงแรงงานก็ได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้แล้ว จึงมีสถานประกอบการต้นแบบอยู่หลายแห่ง ขณะเดียวกันก็จะต้องหารือร่วมกับสำนักงานประกันสังคม กองทุนสำหรับดูแลผู้ประกันตนให้เข้ามาช่วยเรื่องนี้ด้วย

 ข่าวเกี่ยวข้อง : ​ครม.อนุมัติร่างกฎ ก.พ. ยกเลิกโรคจิต-โรคอารมณ์ผิดปกติ ออกจากโรคต้องห้ามในการรับราชการ