รองเลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี เยี่ยมชม ‘การตรวจ DNA ให้กับคนไร้สถานะ’ โดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ นำร่องเก็บสิ่งส่งตรวจสารพันธุกรรมใน ‘โครงการพัฒนาเครือข่ายการจัดเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร’ ช่วยให้กระบวนการขอรับบัตรประชาชน-เข้าถึงสิทธิบัตรทองได้เร็วขึ้น
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา รศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.สุรทิน มาลีหวล ผอ.สปสช.เขต 6 ระยอง ลงพื้นที่ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เพื่อเยี่ยมชมการพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะ ภายใต้ “โครงการพัฒนาเครือข่ายการจัดเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร” ที่ดำเนินการโดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยมี พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และทีมสหวิชาชีพให้การต้อนรับ สรุปภาพรวม ตลอดจนร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล
สำหรับโครงการพัฒนาเครือข่ายการจัดเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร เป็นผลสืบเนื่องจากบันทึกความร่วมมือ (MOU) เมื่อปี พ.ศ. 2564 ของ 9 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และ สปสช. เพื่อบูรณาการความร่วมมือดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ยังเข้าไม่ถึงบริการในระบบบัตรทอง
นายธรรมรัฏฐ์ งามแสง นายอำเภอนาดี จ.ปราจีนบุรี เปิดเผยว่า พื้นที่ อ.นาดี มีผู้ที่มีปัญหาสิทธิสถานะที่ถูกตรวจสอบ โดยรายที่มีปัญหาและได้รับการแก้ไขปัจจุบันคือ กรณีของ น.ส.หนึ่ง ลำพอง ที่มีสมาชิกผู้มีปัญหาสิทธิสถานะในครอบครัวจำนวนมากถึง 8 ราย ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการเข้าถึงการดูแลรักษาจากระบบสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่ารักษาพยาบาล หรือเรื่องของสิทธิที่ควรได้รับจากรัฐบาล
ทั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมามีการพิสูจน์สิทธิสถานะ โดยใช้วิธีการดูเอกสารหลักฐานต่างๆ ดังนั้นผู้ที่มีรายชื่อตกหล่นก่อนจะได้สัญชาติไทยต้องมีหลักฐาน และต้องมีการทดสอบพยานบุคคล แต่ผู้คนเหล่านี้ส่วนมากมักจะไม่มีพยานหลักฐานจึงทำให้ประสบปัญหาเรื่องเอกสารและไม่มีพยานบุคคล
นายธรรมรัฏฐ์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันได้มีการเกิดวิธีการตรวจสารพันธุกรรม (DNA) เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถช่วยได้มาก และสามารถตรวจสอบได้ง่าย เพราะผลลัพธ์ทางวิทยาศาสตร์จะเป็นตัวช่วยยืนยันว่าบุคคลดังกล่าวคือใคร มีความสัมพันธ์อย่างไรในครอบครัว
อย่างไรก็ตาม ในอดีตการที่จะได้เข้ารับการตรวจ DNA จะต้องมีการเดินทางเข้าไปตรวจ ที่ส่วนกลางหรือกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงทำให้มีประชาชนไม่สามารถเดินทางเพื่อรับการตรวจ DNA ได้ แต่ปัจจุบันได้มีการตรวจ DNA ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ทำให้ประชาชนเกิดความสะดวกสบายมากขึ้น อีกทั้งสามารถลดเวลาในการดำเนินการ จากอดีตที่เคยดำเนินการยาวนานประมาณ 1 ปีให้เหลือระยะเวลาเพียง 5-6 เดือน
พญ.โศรยา เปิดเผยว่า โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเริ่มต้นเข้าร่วมโครงการจากการที่มีเจ้าหน้าที่นักสังคมสงเคราะห์เข้ามาปรึกษาถึงปัญหาผู้ป่วยที่มีปัญหาสิทธิสถานะต้องเข้ารับการรักษาและมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสูง อีกทั้งไม่สามารถเข้าร่วมสิทธิบัตรทองได้ เนื่องจากขาดหลักฐานแสดงตัวตน
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวต่อไปว่า โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรมีการตรวจยืนยันตัวตนด้วย DNA ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ในขณะนั้นต้องมีการพาผู้ป่วยที่มีปัญหาสิทธิสถานะเดินทางไปยังกรุงเทพฯ เพื่อเข้ารับการยืนยันตัวตน และพบว่ามีค่าใช้จ่ายและความยุ่งยากในการดำเนินการสูง จึงได้มีการปรึกษาหารือร่วมกันถึงวิธีการแก้ปัญหา
“โรงพยาบาลมองว่าการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ไม่เฉพาะแค่การรักษาอย่างเดียว แต่รวมถึงให้กลุ่มนี้ได้เข้าถึงสิทธิอีกด้วย โดยได้ประสานงานกับหลายหน่วยงาน ทั้ง สปสช. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อผลักดันให้ได้รับบัตรประชาชนและเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลนำร่องพิสูจน์อัตลักษณ์สามารถผลักดันให้ผู้มีปัญหาสิทธิสถานะเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ตัวตนและได้รับบัตรประชาชนไปแล้ว 61 ราย” พญ.โศรยา กล่าว
ด้าน รศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า สปสช. ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นแห่งแรกที่มีการรับหน้าที่เป็นศูนย์ในการเก็บตัวอย่าง DNA ส่งตรวจ ซึ่งจะเห็นว่าผู้ที่มีปัญหาสิทธิสถานะส่วนใหญ่มักจะเป็นคนยากจนหรือคนที่ด้อยโอกาส ซึ่งแม้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์มีนโยบายช่วยเหลือและมีโครงการตรวจ DNA โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ที่ผ่านมายังมีอุปสรรคที่ผู้เข้ารับการตรวจ DNA เพราะต้องเดินทางมาตรวจที่กรุงเทพฯ ทำให้หลายรายไม่มีค่าเดินทางเพียงพอ กลายเป็นอีกอุปสรรคหนึ่งในการเข้าถึงบริการ
ดังนั้น การที่มีโรงพยาบาลในพื้นที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ในการตรวจ DNA จึงช่วยลดอุปสรรคเรื่องการเดินทาง อีกทั้งทำให้กระบวนการตรวจ DNA รวดเร็วขึ้น ซึ่งช่วยลดระยะเวลาในการได้บัตรประชาชน และสิทธิการรักษาพยาบาลในระบบบัตรทอง รวมถึงอีกส่วนสำคัญในการดำเนินการในครั้งนี้ คือ เครือข่ายการปกครองและเครือข่ายยุติธรรมประจำจังหวัดที่สนับสนุนเอื้ออำนวยให้บุคคลที่มีปัญหาเหล่านี้สามารถเข้าถึงสิทธิของตนเองได้ ไม่ใช่เพียงสิทธิทางสาธารณสุขอย่างเดียว แต่ยังได้สิทธิสวัสดิการทางสังคมอีกด้วย
“ขอเชิญชวนประชาชนที่ยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนแต่มั่นใจว่าตนเองเป็นคนไทย มาเข้าสู่ขบวนการ ซึ่งสามารถทำได้โดยการเดินทางไปที่หน่วยงานสังคมสงเคราะห์ในแต่ละจังหวัด หรือเข้าพบหน่วยงานภาคประชาชนที่เรียกว่าหน่วย 50(5) ที่เป็นหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนอิสระ เพื่อที่จะพาท่านเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ตัวตนต่อไป” รศ.ภญ.ยุพดี กล่าว
- 505 views