เลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี เยี่ยมชมการดำเนินงานตรวจ DNA โดยโรงพยาบาลในระดับพื้นที่ ช่วยผู้มีปัญหาสิทธิสถานะไม่ต้องเดินทางมาตรวจที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ใน กทม. ชี้ช่วยให้กระบวนการขอรับบัตรประชาชนและเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพได้เร็วขึ้น หนุนขยายโมเดลนี้ไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ

วันที่ 7 ธ.ค. 2564 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  เดินทางไปที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี เพื่อเยี่ยมชมแนวทางการดำเนินงานการพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะ ซึ่งโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นโรงพยาบาลนำร่องในการทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ในการพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้มีปัญหาสิทธิสถานะ กรณีต้องตรวจ DNA โดยสามารถตรวจ DNA ในพื้นที่ได้โดยไม่ต้องเดินทางมาตรวจที่ส่วนกลาง ซึ่งจะทำให้กระบวนการขอรับบัตรประชาชนรวดเร็วขึ้น โดยมี พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และทีมสหวิชาชีพ ต้อนรับ

นพ.จเด็จ กล่าวว่า การมีบัตรประชาชน เป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพตลอดจนสวัสดิการอื่นๆ ที่รัฐจัดให้ ขณะที่นโยบายของ สปสช. ให้ความสำคัญกับการผลักดันการเข้าถึงสิทธิของประชากรกลุ่มเปราะบางซึ่งรวมถึงคนไร้สิทธิสถานะด้วย ที่ผ่านมา สปสช. ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านนี้ เช่น ชมรมนักสังคมสวเคราะห์ทางการแพทย์​ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ตลอดจนกลไกของ สปสช. คือหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50(5) ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ รวมทั้งหน่วยบริการและเครือข่ายภาคประชาชน อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ทำการค้นหาและช่วยเหลือให้ผู้ที่มีปัญหาสิทธิสถานะได้เข้าถึงการรักษาพยาบาล

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในขั้นตอนที่จำเป็นคือการขอรับบัตรประชาชนก่อน จึงจะมีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพได้ ซึ่งขั้นตอนนี้ต้องมีการสืบพยาน ค้นหาเอกสารหลักฐาน เพื่อยืนยันตัวตนผู้ขอรับบัตรประชาชน และในหลายกรณีจำเป็นต้องมีการตรวจ DNA ด้วย ซึ่งการตรวจ DNA มีค่าใช้จ่ายสูง เป็นอุปสรรคกับผู้มีปัญหาสิทธิสถานะซึ่งส่วนมากเป็นกลุ่มคนเปราะบาง อย่างไรก็ดี สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มีนโยบายช่วยเหลือคนกลุ่มนี้และมีโครงการตรวจ DNA โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ที่ผ่านมายังมีอุปสรรคที่ผู้เข้ารับการตรวจ DNA ต้องเดินทางมาตรวจที่ กทม. หลายรายไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง กลายเป็นอีกอุปสรรคหนึ่งในการเข้าถึงบริการ ด้วยเหตุนี้ การที่มีโรงพยาบาลในพื้นที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ในการตรวจ DNA จึงช่วยลดอุปสรรคเรื่องการเดินทาง อีกทั้งทำให้กระบวนการตรวจ DNA รวดเร็วขึ้น ได้บัตรประชาชนและได้สิทธิการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพเร็วขึ้นตามไปด้วย

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นตัวอย่างที่ดีในการนำร่องในเรื่องนี้ และหวังว่าจะขยายไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป ซึ่งจะเป็นผลดีกับทุกฝ่ายเพราะผู้มีปัญหาสิทธิสถานะสามารถเข้าถึงการตรวจ DNA ได้ในพื้นที่โดยไม่ต้องเดินทางมาที่ กทม. หรือรอเป็นเดือนหรือเป็นปีให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ออกไปตรวจเชิงรุก ขณะที่โรงพยาบาลก็จะได้ประโยชน์ด้วยอย่างมาก เนื่องจากส่วนมากกลุ่มผู้มีปัญหาสิทธิสถานะมักจะมีฐานะยากจนและเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล เมื่อเจ็บป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลหมายความว่าอาการของโรครุนแรงมากแล้ว ค่าใช้จ่ายในการรักษาก็สูงตามไปด้วย โรงพยาบาลต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้

“ดังนั้น การที่โรงพยาบาลเป็นตัวแทนช่วยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตรวจ DNA ทำให้คนกลุ่มนี้ได้บัตรประชาชนและมีสิทธิหลักประกันสุขภาพ จะทำให้โรงพยาบาลไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้อีก และ สปสช. ก็ได้ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิและบริการอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ต้องรับการสงเคราะห์อีกต่อไป” เลขาธิการสปสช.กล่าว

ด้าน พญ.โศรยา ธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า การร่วมมือเป็นตัวแทนตรวจ DNA ให้กับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เนื่องจากที่ผ่านมาโรงพยาบาลมีผู้มีปัญหาสิทธิสถานะจำนวนหนึ่งที่มารักษาแล้วโรงพยาบาลต้องให้การอนุเคราะห์ บางรายเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังซึ่งหากต้องอนุเคราะห์ต่อไปเรื่อยๆ ก็ไม่ทราบว่าจะมีจุดสิ้นสุดตรงไหน ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยเมื่อทราบค่าใช้จ่ายในการรักษาแล้วก็ไม่กล้ามาโรงพยาบาล ส่งผลให้ขาดความต่อเนื่องในการรักษา อาการยิ่งทรุดหนักลง

พญ.โศรยา กล่าวต่อว่า ด้วยเหตุนี้โรงพยาบาลจึงมองไปที่การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ไม่เฉพาะแค่การรักษาอย่างเดียว แต่รวมถึงการช่วยเหลือให้เข้าถึงสิทธิด้วย โดยได้ประสานงานกับหลายหน่วยงาน ทั้ง สปสช. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อผลักดันให้คนกลุ่มนี้ได้รับบัตรประชาชนและเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลสามารถผลักดันให้ผู้มีปัญหาสิทธิสถานะเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ตัวตนและได้รับบัตรประชาชนไปแล้ว 11 ราย

ทั้งนี้ นพ.จเด็จ ยังได้เดินทางไปเยี่ยมชมการดำเนินการตรวจ/เก็บ DNA ที่บ้านของผู้มีปัญหาสิทธิสถานะใน จ.ปราจีนบุรี รวมทั้งเยี่ยมให้กำลังใจนางราตรี ชอบหวาน ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่มีปัญหาสิทธิสถานะ ต้องเข้ารับการบำบัดทดแทนด้วยเครื่องไตเทียมและขอรับการสงเคราะห์จากโรงพยาบาล และนางสาวสมใจ เกตุสุวรรณ (ป้าสมใจ) อายุ 65 ปี ที่ไม่เคยมีบัตรประชาชน และตกสำรวจได้รับการช่วยเหลือ จนมีบัตรประชาชนและได้รับสิทธิ์ฯ ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียง

ด้าน นางสมใจ เล่าว่า รู้สึกดีใจ ตื่นเต้นมากที่มีคนมาเยี่ยมกันเยอะ ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีวันนี้ ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ช่วยเหลือจนมีบัตรประชาชนและได้ใช้สิทธิ์ต่างๆจากภาครัฐ อาศัยอยู่กับสามี และที่อยู่เป็นบ้านของน้องสาว มีลูก 2 คนไม่ได้ติดต่อกันนานแล้ว ปัจจุบันอาศัย ตำบลหน้าเมือง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรีเป็นที่ของน้องสาว เริ่มแรกมีอาการปวดท้องมาก โดยน้องสาวเป็นคนออกค่าใช้จ่ายในการรักษาให้ โดยการผ่าตัดลำไส้ แต่ไม่หาย ต้องมาผ่าตัดซ้ำ และได้พบกับภาคีเครือข่ายที่ช่วยเหลือในการให้เข้าถึงสิทธิการรักษาพยายาลในระบบหลักประกันสุขภาพตลอดจนสวัสดิการอื่นๆที่รัฐจัดให้ และทำการค้นหาและช่วยเหลือให้ผู้ที่มีปัญหาสิทธิสถานะได้เข้าถึการรักษาพยาบาล กว่าจะได้บัตรก็นานเหมือนกัน ตอนนี้ตนเดินไม่ได้ต้องมีคนช่วยเหลือตลอด ดีใจบอกไม่ถูก ป่วยมาเป็นเวลา 10 ปีแล้วผ่าตัดทั้งหมด 2 ครั้ง

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org