"หมอยงยุทธ" เผยการชุมนุมทางการเมืองส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา ถ้าไม่เกิดความเกลียดชัง แต่ทางหลักจิตวิทยาสังคม จะเรียก ความเกลียดชังว่าเป็นตัวโหมโรงก่อนที่จะเกิดความรุนแรง แนะขอเห็นต่างอย่างมีเหตุผล
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นความเห็นต่างทางการเมืองที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างบุคคล หรือสังคม ว่า ความเห็นต่างเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือ การสร้างความเกลียดชัง พยายามทำให้ความเห็นต่างเป็นเรื่องที่ไม่ดี ทั้งที่ความเห็นทางเป็นมุมมองทางออกที่แตกต่างกัน ฉะนั้น ถ้าเราต่างยอมรับความเห็นต่าง เราจะเห็นว่าคนเห็นต่างเหล่านี้คือคนรอบตัวเรา คนในที่ทำงาน เพื่อนของเราเอง ฉะนั้นเราจะเกลียดชังกันไปทำไม เราจึงต้องใช้เหตุผลมากกว่า ขณะเดียวกัน การรับรู้ข่าวสาร ควรจะรับจากแหล่งข่าวที่เป็นกลาง ให้ข้อมูลทั้งสองฝ่าย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสื่อหลักที่มีกองบรรณาธิการควบคุมดูแลอยู่
“หากเรารับสื่อเฉพาะที่เรารับอยู่ทุกวัน นำเสนอข่าวฝ่ายเราฝ่ายเดียว ก็จะยิ่งเพิ่มอารมณ์ แต่ถ้ารับรู้สื่อกลางๆ ก็จะรับรู้มุมมองของสองฝ่ายมากขึ้น แต่ไม่ถึงกับไปรับสื่อของอีกฝ่ายมากขึ้น เพราะจะยิ่งทำให้เกิดอารมณ์ร่วมมากขึ้น” นพ.ยงยุทธ กล่าว
เมื่อถามถึงประเด็นที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยคุณสมบัติการเป็น ส.ส. ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ทำให้มีทั้งผู้เห็นด้วยว่าเป็นกติกา และไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าเป็นการกลั่นแกล้ง ทำให้เกิดการชุมนุมในหลายพื้นที่ นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ตนย้ำว่าความเห็นต่างเป็นสิ่งที่ต้องพูดกันด้วยเหตุผล และไม่สร้างความเกลียดชัง เพราะถ้าเมื่อไหร่มีความเกลียดชังก็จะนำไปสู่ความรุนแรง โดย ความเกลียดชังก็เริ่มได้จากการใช้คำพูด (Hate speech) และการปล่อยข่าวลวง (Fake news)
“การชุมนุมส่วนใหญ่จะไม่มีปัญหา ถ้าไม่เกิดความเกลียดชัง แต่ในทางหลักจิตวิทยาสังคม จะเรียก ความเกลียดชังว่าเป็นตัวโหมโรงก่อนที่จะเกิดความรุนแรง ใช้กำลังกันได้ง่าย ควบคุมอารมณ์กันได้ยาก โดยเฉพาะการชุมนุมที่เกิดขึ้นจากทั้งสองฝ่าย ฉะนั้น หัวใจสำคัญคือการไม่สร้างความเกลียดชัง” นพ.ยงยุทธ กล่าวและว่า การชุมนุมควรเป็นการใช้เหตุผลเพื่ออธิบายสิ่งที่ตนเองคิด ไม่ใช่การใช้ความเกลียดชัง
ถามต่อว่าในส่วนกลุ่มคนที่รู้สึกเฉยๆ หรือเบื่อหน่ายกับการเมือง จะต้องรับมือกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างไร นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า จริงๆ คนที่เบื่อก็มีความห่วงใยบ้านเมืองว่าจะเกิดความวุ่นวาย ซึ่งจะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมสูง จริงๆ เป็นจุดยืนที่ดี เพราะคนไม่ได้เบื่อเรื่องการเมือง แต่อยากให้มีการหาทางออกที่ดี ฉะนั้น สิ่งที่คนกลุ่มนี้ทำได้คือ “2 ไม่ 1 เตือน” โดยจะต้องไม่ผลิตข้อความเกลียดชังหรือข่าวลวง และไม่ส่งต่อข้อมูลเหล่านี้ ประกอบการเตือนว่าการสร้างความเกลียดชังจะนำมาซึ่งปัญหาที่มีความรุนแรงมากขึ้น ถ้าทุกคนช่วยกันทำเช่นนี้ ไม่ว่าจะมีจุดยืนฝ่ายใด ก็จะไม่เป็นอะไร ไม่เกิดความรุนแรง
- 317 views