ประชุมคณะอนุกรรมการเร่งรัดกำจัดโรคไข้มาลาเรีย ตั้งผู้ว่าราชการ 6 จังหวัด Hot Zone ชายแดนไทย-เมียนมากำจัดโรค ขณะที่ปัญหา “ไข้เลือดออก” ยังเพิ่มสูง ป่วยแล้ว 3.1 หมื่นราย เสียชีวิต 33 ราย สัปดาห์ล่าสุดเพิ่มขึ้นถึง 3 พันราย เน้นรู้เร็วรักษาเร็ว เผยมีชุดตรวจเร็วช่วยรู้ผลไว ทำได้ที่ รพ.สต.   เดินหน้าทำ Dead Case Conference สอบสวนการตายทุกรายให้เสร็จใน 3 วัน หวังปิดจุดอ่อน ช่วยควบคุมโรคเร็วขึ้น  

 

ตั้งผู้ว่าราชการฯ 6 จังหวัด Hot Zone ชายแดนไทย-เมียนมากำจัดโรคมาลาเรีย

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม  นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการเร่งรัดกำจัดโรคไข้มาลาเรีย ครั้งที่ 3/2566 ว่า คณะอนุกรรมการเร่งรัดกำจัดโรคไข้มาลาเรียถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยควบคุมและกำจัดโรคมาลาเรีย เนื่องจากมีการตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดใน 6 จังหวัดที่เป็น Hot Zone เป็นชายแดนไทย-เมียนมา เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานกำจัดโรคมาลาเรีย ทำให้การดำเนินงานมีความเข้มแข็ง เพราะเมื่อผู้ว่าฯ เป็นกรรมการในชุด ก็จะไปขับเคลื่อนผลักดันต่อผ่านคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด นอกจากนี้ เรายังได้รับความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) ในการติดต่อกับทางเมียนมามาร่วมกันพูดคุยหารือในการจัดการโรคมาลาเรีย ซึ่งล่าสุดทางรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมียนมาก็ได้นำคณะมาร่วมพูดคุยกันว่าจะจัดการอย่างไร เพราะโรคมาลาเรียเป็นเรื่องระหว่างชายแดนด้วย

มาลาเรียขาขึ้น โดยเฉพาะชายแดนไทย-เมียนมา

ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคมาลาเรียขณะนี้ยังเป็นขาขึ้น แต่ไม่ได้ขึ้นเร็วมากนัก โดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งเราใช้กลไกคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด โดยเฉพาะทั้ง 6 จังหวัดดังกล่าวมาช่วยกันดำเนินการ สำหรับที่ประชุมวันนี้มีการหารือความร่วมมือระหว่างไทย-เมียนมามากขึ้น ซึ่งรองปลัด สธ.เมียนมาและคณะเพิ่งมาเยือนไทยและพูดคุยถึงแผนงานควบคุมมาลาเรียที่ชายแดน เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูล การเร่งรัดการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ทั้งสองฝั่ง ซึ่งตรงนี้ต้องต่างคนต่างช่วยกัน หรือหากมีต่างด้าวเข้ามาเราจะช่วยในการคัดกรองและรักษาเช่นเดียวกัน ก็หวังว่าการจัดการคู่กันทั้งสองฝั่งจะช่วยการควบคุมโรคสำเร็จเร็วขึ้น

คร.ห่วงไข้เลือดออกพุ่งสูงมาก เร่งรัดมาตรการควบคุม

 

เมื่อถามถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกที่เพิ่มมากขึ้น นพ.ธเรศกล่าวว่า เรื่องนี้มีการประชุมในศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านสาธาณสุข (อีโอซี) เมื่อเช้าวันนี้ ล่าสุด ตัวเลขผู้ป่วยไข้เลือดออกของไทยอยู่ที่ประมาณ 3.1 หมื่นคน ถือว่าสูงมาก โดยสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นประมาณ 3 พันคน ทั้งนี้ เรามีการทำงานร่วมกันทุกจังหวัดอยู่แล้วที่ให้มีการทำ Mapping และวิเคราะห์สถานการณ์ จึงได้เร่งรัดมาตรการคือ 1.การควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เราพบว่า โรงเรียน รพ. และโรงงาน ยังมีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูง จึงขอให้เร่งรัดลงไปดูและจัดการ โดยเฉพาะที่วัด ซึ่งมีค่าดีชนีลูกน้ำยุงลายสูงมาก เราลงไปดูในพื้นที่และแจ้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ให้ช่วยกันดำเนินการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในวัด

 

และ 2.การลดการเสียชีวิต ขณะนี้มีผู้เสียชีวิต 33 ราย จึงเน้นย้ำถ้าเป็นไข้เลือดออกแล้ววินิจฉัยเร็ว รักษาเร็วก็จะช่วยลดการเสียชีวิตลงได้ โดยหากมีอาการกินยาลดไข้แล้วไม่ลง มีอาการเข้าได้กับไข้เลือดออก เช่น ตัวแดง เป็นต้น ขอว่าอย่าทิ้งไว้นาน ให้รีบไปรับการรักษา ซึ่งเรามีชุดตรวจวินิจฉัยเร็ว ซึ่งสามารถตรวจได้ที่ รพ.สต. เรามีการกระจายชุดตรวจลงไปที่จังหวัดและลงไปถึง รพ.สต.แล้ว โดยในการประชุมวิชาการ Dengue Effective for Treatment and Prevention เมื่อวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่มีการอัปเดตไกด์ไลน์แนวทางการรักษาให้แก่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ก็ได้เน้นย้ำในเรื่องของการวินิจฉัยเร็วและการใช้ชุดตรวจวินิจฉัยเร็วด้วย การดูแลรักษาและป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างมีประสิทธิภาพ คือ ถ้าเป็นและรีบรักษาเร็ว ก็จะไม่เข้าสู่กลุ่มอาการช็อก จนทำให้เกิดการเสียชีวิต สำคัญคือไม่ไปซื้อยากลุ่มเอ็นเสด หรือยาแอสไพรินกิน เพราะจะทำให้เลือดออกง่าย

หาสาเหตุเสี่ยงโรคไข้เลือดออก

ถามถึงการดำเนินการหาสาเหตุเสี่ยงของโรคไข้เลือดออก (Dead Case Conference) นพ.ธเรศกล่าวว่า ถือเป็นเครื่องมือสำคัญหนึ่ง ที่เมื่อมีคนป่วยไข้เลือดออกเสียชีวิต เราจะได้รู้สาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร เดิมปรากฏว่าบางพื้นที่ไปยึดว่า จะต้องทำกระบวนการทางคลินิก เราสื่อสารว่าอยากให้ไปทำ Dead Case ด้าน Public Health สอบสวนโรคและที่มาง่ายๆ ไม่ต้องไปทำวิเคราะห์อย่างละเอียด เพียงแค่ให้รู้คำตอบว่าจุดอ่อนคืออะไร ปัญหาอยู่ที่ไหน ขอความร่วมมือว่าให้เสร็จในสัก 3 วัน เพื่อจะได้ควบคุมโรคในพื้นที่นั้นได้อย่างรวดเร็วและประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น ซึ่งขณะนี้มีการดำเนินการไปแล้วตอน 20 กว่าราย ซึ่งจากการสอบสวนหาสาเหตุผู้เสียชีวิตก็ยังเป็นปัจจัยเดิมๆ คือ วินิจฉัยช้า รักษาช้า บางคนไปกินยากลุ่มเอ็นเสด โดยพบผู้เสียชีวิตในผู้ใหญ่มากขึ้นและสูงกว่าในเด็ก อาจมีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง แต่อย่างหนึ่งคือเพราะผู้ใหญ่คิดว่าไข้เลือดออกเป็นโรคในเด็ก คิดว่าตนเองแข็งแรงจึงทิ้งไว้นาน

 

ถามว่าปกติจะรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายก่อนฤดูฝน การมาเน้นกำจัดช่วงฤดูฝนแล้ว ยังได้ผลดีอยู่หรือไม่ นพ.ธเรศกล่าวว่า ยังได้ผล จริงๆ เราทำกับทุกจังหวัดมาตั้งแต่หลังโควิดใหม่ๆ เราเริ่มเห็นสถานการณ์ไข้เลือดออก แต่ปีนี้เป็นไปตามวงรอบ คือ 2-4 ปีก็จะระบาดสูงขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง ซึ่งทีมก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี ซึ่งอย่างที่ย้ำว่ามาตรการตอนนี้คือ รู้เร็วรักษาเร็ว จัดการแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งต้องขอเน้นย้ำประชาชนถึงการจัดการโรคไข้เลือดออกว่า เป็นการดูแลที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม ต้องร่วมกันทำในบ้านตนเอง ไปจัดการแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทั้งหมด พวกแจกัน ตู้กับข้าว โอ่งน้ำรอบบ้าน และฉีดพ่นยากันยุง ถ้าทุกคนทำก็จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคนี้ลง