ปลัดสธ.เผยผู้ป่วยฝีดาษวารนเพิ่มสูงขึ้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่หายเอง ย้ำ! เป็นโรคป้องกันได้ อย่ามีเซ็กซ์ไม่ปลอดภัย   ขณะที่สถานการณ์โรคไข้เลือดออกเพิ่มเรื่อยๆ ปี 66 ป่วยสะสมแล้ว 2.7 หมื่นราย สูงกว่าปีที่แล้ว 3 เท่า เสียชีวิต 23  เตือนเคยป่วยแล้วยังป่วยอีกได้ และอาการอาจรุนแรงมากขึ้น ควรป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัดดีที่สุด

 

ปลัดสธ.เผยฝีดาษวานร แม้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่หายเอง และเป็นโรคป้องกันได้

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม  ที่กระทรวงสาธารณสุข   นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรหรือฝีดาษลิงที่พบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ว่า มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นไปตามที่คาดการณ์ แต่ส่วนใหญ่จะหายได้เอง และอาการไม่รุนแรง แต่ที่น่าเป็นห่วงและกรมควบคุมโรคให้ข้อมูลมา คือ ส่วนหนึ่งผู้ที่ติดเชื้อฝีดาษวานรเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เพราะฉะนั้น การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง คงเน้นย้ำในจุดนั้น ส่วนคนที่ไม่ได้มีพฤติกรรมเสี่ยงในเรื่องของเพศสัมพันธ์ ก็จะไม่มีผลกระทบอะไรมากนัก และโรคนี้ไม่ได้ติดกันง่าย ต้องมีการอยู่กันอย่างใกล้ชิดหรือมีเพศสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และผู้ติดเชื้อก็จะมีอาการค่อนข้างเห็นได้ชัด คือ มีตุ่ม ต่างจากกับพวกหวัดหรืออาการทางเดินหายใจ ที่จะไม่มีอาการบอกคนไหนแพร่เชื้อ ขอให้ระมัดระวัง

 

"โรคนี้เป็นโรคที่ไม่ได้รุนแรง ยังไม่มีรายงานของผู้เสียชีวิตในประเทศไทย แต่ก็อย่าประมาท โดยเฉพาะคนที่มีภูมิต้านทานที่ไม่ค่อยดีนัก ก็ให้หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย และให้สังเกตผู้ที่มีอาการเป็นตุ่มก็ให้หลีกเลี่ยง" นพ.โอภาสกล่าว

สถานการณ์ไข้เลือดออกเพิ่มสูงป่วยสะสม 27,377 ราย เสียชีวิต 23 ราย

นพ.โอภาส ยังกล่าวเตือนถึงโรคไข้เลือดออก ที่พบผู้ป่วยสูงขึ้น ว่า  กรมควบคุมโรคได้รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออก พบว่าขณะนี้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2566 ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1-25 มีผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม 27,377 ราย อัตราป่วยคิดเป็น 41.37 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 23 ราย อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.08 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งพบผู้ป่วย 9,736 ราย อัตราป่วย 17.46 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 7 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 0.09 จำนวนผู้ป่วยสูงกว่าถึง 3 เท่า และมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้เสียชีวิตสะสมพบทั้งกลุ่มเด็กและผู้ใหญ่

อย่าเชื่อ! หากป่วยไข้เลือดออกซ้ำอาการจะไม่รุนแรง ไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่มีความเชื่อว่าเมื่อเคยป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว หากป่วยอีกอาการจะไม่รุนแรงนั้น ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด เนื่องจากเชื้อไวรัสเดงกีที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ซึ่งแต่ละปีสายพันธุ์ที่ระบาดอาจแตกต่างกัน การติดเชื้อครั้งแรกอาการอาจจะไม่รุนแรงมากนัก แต่การติดเชื้อครั้งที่สอง อาจมีอาการรุนแรงขึ้นในทุกสายพันธุ์ โดยเฉพาะหากเป็นการติดเชื้อคนละสายพันธุ์กับครั้งแรก ส่วนวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกขณะนี้ยังไม่ได้นำมาใช้ในการป้องกันโรคเป็นหลักแม้ในการทดลองจะได้ผลดีในบางสายพันธุ์  ซึ่งเมื่อฉีดวัคซีนในบางคนที่เคยติดเชื้อมาแล้ว จะเหมือนเป็นการติดเชื้อครั้งที่สอง หรือคนที่ไม่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้วฉีดวัคซีน เมื่อติดเชื้อไข้เลือดออกอาจจะทำให้อาการรุนแรง

วิธีป้องกันไข้เลือดออกดีที่สุด คือ ไม่ให้ถูกยุงลายกัด

นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า วิธีที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัด ร่วมกับการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยได้กำชับให้ทุกเขตสุขภาพกำกับติดตามการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่พบผู้ป่วยไข้เลือดออก ผู้ป่วยเสียชีวิตและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทานได้แจ้งผ่านกระทรวงมหาดไทย ให้ทุกจังหวัดจัดกิจกรรมทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในชุมชน วัด ศาสนสถาน ซึ่งพบค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูง และให้ อปท. สนับสนุนทรัพยากร สำหรับประชาชน ขอให้ใช้มาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง เพื่อไม่ให้ยุงลายพักอาศัย, เก็บขยะและเศษภาชนะที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และเก็บน้ำให้มิดชิด ปิดฝาภาชนะ หรือเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน หรือปล่อยปลากินลูกน้ำ หรือใส่ทรายฆ่าลูกน้ำยุงลาย ซึ่งป้องกันได้ทั้งไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย และไข้ซิกา รวมทั้งป้องกันการถูกยุงกัด ด้วยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด นอนในมุ้ง ใช้ยาจุดกันยุง หรือทายาป้องกันยุง