สพฉ. ชี้แจงปัญหาการจ่ายค่าชดเชยล่าช้า  

จากที่มีประเด็นการร้องเรียนของอาสาสมัครหน่วยกู้ชีพ เกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยการปฏิบัติการล่าช้า ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติการของหน่วยกู้ชีพทั่วประเทศนั้น สพฉ. ชี้แจงปัญหาการจ่ายค่าชดเชยล่าช้า ยืนยันเริ่มจ่ายได้กรกฎาคมเป็นต้นไป เชื่อมั่นไม่กระทบต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน

วันนี้ (3 กรกฎาคม 2566) นาวาเอก (พิเศษ) พิสิทธิ์ เจริญยิ่ง รองเลขาธิการ ในฐานะโฆษกสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวชี้แจงว่า ในปัจจุบัน ทั้งประเทศมีหน่วยปฏิบัติการอำนวยการ หรือศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 จำนวน 82 หน่วย หน่วยปฏิบัติการแพทย์ (หน่วยกู้ชีพ) จำนวน 7,838 หน่วย ซึ่งประกอบด้วย หน่วยปฏิบัติการแพทย์ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4,892 หน่วย หรือร้อยละ 60 , หน่วยปฏิบัติการแพทย์ในสังกัดสถานพยาบาลของรัฐ 1,579 หน่วย หรือร้อยละ 20 และหน่วยปฏิบัติการแพทย์ในสังกัดองค์กรไม่แสวงหากำไร 1,174 หน่วย หรือร้อยละ 15  ซึ่งในปี 2566  สพฉ. ได้รับงบประมาณจากกองทุนการแพทย์ฉุกเฉินจำนวนกว่า 1,050 ล้านบาท เพื่อใช้ในการจ่ายค่าชดเชยการออกปฏิบัติการ 

ทั้งนี้ ในระบบการจ่ายค่าชดเชยการออกปฏิบัติการของ สพฉ. นั้น จะใช้ระบบโปรแกรมสารสนเทศที่เรียกว่า ITEMS ซึ่งจะเป็นการบันทึกข้อมูลวันเวลาการออกปฏิบัติการ ข้อมูลผู้ป่วย ข้อมูลหน่วยปฏิบัติการ โดยหน่วยปฏิบัติการแพทย์ หน่วยปฏิบัติการอำนวยการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และ สพฉ. จะเห็นข้อมูลนี้ตรงกันในระบบและสรุปข้อมูลการออกปฏิบัติการในแต่ละเดือนเพื่อทำการเบิกจ่ายค่าชดเชย จากกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน  และช่วงปลายปี 2565 เกิดปัญหาของระบบในการบันทึกข้อมูล ซึ่งระบบ ITEMS เดิม ที่ สพฉ. ใช้งานมาเป็นเวลากว่า 15 ปี ส่งผลต่อการเบิกจ่ายค่าชดเชยการปฏิบัติการ   สพฉ. จึงได้เร่งดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาระบบโปรแกรมรูปแบบใหม่ โดยเรียกว่าระบบ ITEMS 4.0 มาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 และเริ่มดำเนินการใช้งาน ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2566  

ตั้งแต่เริ่มดำเนินการปรับปรุงระบบ สพฉ. ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้หน่วยปฏิบัติการ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทราบถึงปัญหาและการดำเนินงานมาโดยตลอด แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อบางหน่วย  จนมีการพิจารณาพักการออกปฏิบัติการเป็นการชั่สคราว ซึ่งที่ทราบข้อมูลมีเป็นจำนวนน้อย โดย ณ ปัจจุบัน หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ยังดำเนินการออกปฏิบัติการให้บริการประชาชนผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินอยู่ตลอด 

“สพฉ. ยืนยันว่า มีงบประมาณที่เพียงพอและมีความพร้อมที่จะจ่ายค่าชดเชยในปี 2565-2566 ได้ในทันทีตามระเบียบแนวทางที่กำหนดไว้แล้ว โดยการจ่ายต้องเป็นไปตามระเบียบ ขั้นตอนของกฎหมายและต้องมีความถูกต้อง ครบถ้วนของข้อมูล ซึ่งที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากหน่วยปฏิบัติการและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในการปรับปรุงและยืนยันข้อมูลในระบบ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 เป็นต้นมา เพื่อให้เกิดความถูกต้อง ครบถ้วน และไม่ซ้ำซ้อน ซึ่งจะทำให้สามารถเริ่มทยอยจ่ายค่าชดเชยให้แก่หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศได้ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมนี้ เป็นต้นไป และขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินอย่างแน่นอน” รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าว

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org