ปลัดสธ.เผยลองโควิด เป็นคำที่ไม่เป็นทางการ ส่วนอาการไอเรื้อรัง หลังติดเชื้อเกิดขึ้นได้ แต่จะค่อยๆดีขึ้น หากยังไม่หายควรปรึกษาแพทย์ มอบกรมการแพทย์ติดตามข้อมูล ส่วนฉีดวัคซีนโควิดกลุ่มเสี่ยง 608 ผู้สูงอายุ ยังจำเป็น ส่วนใหญ่ไม่ฉีด เพราะญาติกังวล กลัวฉีดเยอะ จึงต้องเร่งทำความเข้าใจให้ถูกต้อง
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า ขณะนี้อัตราการป่วยเริ่มลดลง กราฟของการป่วยติดเชื้ออยู่ในลักษณะระฆังคว่ำ เข้าสู่ขาลง แต่จะต้องดูสถานการณ์อีกครั้งในช่วงปิดเทอม ปีใหม่ และช่วงหน้าหนาว แต่ยังไม่มีอะไรที่น่ากังวล
ลองโควิด เป็นคำไม่เป็นทางการ
ผู้สื่อข่าวถามกรณีผู้ที่หายจากโควิด พบมีอาการหลงเหลือ โดยเฉพาะไอเรื้อรัง เข้าใจกันว่าเป็นลองโควิดใช่หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า คำว่า ลองโควิด เป็นคำที่ไม่เป็นทางการ องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ไม่ได้พูดถึงคำว่าลองโควิด ส่วนเรื่องอาการที่เกิดขึ้นนั้น เวลาที่เราติดเชื้อโควิด-19 ก็มีอาการหลายแบบ บางครั้งก็เกิดอาการตามหลังได้ เท่าที่ตามดูข้อมูลจากโรงพยาบาล (รพ.) ต่างๆ ก็ไม่มีปัญหาเรื่องลองโควิดมาก มีบางส่วนที่รู้สึกไม่สบายตัว แต่ไม่มีอาการเฉพาะเจาะจง สุดท้ายอาการต่างๆ ก็จะหายไป
กรมการแพทย์เฝ้าระวังไอเรื้อรัง หลังติดโควิด
“กรมการแพทย์ก็ยังเฝ้าระวังเรื่องนี้อยู่ใกล้ชิด เบื้องต้นคิดว่าไม่มีปัญหาจนน่าวิตกกังวล ส่วนอาการไอเรื้อรัง ก็เกิดขึ้นได้ เพราะเชื้อไวรัสทางเดินหายใจหลายตัว เมื่อหายติดเชื้อ ก็จะกระตุ้นให้หลอดลมตีบ คล้ายเป็นหอบหืด ซึ่งจะเป็นอีกระยะหนึ่ง อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ถ้าเกิดมีปัญหา ก็ควรไปปรึกษาแพทย์” นพ.โอภาสกล่าว
ปลัดสธ.กล่าวอีกว่า สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ปัจจุบันก็ยังมีการฉีดอยู่ โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ซึ่งกำลังปรับกระบวนการฉีดวัคซีนเชิงรุกให้มากขึ้น เพราะคนทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่ม 608 เมื่อติดเชื้ออาการจะไม่รุนแรงมากนัก อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่คนยังกังวลว่า วัคซีนฉีดเยอะจะไม่ดี ซึ่งก็ต้องทำความเข้าใจว่า การฉีดวัคซีน โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 ผู้สูงอายุจะเกิดประโยชน์มากกว่า ที่กังวลมักจะเป็นญาติ ก็ต้องทำความเข้าใจกัน
สถานการณ์ผู้ป่วยโควิดรายสัปดาห์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์กรมควบคุมโรคได้เผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์ผู้ป่วยโควิดภายในประเทศไทยรายสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2566 มี 859 คน เฉลี่ยรายวัน 122คนต่อวัน ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบ 255 คน (ข้อมูลวันที่ 1 ก.ค.) ส่วนผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 166 คน(ข้อมูลวันที่ 1 ก.ค.) ผู้เสียชีวิต 43 คน (เฉลี่ยรายวัน 6/วัน) ขณะที่ตัวเลขการได้รับวัคซีน 144,951,341 โดส โดย 1 เข็มครอบคลุม 82.28% ส่วน 2 เข็มครอบคลุม 77.25%
- 1833 views