รพ.วิมุต เปิดศูนย์ส่องกล้อง หน่วยเฉพาะทางการเคลื่อนไหวระบบทางเดินอาหาร
พฤติกรรมคนเปลี่ยนไป ใช้ชีวิตเร่งรีบ รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา อั้นการขับถ่าย ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญของโรคทางเดินอาหารและตับ รพ.วิมุตจึงผนึกทีมแพทย์ชั้นนำ-เทคโนโลยีทางการแพทย์ทันสมัย ขยายการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคทางเดินอาหาร-ตับ เปิดศูนย์ส่องกล้องและหน่วยเฉพาะทางการเคลื่อนไหวระบบทางเดินอาหาร
โรงพยาบาลวิมุต เปิดศูนย์ส่องกล้องและหน่วยเฉพาะทางการเคลื่อนไหวระบบทางเดินอาหาร (ENDOSCOPY & GI MOTILITY UNIT) เร่งผลักดันการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคยากและซับซ้อนที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ พร้อมชู 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ การยกระดับการรักษาที่ครอบคลุมด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากประสบการณ์ การใช้นวัตกรรมที่ทันสมัยเพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพสูง และการมอบบริการที่ครอบคลุมทั้งที่โรงพยาบาลและทางออนไลน์ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม เสริมแกร่งระบบบริการของโรงพยาบาล ทั้งการป้องกันโรค ตรวจวินิจฉัย ติดตามอาการ รายงานผล และรักษาให้สะดวกรวดเร็ว ภายใต้สโลแกน "เพราะความใส่ใจ...ไม่ใช่แค่คําพูด" พร้อมก้าวสู่การเป็นโรงพยาบาลที่มีศูนย์การแพทย์เฉพาะทางครบครัน
นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิมุต กล่าวว่า รพ.วิมุต ตระหนักถึงสถานการณ์ของโรคระบบทางเดินอาหารและตับที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเกิดจากหลากหลายปัจจัยเสี่ยง ทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิต สิ่งแวดล้อม รวมถึงพันธุกรรม จึงเปิดศูนย์ส่องกล้องและหน่วยเฉพาะทางการเคลื่อนไหวระบบทางเดินอาหาร ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการตามมาตรฐานสากล ด้วยบริการที่สะดวกสบายและไร้รอยต่อทั้งในโรงพยาบาลและผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลทางแอปพลิเคชั่น “ViMUT App” เพื่อการดูแลผู้ป่วยอย่างครอบคลุมทุกมิติภายใต้แนวคิด “อีกระดับของการรักษา...ด้วยความใส่ใจ” สามารถให้การรักษาและการวินิจฉัยปัญหาที่เกี่ยวกับโรคทางเดินอาหารและตับต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพของคนไทยจำนวนมาก เช่น
- โรคกรดไหลย้อน
- ท้องผูก
- โรคลำไส้แปรปรวน
- กลั้นอุจจาระไม่ได้
- กลืนลำบาก
- โรคกระเพาะ
- โรคนิ่วในถุงน้ำดี
- โรคไวรัสตับอักเสบ
- โรคไขมันเกาะตับ
- โรคตับแข็ง
- โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
- โรคมะเร็งตับ
- โรคมะเร็งลำไส้
“เราพร้อมเดินหน้าส่งเสริมสุขภาพของประชาชนคนไทย ด้วยการตรวจที่ช่วยให้ตรวจเจอโรคได้ไว การรักษาที่ตรงจุด ให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติโดยเร็ว จุดแข็งของศูนย์ทางเดินอาหารและตับของโรงพยาบาลวิมุต คือ ความลงตัวและความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคทางเดินอาหารด้วยการตรวจหาสาเหตุตั้งต้นของโรค และการรักษาในเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการรักษาโรคระบบทางเดินอาหารและตับที่มีความยากและซับซ้อน รวมถึงโรงพยาบาลวิมุตมีทีมงานในทุกศูนย์เฉพาะทางพร้อมประสานงานกันเพื่อร่วมดูแลผู้ป่วยอย่างครบครันและส่งต่อการรักษาได้อย่างราบรื่น ทำให้สามารถรักษาโรคทางเดินอาหารต่างๆที่ซับซ้อนได้อย่างมั่นใจ" นพ.สมบูรณ์ เสริม
ด้านนพ.กุลเทพ รัตนโกวิท แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหารและตับ ระบบประสาทและการเคลื่อนไหวทางเดินอาหาร หัวหน้าศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลวิมุต กล่าวถึงความท้าทายในการรักษาโรคระบบทางเดินอาหารและตับว่า โรคทางเดินอาหารและตับเป็นภัยเงียบที่อาจมาเยือนได้โดยไม่รู้ตัว จึงต้องสังเกตอาการเจ็บป่วย เช่น
- แสบยอดอก
- กลืนลำบาก
- ปวดท้อง
- ท้องอืด
- อาหารไม่ย่อย
- ขับถ่ายไม่ปกติ
"โรคของระบบทางเดินอาหารส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรม เพราะในปัจจุบันคนเร่งรีบมากขึ้น อาจอั้นการขับถ่าย รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา หรือทานอาหารช่วงเย็นแล้วเข้านอนเร็ว ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ รวมถึงสภาวะจิตใจ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเช่นกัน อย่างไรก็ตาม คนไข้ที่เข้ามารับบริการส่วนใหญ่มาทุกระยะ ตั้งแต่เริ่มมีอาการป่วย ไปจนถึงอาการเริ่มรุนแรง แต่อยากให้มารักษาตั้งแต่เริ่มเกิดอาการ เรื่องนี้ผู้ป่วยต้องเข้าใจและหมั่นสังเกตอาการตนเอง สำหรับโรคที่พบบ่อยในเพศหญิง ได้แก่ ท้องผูกและลำไส้แปรปรวน ส่วนโรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหาร และท้องผูก กลุ่มอายุจะกว้างมาก พบได้ตั้งแต่ 17-80 ปี" นพ.กุลเทพ เสริม
นพ.กุลเทพ ย้ำด้วยว่า หากไม่รีบเข้ามารับการรักษา อาการอาจเรื้อรัง ก่อให้เกิดผลแทรกซ้อน หรือ มีความรุนแรงขึ้นจนอันตรายถึงชีวิตได้ โรคบางชนิดมีอาการแทรกซ้อนอยู่มากมาย จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ละเอียดแม่นยำ โดยทีมแพทย์ที่โรงพยาบาลวิมุต เน้นการตรวจอย่างละเอียดและตรงจุด นำเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัยมาดูแลทุกคนในครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ
- Anorectal Manometry และ Biofeedback Therapy ในผู้ป่วยท้องผูก หรือกลั้นอุจจาระไม่ได้
- Esophageal Manometry ในผู้ป่วยที่มีภาวะ กลืนลำบาก เจ็บหน้าอกที่ไม่ได้มาจากโรคหัวใจ หรือก่อนการผ่าตัดรักษาหูรูดหลอดอาหาร
- การวัดกรดในหลอดอาหาร (PH Monitoring) ในผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาแล้วไม่ดีขึ้นหรือ อาการไม่ชัดเจน
- การส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร
- การตรวจ colonic transit study ในผู้ป่วยที่สงสัยภาวะลำไส้เคลื่อนตัวช้า
- การตรวจหาภาวะพังผืดในเนื้อตับและตรวจวัดปริมาณไขมันสะสมในตับ (Fibro Scan)
- การคัดกรองมะเร็งทางเดินอาหาร
เนื่องด้วยปัจจุบันมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประเทศไทยพบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศหญิง และอันดับ 3 ในเพศชาย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้จะสามารถป้องกันหรือช่วยให้ตรวจพบมะเร็งระยะเริ่มต้นได้ ช่วยให้รักษาอย่างทันท่วงที
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : “หมอสมศักดิ์” เผย เทรนด์ธุรกิจสุขภาพ ตามความต้องการของแต่ละเจน
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 524 views