รณรงค์หยุดเอชพีวี! สาเหตุมะเร็งที่เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย พร้อมเหล่าคนดัง บุ๋น - เปรม กร-Proxie ได๋-ไดอาน่า ร่วมส่งความห่วงใยพร้อมชวนร่วมขบวนแสดงพลัง ในแคมเปญ “HPV Pride Month”  NO HPV NO LIMIT #ชีวิตไม่สะดุดถึงวันหยุดเอชพีวี สร้างความปลอดภัยให้ทุกความหลากหลายมีสุขภาพที่ดีที่สุดในแบบฉบับของตนเอง

โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย บูรณาการความร่วมมือเดินหน้ารณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักและสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันไวรัสเอชพีวีจัดกิจกรรมรณรงค์ภายใต้แคมเปญ “HPV Pride Month” NO HPV NO LIMIT #ชีวิตไม่สะดุดถึงวันหยุดเอชพีวี เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2566 ที่ CRA HALL ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์  

ศ.พญ.ศิริวรรณ ตั้งจิตกมล ผู้รั้งนายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย กล่าวว่า เดือนมิถุนายนนี้ตรงกับเดือน PRIDE Month จึงเป็นโอกาสดีที่ได้ร่วมกันจัดบริการวิชาการโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมความรอบรู้ทางสุขภาพแก่ประชาชนเกี่ยวกับเชื้อไวรัสเอชพีวี ที่ทางสมาคมฯและราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้รณรงค์มาอย่างต่อเนื่องทุกปี ปีนี้จัดขึ้นภายใต้แคมเปญ HPV PRIDE Month NO HPV NO LIMIT #ชีวิตไม่สะดุดถึงวันหยุดเอชพีวี โดยขยายกลุ่มเป้าหมายในการรณรงค์สู่เพศหลากหลายกับเชื้อ HPV โดยเฉพาะการป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีจากเพศสัมพันธ์ที่เป็นสาเหตุหลัก การมีเพศสัมพันธ์ในทุกเพศหากไม่ใส่ใจป้องกัน ก็มีความเสี่ยงทั้งนั้น มีสิทธิ์ติดเชื้อ HPV ได้ 

"โรคมะเร็งปากมดลูกนั้น รณรงค์กันมานาน แต่ก็ยังครองอัตราการเกิดโรค เป็นรองแค่โรคมะเร็งเต้านม โดยผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกกว่า 9,000 คนที่พบ ครึ่งหนึ่งจะเสียชีวิต และยังพบว่ากว่า 8 ใน 10 คนเคยได้รับเชื้อ HPV ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย พบการติดเชื้อ HPV สูงกว่าผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงถึง 2-5 เท่า การติดเชื้อ ถ้าภูมิคุ้มกันดีจะสามารถขจัดออกไปได้เอง แต่การไม่ติดเชื้อเลยจะดีที่สุด" ศ.พญ.ศิริวรรณ กล่าว

ด้าน ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ กันตถาวร รักษาการผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและสังคม วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และหัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี  โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เสริมว่า HPV ย่อมาจาก Human Papilloma Virus เป็นไวรัสที่ก่อโรคบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก เช่น

  • โรคหูดหงอนไก่ 
  • มะเร็งปากมดลูก 
  • มะเร็งช่องคลอด 
  • มะเร็งปากช่องคลอด 
  • มะเร็งอวัยวะเพศชาย 
  • มะเร็งทวารหนัก 
  • มะเร็งช่องปากและลำคอ 

ทุกกลุ่มมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อ HPV ได้ไม่แตกต่างกัน และจะไม่แสดงอาการ ถ้าร่างกายอ่อนแอการติดเชื้ออาจพัฒนากลายไปเป็นเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งเชื้อเอชพีวีที่ก่อโรคมีประมาณ 40 สายพันธุ์ แต่มีเพียงไม่กี่สายพันธุ์ที่ก่อโรคบ่อย ได้แก่ HPV 6, 11 เป็น 2 สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่ำทำให้เกิดหูด ส่วน HPV 16, 18, 58, 52, 45  สายพันธุ์ที่มีความรุนแรงมาก อาจพัฒนารอยโรคไปสู่มะเร็งชนิดต่าง ๆ ในอนาคตได้ โดยเชื้อเอชพีวีเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้มากที่สุดถึง 70% และมีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อ HPV ถึง 35 เท่า 

"รณรงค์หยุดเอชพีวี! สาเหตุมะเร็งที่เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย"

"HPV 16, 18, 31, 33, 45, 52, 58 เป็น 7 สายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกที่พบบ่อย โดยวิทยาการทางการแพทย์ได้เจริญก้าวหน้ามีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสำหรับสตรีด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงจากการตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV DNA) ซึ่งการตรวจคัดกรองด้วยวิธีแพปสเมียร์แบบเดิมสามารถตรวจพบการเปลี่ยนแปลงในเซลล์ซึ่งอาจใช้เวลานานถึง 10 ปี ถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น และบางครั้งกว่าจะตรวจพบก็เข้าสู่มะเร็งระยะสุดท้ายแล้ว" ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวและย้ำว่า แนะนำให้สตรีอายุ 30 ปีขึ้นไป หรือกลุ่มที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี โดยสามารถตรวจได้ถึง 14 สายพันธุ์ ระบุได้ด้วยว่าเป็นเชื้อที่มีความเสี่ยงสูงในการพัฒนารอยโรคหรือไม่ นอกจากนี้ คนที่ไม่อยากตรวจภายในอาจใช้ HPV Self Sampling ตรวจคัดกรองด้วยตนเองก่อน

ส่วนการเกิดโรคมะเร็งทวารหนัก ผศ.นพ.ณัฐวุฒิ ให้ข้อมูลว่า กลุ่มผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย พบว่ามีการกำจัดเชื้อ HPV ที่บริเวณทวารหนักได้ต่ำกว่าในกลุ่มผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง มีโอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งทวารหนักได้สูงกว่าถึง 20 เท่า และมะเร็งช่องปากและลำคอ ปัจจุบันพบจำนวนผู้ป่วยมะเร็งคอหอยส่วนบนหลังช่องปาก (HPV-related Oropharyngeal Cancer) ในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร สูงกว่าผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกเป็นอย่างมาก ในประเทศไทยและประเทศในเอเชียแม้อุบัติการณ์น้อยกว่า แต่จากการศึกษาแบบ Meta-Analysis ที่เก็บข้อมูลจากหลายประเทศในเอเชีย พบความชุกของมะเร็งช่องปากและลำคอประมาณ 37% และพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

การฉีดวัคซีน HPV เพิ่มภูมิต้านทานจึงมีประโยชน์สำหรับทุกเพศทุกวัย และยังช่วยลดปัจจัยเสี่ยงป้องกันโรคมะเร็ง ปัจจุบันวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งวัคซีนเอชพีวีชนิด 2 สายพันธุ์ (16, 18 ) 4 สายพันธุ์ (6, 11, 16, 18) และวัคซีนเอชพีวีชนิด 9 สายพันธุ์ (6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52, 58) สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป โดยเด็กช่วงอายุ 9-15 ปี จะเป็นช่วงวัยที่สร้างภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดเนื่องจากกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงและยังไม่มีเพศสัมพันธ์ สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป รับวัคซีนทั้งหมด 3 เข็ม 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เลิกความเชื่อกลัวการตรวจภายใน! "มะเร็งปากมดลูก" รู้ก่อนรักษาได้ดีกว่า

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org