สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสื่อ สปสช. บรรจุยาใหม่ 7 รายการ เป็นสิทธิประโยชน์บัตรทอง 30 บาท ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้บกพร้องทางจิต ด้านเลขาธิการ สปสช. เผย เตรียมทำหนังสือประสาน คกก.พัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ เหตุเป็นกลุ่มยาที่ยังไม่ขึ้นบัญชียาหลักฯ พร้อมหนุนสร้างเครือข่ายเชิงรุก ค้นหาผู้บกพร่องทางจิตในชุมชน และขยายเครือข่ายผู้ป่วย “เพื่อนช่วยเพื่อน”
ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) - เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. และ ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. ได้รับยื่นหนังสือร้องเรียน “กรณีการเข้าไม่ถึงยาของผู้ป่วยจิตเวช” ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท จาก นางนุชจารี คล้ายสุวรรณ นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย พร้อมตัวแทนและผู้ปกครองของผู้ป่วยประมาณ 20 คน
นางนุชจารี กล่าวว่า สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตฯ เป็นองค์การของคนพิการระดับประเทศ และเป็น 1 ใน 7 ขององค์การคนพิการตามกฎหมาย จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การปรึกษาและช่วยเหลือผู้บกพร่องทางจิต และครอบครัวให้สามารถดำเนินชีวิตอิสระในสังคมได้ รวมทั้งพิทักษ์สิทธิในด้านต่างๆ ของผู้บกพร่องทางจิตและครอบครัว พร้อมประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการวิจัยเพื่อป้องกัน รักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ทางการศึกษา ทางสังคม และทางอาชีพแก่ผู้บกพร่องทางจิต ส่งเสริมค่านิยมและวัฒนธรรมอันดีให้กับสมาชิกและสังคม โดยสมาคมฯ มีชมรมเครือข่าย 154 ชมรม กระจายอยู่ทั่วประเทศ
ตลอดระยะเวลา 20 ปี ได้ช่วยเหลือผู้ที่มีความบกพร่องทางจิตให้สามารถกลับมามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่เป็นภาระของใคร อย่างไรก็ตามแม้ว่าภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท จะได้มีสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมการรักษาผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางจิตแล้ว ทั้งในด้านของยาจิตเวชและการรักษาพยาบาล แต่ด้วยปัจจุบันมียาจิตเวชรายการใหม่ที่มีคุณภาพและมีผลข้างเคียงน้อย แต่ยังไม่ได้บรรจุในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงยา จึงได้มายื่นหนังสือต่อ สปสช. ในวันนี้ เพื่อขอให้ผลักดันยาเหล่านี้และบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง 30 บาท เป็นการดูแลให้ผู้ป่วยจิตเวชทั่วประเทศได้เข้าถึงยาที่มีคุณภาพและประสิทธิผล ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
สำหรับรายการยาจิตเวช มี 7 รายการ ดังนี้
1. Escitalopram ใช้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มีประสิทธิภาพ ลดภาวะการเกิดยาไม่เข้ากัน (Drug interactions) 2. Venlafaxine ดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารุนแรง เป็นยาต้านเศร้ากลุ่มใหม่ ให้ผลการรักษาที่ดี 3. Aripiprazole สำหรับเด็กออทิสติก เพิ่มทางเลือกยารักษาที่ช่วยลดผลข้างเคียง 4. Paliperidone inj. ยาดูแลผู้ป่วยจิตเภท เป็นยาจิตเวชกลุ่มใหม่ ควบคุมอาการทางจิตได้ดี 5. Olanzanpine tablet. เพิ่มข้อบ่งชี้ใช้รักษาเรื่องจิตเวช 6. Long acting methylphenidate ดูแลกลุ่มเด็กสมาธิสั้น ออกฤทธิ์ระยะยาว ลดการกินยา และ 7. Long acting Aripiprazole inj. สำหรับผู้ป่วยจิตเภทและอารมณ์แปรปรวน ไม่มีผลข้างเคียงและมีความปลอดภัยสูง
“ผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วยกลไกสาธารณสุขและสิทธิบัตรทอง 30 บาท ได้ให้การดูแลที่ดีอยู่แล้ว เพียงยังมียาบางตัวที่ผู้ป่วยได้รับแตกต่างกัน โดยผู้ป่วยที่มีฐานะยากจนยังเข้าไม่ถึงยาที่มีประสิทธิผลและผลข้างเคียงน้อย ด้วยราคาแพงจึงไม่มีสิทธิเข้าถึง ทั้งนี้ย้ำว่า การดำเนินการของสมาคมฯ เราไม่ได้ทำเพื่อผู้ป่วยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เราทำเพื่อผู้ป่วยที่มีความบกพร่องทางจิตทั่วประเทศ” นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต กล่าว
ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช. มีความยินดีในการรับเรื่องนี้ และพร้อมที่ผลักดันเพื่อให้ผู้ป่วย ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท ได้รับการรักษาที่ดีอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน โดยที่ผ่านมา สปสช. ได้มีการดำเนินการบรรจุเพิ่มสิทธิประโยชน์รายการยาใหม่อย่างต่อเนื่อง และจากรายการยาทั้ง 7 รายการ ที่ทางสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทยได้นำเสนอในวันนี้ ด้วยเป็นยาที่ยังไม่ได้ขึ้นบัญชียาหลักแห่งชาติ ดังนั้น สปสช. จะต้องทำหนังสือสอบถามไปยังคณะกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติก่อนว่า ได้มีการพิจารณายาเหล่านี้ไปแล้วหรือไม่ ซึ่งอาจอยู่ระหว่างดำเนินการ
อย่างไรก็ตามจากข้อมูล ด้วยสมาคมฯ มีเครือข่ายชมรมที่กระจายอยู่ทั่วประเทศถึง 154 ชมรม มองว่าสามารถเข้ามาร่วมทำงานเชิงรุก พัฒนามาเป็นหน่วยบริการในระบบในการค้นหาผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตได้ โดยประสานกับทางกรมสุขภาพจิต เป็นการทำงานป้องกัน ส่วนกรณีผู้ป่วยที่มีภาวะทางจิตแล้ว สปสช. จะประสานกับสมาคมฯ ในการรุกสร้างกลไก “เพื่อนช่วยเพื่อน” ซึ่งเป็นหลักการของมิตรภาพบำบัดที่ สปสช.สนับสนุนเครือข่ายผู้ป่วยในการต่อยอดการดูแลเพื่อให้เกิดเครือข่ายที่เข้มแข็งต่อไป และสำหรับเครือข่ายผู้ป่วยการบกพร่องทางจิตนี้ สปสช. พร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
- 579 views