สปสช. พัฒนาชุด “ข้อมูลมาตรฐานการเบิกจ่าย” เพื่อหน่วยบริการส่งข้อมูลการเบิกจ่ายเป็นระบบเดียวกัน ง่ายต่อการเชื่อมโยงข้อมูล สะดวก รวดเร็ว ช่วยลดความซ้ำซ้อนการคีย์ข้อมูลส่งเบิกได้ ระบุเริ่มใช้ในปีงบประมาณ 2567 เผย เดือน เม.ย. ประกาศชุดข้อมูลมาตรฐานการเบิกจ่ายตามรายการบริการ 13 แฟ้ม แจ้งให้หน่วยบริการรับทราบ และเตรียมประกาศชุดข้อมูลมาตรฐานสำหรับบริการโรคเฉพาะ เพิ่มเติมต่อไป 
    
วันที่ 11 มิถุนายน 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในเดือนเมษายน 2566 นี้ สปสช. จะมีการประกาศ “ชุดข้อมูลมาตรฐานสำหรับการเบิกจ่ายตามรายการบริการของ สปสช. (Fee Schedule) ชุดที่ 1” จำนวน 13 แฟ้มจาก 9 ประเภทบริการ เพื่อให้หน่วยบริการที่ร่วมบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) รับทราบ และขอความร่วมมือหน่วยบริการในการดำเนินการเบิกจ่ายค่าบริการกับ สปสช. โดยใช้ชุดข้อมูลมาตรฐานการเบิกจ่ายฯ นี้ ซึ่งจะเริ่มในปีงบประมาณ 2567 (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นไป)
    
ทั้งนี้ที่มาของการจัดทำชุดข้อมูลมาตรฐานการเบิกจ่ายตามรายการบริการนี้ เริ่มต้นมาจากแนวคิดการจัดทำข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการสุขภาพของหน่วยบริการที่ส่งเบิกมายัง สปสช. ให้เป็นชุดข้อมูลมาตรฐานเดียวกัน (NHSO Standard Data Set) ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อเชื่อมโยงข้อมูลและมีความรวดเร็ว ขณะเดียวกันยังช่วยลดความซ้ำซ้อนการคีย์ข้อมูลของหน่วยบริการได้ ซึ่ง สปสช. ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานพัฒนาระบบมาตรฐานชุดข้อมูล ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทั้งส่วนกลางและเขตนำร่อง ได้แก่ เขต 5, เขต7,เขต 8 และ เขต 10 มาร่วมกันกำหนดมาตรฐานชุดข้อมูลของ สปสช. โดยเริ่มประชุมนัดแรกเพื่อออกแบบชุดข้อมูลฯ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา 
    
ในการจัดทำชุดข้อมูลฯ ทางคณะทำงานระบบมาตรฐานชุดข้อมูล ยังได้มีการประชุมรับฟังความเห็นจากหน่วยบริการทุกระดับในเขตที่นำร่องข้างต้น พร้อมกับมีการประชุมหารือ 3 ฝ่าย ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงสาธารณสุข สำนักพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (สมสท.) และ สปสช. เพื่อทบทวนให้เกิดความรอบด้าน ซึ่งนำมาสู่ชุดข้อมูลมาตรฐานสำหรับการเบิกจ่ายตามรายการบริการ 
    
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ขณะนี้ชุดข้อมูลมาตรฐานสำหรับการเบิกจ่ายตามรายการบริการ ชุดที่ 1 แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีทั้งหมด 13 แฟ้ม ประกอบด้วย 1.ข้อมูลทั่วไป 2.ข้อมูลผู้ให้บริการ (Provider) 3.ข้อมูลผู้ปฏิบัติ (Practitioner) 4.ข้อมูลบริการผู้ป่วยนอก (OPD) 5.รหัสโรค-ICD10 6.รหัสหัตถการ-ICD9 7.ข้อมูลค่าใช้จ่าย Item 8.ข้อมูลค่าใช้จ่ายรวม 9.รับส่งต่อ-AE 10.หญิงตั้งครรภ์ 11.เด็กแรกเกิด 12.จิตเวชชุมชน และ 13. ความพิการ (DISABILITY) ซึ่งมาจาก 9 ประเภทบริการ ประกอบด้วย ค่าบริการผู้ป่วยนอกทั่วไป ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ค่าบริการเพิ่มเติมสำหรับบริการปฐมภูมิ (QOF) ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน ค่าบริการผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน ค่าบริการผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ค่าบริการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ค่าบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ และค่าบริการกรณีเฉพาะผู้ป่วยระยะสุดท้าย
    
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า นอกจากชุดข้อมูลมาตรฐานฯ ในชุดที่ 1 แล้ว ทางคณะทำงานฯ ยังอยู่ระหว่างการจัดทำชุดข้อมูลมาตรฐานฯ ในชุดที่ 2 ซึ่งเป็นกลุ่มประเภทบริการโรคเฉพาะ 4 กลุ่ม ประกอบด้วย บริการบำบัดทดแทนไต การให้บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ การให้บริการผู้ป่วยวัณโรค และกลุ่มโรคมะเร็ง นอกจากนี้ยังมี ค่าบริการ Telemedicine (การแพทย์ทางไกลหรือโทรเวชกรรม) ซึ่งเมื่อร่างเป็นที่เรียบร้อยแล้วจะนำเข้าที่ประชุมหารือ 3 ฝ่ายเช่นกัน และจะประกาศให้หน่วยบริการรับทราบต่อไป
    
“เมื่อได้ชุดข้อมูลมาตรฐานฯ ทั้ง 2 ชุดแล้ว ขั้นต่อไปจะเป็นการจัดทำระบบประมวลผลและการรับส่งข้อมูลการเบิกจ่าย รวมถึงการจัดทำประกาศเงื่อนไขการเบิกจ่ายเพื่อรองรับข้อมูลการเบิกจ่ายตามชุดข้อมูลมาตรฐานฯ และในเดือนกันยายน 2566 จะมีการจัดประชุมชี้แจงหน่วยบริการในระบบทั่วประเทศถึงการใช้ชุดข้อมูลมาตรฐานฯ ทั้ง 2 ชุดนี้ เพื่อใช้ในการทำเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการ ก่อนเริ่มระบบรับส่งข้อมูลในเดือนตุลาคม 2566 นี้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว