ปลัดสธ.ห่วงปีนี้ คนไทยภูมิต้านทาน “ไข้เลือดออก” ตก!  4 เดือนนี้ส่อระบาดหนัก มีผู้ป่วยรุนแรง-เสียชีวิตเพิ่มขึ้น เผยป่วยแล้ว 1.8 หมื่นคน  แจงวัคซีนไข้เลือดออกไม่ค่อยได้ผล เหตุยังไม่ครอบคลุม 4 สายพันธุ์ มอบกรมควบคุมโรคพิจารณาวัคซีนรุ่นใหม่จากญี่ปุ่น

 

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน  นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดงานวันไข้เลือดออกอาเซียน ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด "ก้าวสู่สังคมไทย ไม่ป่วยตายด้วยไข้เลือดออก" พร้อมมอบรางวัลจังหวัดจัดการไข้เลือดออกระดับดีเด่น รางวัลจังหวัดที่มีการใช้งานแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ และ อสส.ออนไลน์ เพื่อการเฝ้าระวังโรคติดต่อนำโดยยุงลายระดับดีเด่น และรางวัลการประกวดสื่อสร้างสรรค์หัวข้อ "ไข้เลือดออกน่ากลัวและใกล้ตัวกว่าที่คิด"

 

สธ.ห่วงปีนี้ “ไข้เลือดออก”สูง ทั้งภูมิภาคอาเซียนและไทย

นพ.โอภาสกล่าวว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคอุบัติใหม่ของไทยมาตั้งแต่ปี 2,500 ก่อนพัฒนาจนเป็นโรคประจำถิ่นที่เป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของประเทศไทยและอาเซียน ที่ผ่านมา 60 ปี เราไม่เคยต่อสู้ชนะ มีเพียงชะลอการเสียชีวิตให้ลดลง ด้วยการแพทย์ที่พัฒนาขึ้น สำหรับปีนี้ไข้เลือดออกน่าเป็นห่วง เนื่องจากเราไม่ติดหลายๆ ปี ภูมิต้านทานที่เคยมีกับไข้เลือดออกจะลดลง ปีนี้จึงเสีย่งสูงที่จะมีผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงทั้งภูมิภาคอาเซียนและไทย ซึ่งจากการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลายในโรงเรียน ศาสนสถาน ชุมชน โรงงาน ออกมาตรงกันว่ามีลูกน้ำยุงลายมีมากกว่าปีที่ผ่านมา 2-3 เท่า ทำให้ยุงลายมีจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย มีโอกาสกัดคนมากขึ้นและถ่ายทอดเชื้อไวรัสไปสู่คนมากขึ้น โดยตั้งแต่ ม.ค. - พ.ค. 2566 ไทยมีผู้ป่วย 18,173 ราย มากกว่าปีที่แล้ว 4.2 เท่า เป็นการระบาดสูงสุดในรอบ 3 ปี และมีผู้เสียชีวิต 15 ราย เฉลี่ยมีผู้ป่วยสัปดาห์ละ 900 ราย เสียชีวิตสัปดาห์ละ 1 ราย พบอัตราป่วยสูงสุดคือ กทม. ภาคใต้ และภาคกลาง โดยนักเรียนอายุ 5-14 ปีป่วยสูงสุด รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 15-24 ปี อย่างไรก็ตาม ทุกจังหวัดมีความเสี่ยงหมดก็ต้องควบคุมลูกน้ำยุงลาย

ปีนี้คนไทยมีภูมิต้านทานต่อไข้เลือดออกน้อย

"จากจำนวนผู้ป่วยที่มีถือว่าวิกฤตแล้วหรือไม่นั้น ช่วงปีที่เรามีผู้ป่วยไข้เลือดออกมากๆ คือ ประมาณ 1.5 แสนคน ปีนี้ก็ยังไม่ถือว่าวิกฤตมากนัก แต่ปีนี้คนไทยมีภูมิต้านทานต่อไข้เลือดออกน้อย มีโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิตได้ เดือนนี้จึงต้องไม่ประมาทและร่วมมือกัน เพราะไข้เลือดออกระบาดตามฤดูกาล คือ ช่วงฤดูฝน เดือน มิ.ย.ก็เข้าฤดูฝนแล้วจะเป็นช่วงที่มีผู้ติดเชื้อและเสีชีวิตสูงขึ้น และจะมีการระบาดสูงอยู่ 3-4 เดือนจากนี้ ก็ต้องช่วยกันรณรงค์ควบคุมป้องกันไข้เลือดออกตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป" นพ.โอภาสกล่าว

ปัจจุบันไม่มียาต้านไวรัสรักษาไข้เลือดออก การป้องกันจึงสำคัญ

นพ.โอภาสกล่าวว่า ที่น่าห่วงคือ ขณะนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสรักษาไข้เลือดออกจากเชื้อไวรัสเดงกีโดยตรง การป้องกันจึงสำคัญ ทำอย่างไรให้ไม่ถูกยุงกัด ซึ่งมีนวัตกรรมหลายอย่าง เช่น ยาทา ยาป้องกันไล่ยุง เราต้องการนวัตกรรมใหม่ๆ อีกเยอะ อย่างเนคเทคนำดิจิทัลมาเชื่อมโยงข้อมูลสำรวจลูกน้ำยุงลาย ที่มี อสม.ช่วยสำรวจ จะบอกได้ว่าจุดไหนที่มีไข้เลือดออก จะได้ช่วยมองเป้าและชี้จุดในการรักษาและควบคุมต่อไป อีกส่วนคือ เดิมเข้าใจว่าไข้เลือดออกเป็นกับเด็กเล็ก เด็กโต แต่ระยะหลังพบว่าปัญหาการป่วยและเสียชีวิตมากที่สุดคือผู้ใหญ่ ซึ่งอาการไม่เหมือนรูปแบบที่เคยรู้จักมา บางครั้งมีอาการไม่กี่วันก็ทำให้อาการหนักรุนแรงหรืออาการแปลกๆ ได้ จึงต้องย้ำเตือนว่าระยะแรกของไข้เลือดออก การวินิจฉัยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีอาการคล้ายกับโรคอื่น หากไม่ติดตามอาการหรือสังเกตจะทำให้การรักษาล่าช้า เกิดความรุนแรงและเสียชีวิตในที่สุด มาตรการวินิจฉัยให้เร็วที่สุดและสังเกตตัวเองจึงมีความสำคัญ ขณะที่แต่ละบ้านควรสำรวจลูกน้ำยุงลายและช่วยกันกำจัด รวมไปถึงชุมชนเพราะยุงลายบ้านหนึ่งก็ข้ามไปอีกบ้านทำให้ป่วยหรือระบาดในชุมชนได้

สธ.ชู 3 กลยุทธ์ลดไข้เลือดออก

"สธ.ดำเนินการ 3 กลยุทธ์ลดไข้เลือดออก คือ 1.Rebrand รณรงค์ป้องกันก่อนเกิดโรค ปรับภาพลักษณ์หน่วยงานรัฐด้วยนโยบายเชิงรุก 2.Rethink เปลี่ยนความคิดคนไทยให้รู้เท่าทันภัยร้ายของไข้เลือดออก เริ่มต้นด้วยการดูแลตัวเอง และ 3.Reconnect ผนึกกำลังภาคีรัฐและเอกชน ชูนวัตกรรมเพื่อสร้างความร่วมมือในการป้องกันการเสียชีวิตจากไข้เลือดออก" นพ.โอภาสกล่าว

สธ.ติดตามประสิทธิผลวัคซีนไข้เลือดออกรุ่นใหม่ของญี่ปุ่น

สำหรับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก เคยออกมา 10 ปีที่แล้วในตลาดและใช้ในประเทศฟิลิปปินส์ พบว่าการทดลองอาจจะได้ผลดี แต่เอามาใช้ในภาคสนามกลับไม่ได้ผลดี การใช้วัคซีนมีทั้งประโยชน์และสิ่งที่พึงระวัง ขณะนี้เป็นโอกาสดีที่มีวัคซีนรุ่นใหม่ของบริษัทประเทศญี่ปุ่น เราคงติดตามข้อมูลและเริ่มปฏิบัติการนำไปใช้อย่างเหมาะสมต่อไป กรมควบคุมโรคกำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่ ซึ่งคงต้องผ่านกระบวนการทดสอบและนำไปใช้จริงและประเมินอีก เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยมากที่สุด

 

นายสุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัด กทม. กล่าวว่า กทม.เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดของไข้เลือดออกสูงที่สุด จึงได้ออกนโยบายดำเนินการเชิงรุก เน้นการป้องกันและเฝ้าระวังก่อนเกิดโรค โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชน โรงเรียน และศาสนสถาน พร้อมร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนสร้างการรับรู้ถึงอันตรายของไข้เลือดออกแก่ประชาชน เพื่อทำให้ กทม.ปลอดโรค ปลอดภัยห่างไกลจากไข้เลือดออก

 

นายยูจิ ชิมิซึ ประธานกรรมการบริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า คาโอสนับสนุนเนคเทค สวทช. และกรมควบคุมโรค พัฒนาแอพพลิเคชัน "รู้ทัน" เพื่อแจ้งเตือนภัยสุขภาพรอบตัวตั้งแต่ปี 2564 และกำลังพัฒนาเทคโนโลยีแบบพยากรณ์ คาดการณ์โอกาสการเกิดโรคและการแพร่ระบาด เพื่อหาวิธีป้องกันให้ประชาชนปลอดภัยจากโรค พร้อมสานต่อโครงการ "Guard Our Future" ให้ความรู้และวิธีการป้องกันที่ถูกต้องแก่เด็กนักเรียนและผู้ปกครอง ตั้งเป้าจัดกิจกรรมกว่า 160 โรงเรียนทั่ว กทม.และต่างจังหวัด ร่วมกับวง Paper Planes แต่งเพลงพร้อมมิวสิควิดีโอให้ความรู้และเตือนถึงอันตรายของโรคไข้เลือดออก

ชี้ปัจจัยวัคซีนไข้เลือดออกยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร

ถามถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้วัคซีนไข้เลือดออกยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร นพ.โอภาสกล่าวว่า เนื่องจากไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์หลักๆ เวลาพัฒนาวัคซีนต้องให้ครบทั้ง 4 ชนิด จึงเป็นความยาก นอกจากนี้ ธรรมชาติของไข้เลือดออกเมื่อติดเชื้อครั้งแรกอาการมักไม่รุนแรงมากนัก จะรุนแรงเมื่อติดเชื้อครั้งที่สองโดยสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน พอคนที่ฉีดวัคซีนเข้าไปบางคนเคยติดเชื้อมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อฉีดวัคซีนก็เหมือนกระตุ้นครั้งที่สอง ทำให้บางครั้งอาการรุนแรงขึ้น เป็นความยากของวัคซีนแต่ละชนิด ไม่เหมือนโควิดที่ยังเป็นสายพันธุ์หลักเดียวการป้องกันจะง่ายกว่า

ถามว่าเกี่ยวข้องกับข้อจำกัดการใช้วัคซีนในแต่ละช่วงอายุด้วยหรือไม่  นพ.โอภาสกล่าวว่า มีส่วนด้วย เพราะการให้วัคซีนต้องระมัดระวังในคนที่ติดเชื้อแล้ว รวมถึงคนที่ติดเชื้อแล้วการให้วัคซีนอาจไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงขึ้นได้ และทำให้อันตรายได้

 

มอบกรมควบคุมโรคติดตามวัคซีนไข้เลือดออกรุ่นใหม่

ถามถึงวัคซีนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นจะมีการนำมาศึกษาพื้นที่นำร่องเพื่อดูประสิทธิผลด้วยหรือไม่  นพ.โอภาสกล่าวว่า กรมควบคุมโรคมีแนวทางวิธีการแล้ว จะสื่อสารรายละเอียดต่อไปว่าจะเริ่มปฏิบัติการอย่างไร ซึ่งหากวัคซีนไข้เลือดออกได้ขึ้นทะเบียนกับทาง อย.แล้วก็จะสามารถนำมาใช้ได้ แต่การจะใช้ให้เกิดประโยชน์ในแง่ของการควบคุมโรค หรือการป้องกันคงต้องเป็นอีกระยะหนึ่งที่จะต้องดำเนินการต่อไป เรื่องนี้มอบให้ทางกรมควบคุมโรคดำเนินการ