เลขาธิการ สปสช. รับยื่นหนังสือ “ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย” เสนอเพิ่มสิทธิประโยชน์ “ยามุ่งเป้า” เพื่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย เข้าถึงยารักษาที่มีประสิทธิภาพ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมให้ขยายครอบคลุมบริการตรวจและรักษาที่จำเป็นเพื่อการเข้าถึงการรักษาโดยเร็ว
ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ - เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้รับมอบข้อเสนอจากนางอรวรรณ โอวรารินท์ ประธานและผู้ก่อตั้งชมรมผู้ป่วยมะเร็งแห่งประเทศไทย พร้อมตัวแทนชมรมฯ เพื่อขอให้ สปสช. พิจารณาเพิ่มยามุ่งเป้าในสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) สำหรับรักษาโรคมะเร็งในระยะแพร่กระจาย
ปัญหาและความต้องการของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
นางอรวรรณ กล่าวว่า จากการรับฟังปัญหาและความต้องการของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ในการเข้าถึงการรักษาด้วยยามุ่งเป้า ในงานเสวนาภายใต้หัว "มุ่งเป้าสู่การรักษามะเร็งเต้านมที่ดีกว่า" เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 ซึ่งมีตัวแทนกลุ่มผู้ป่วย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง ผู้แทนจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และผู้แทนจาก สปสช. เข้าร่วม แม้ว่าปัจจุบันจะมีสิทธิหลักประกันสุขภาพในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในประเทศไทยให้เข้าถึงการรักษาแล้ว แต่พบว่าสิทธิประโยชน์บริการที่มีนั้น ยังไม่ครอบคลุมการรักษาในระยะแพร่กระจายที่มีประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะยามุ่งเป้า ทั้งสิทธิการรักษาในแต่ละระบบยังไม่เท่าเทียม เกิดความเหลื่อมล้ำ มีเพียงสิทธิข้าราชการเท่านั้นที่เข้าถึงได้ แม้ว่าจะเป็นการขออนุมัติแต่ละรายก็ตาม ขณะที่สิทธิอื่นให้การครอบคลุมเฉพาะการผ่าตัด ฉายรังสี เคมีบำบัด และยาต้านฮอร์โมนเท่านั้น ทั้งที่ยามุ่งเป้ามีประสิทธิภาพสูงในการรักษาและมีผลรับรองทาคลินิกแล้วว่าช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีและยืดอายุผู้ป่วยได้ก็ตาม
สิทธิประโยชน์การตรวจติดตามและการตรวจวินิจฉัย
ส่วนของสิทธิประโยชน์การตรวจติดตามและการตรวจวินิจฉัย พบว่ามีความไม่ครอบคลุมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายที่ต้องการเข้าถึงการตรวจและรักษาโดยรวดเร็ว เพื่อลดการเสียชีวิต ทั้งการตรวจ PET Scan, CT Scan, MRI, Genetic Testing (การตรวจหายาที่เหมาะสม) เพื่อให้เข้าถึงการรักษาที่เหมาะสมและทันเวลา นอกจากนี้ขอให้ สปสช.ปรับปรุงระบบจัดเก็บและส่งต่อข้อมูลในแอปพลิเคชัน Cancer Anywhere เพื่อให้การส่งต่อข้อมูลและการส่งต่อผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมายังมีความล่าช้าของการนัดคิวตรวจรักษา ด้วยขาดการประสานงานและการส่งต่อข้อมูลของผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล
“จากปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ โดยเฉพาะการเข้าถึงยามุ่งเป้า ทางชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย จึงได้เข้ายื่นหนังสือต่อ สปสช. เพื่อให้เพิ่มเติมและปรับปรุงให้เกิดการดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิผล ขณะเดียวกันทางชมรมฯ จะยื่นหนังสือนี้ต่อสำนักงานประกันสังคมในประเด็นเดียวกันนี้ด้วย”
ด้าน ไอรีล ไตรสารศรี รองประธานชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นตัวแทนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายที่เข้าถึงยามุ่งเป้าที่มีประสิทธิภาพ โดยตัวเองตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุ 27 ปี และปัจจุบันอายุ 40 ปีแล้ว ผ่านการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จนสู่ระยะแพร่กระจายในปี 2560 เรียกว่าอยู่กับระยะแพร่กระจายมา 6 ปีแล้ว มะเร็งลุกลามไปที่ปอด ตับ กระดูกและสมอง แต่จากที่ได้รับยามุ่งเป้าที่มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถทำงานดูแลครอบครัว ทำประโยชน์ให้กับประเทศได้
“จริงๆ ก็ใช้สิทธิบัตรทองและใช้ส่วนที่ใช้ได้ตามสิทธิประโยชน์ที่มี แต่พอสู่ระยะลุกลามที่หมอแนะนำต้องใช้ยามุ่งเป้า แต่สิทธิประโยชน์ไม่ครอบคลุม โชคดีที่บ้านพอมีกำลังมีทุนที่จะมาดูแลรักษาได้ ซึ่งก็ทำให้เรารอดชีวิตจากระยะแพร่กระจายมาถึงวันนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้นจึงได้ร่วมขับเคลื่อนเพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายคนอื่นๆ ได้เข้าถึงยามุ่งเป้าด้วย พร้อมควบคู่กับการดูแลด้านจิตใจ จึงได้มายื่นหนังสือที่ สปสช.ในวันนี้” รองประธานชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมฯ กล่าว
สปสช.มีนโยบายสนับสนุนให้ผู้ป่วยทุกโรคเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานทางการแพทย์
ขณะที่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในเรื่องของหลักการเพื่อดูแลให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาไม่มีปัญหา โดย สปสช.มีนโยบายสนับสนุนให้ผู้ป่วยทุกโรคเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานทางการแพทย์ เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี แต่การจะบรรจุรายการยาใหม่เข้าเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทองได้นั้น ตามหลักเกณฑ์จะต้องเป็นยาที่ได้รับการขึ้นบัญชียาหลักแห่งชาติก่อน ซึ่งจะมีคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของยารักษาที่ผู้ป่วยควรได้รับ คุณภาพและมาตรฐานของยา รวมไปถึงความปลอดภัยกับผู้ป่วย ขณะที่ในส่วนของราคายานั้น แม้ว่าเป็นกลุ่มยาราคาแพงแต่ สปสช. ก็มีกลไกในการต่อรองราคายา ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการต่อรองยาหลายรายการที่มีราคาแพงและได้ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้
“อย่างไรก็ตามทาง สปสช.จะได้หารือกับ คณะอนุกรรมการบัญชียาหลักเพื่อสร้างระบบในการนำยาดี ที่ยังไม่เข้าระบบหลักประกันสุขภาพ ให้เข้าระบบด้วยงบประมาณที่เหมาะสมโดยเร็ว โดยเน้นการมีส่วนร่วม ได้แก่ ผู้ป่วย ผู้ผลิตยา และผู้ให้บริการ ต่อไป นอกจากนั้นสิ่งที่อยากเพิ่มเติม คือการดูแลในด้านจิตใจ การให้กำลังใจผู้ป่วย เพื่อประคับประคองผู้ป่วยในการใช้ชีวิต ซึ่งที่ผ่านมาทางชมรมผู้ป่วยต่างๆ รวมถึงชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมฯ ซึ่งทำได้ดี และอยากให้ประสานการทำงานต่อไป” นพ.จเด็จ กล่าว
- 4635 views