“บ่อจอย Mental Festival” วิธีการดูแลสุขภาพจิต
สสส.-กรมสุขภาพจิต-Understand-AIS สานพลังจัด “บ่อจอย Mental Festival” ยกทัพขนเทคนิควิธีการดูแลสุขภาพจิตแบบง่ายๆ ทำได้ทุกวัน ใน theme “บ่อแห่งความสุข” ที่ The Seasons Mall
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมสุขภาพจิต เอไอเอส และ Understand ร่วมกันจัด “บ่อจอย Mental Festival” นิทรรศการสุขภาพจิต ที่ต่อยอดจาก “บ่อจอย Channel” รายการที่ถ่ายทอดเรื่องราวสุขภาพจิตในรูปแบบเข้าใจง่าย สนุกสนาน วาไรตี้ ผ่านช่องทางออนไลน์ สู่รูปแบบงานออนไซต์ โดยนำเครื่องมือสุขภาพจิตต่างๆ รวมถึงกิจกรรมจากภายในรายการ มารวมไว้ที่งานนี้ เพื่อชวนทุกคนเรียนรู้สำรวจความฝัน-ความสุข เข้าใจความเศร้า-ความผิดหวัง ผ่าน 4 บทเพลงสะท้อน 4 อารมณ์เชิงลบ แนะวิธีรับมือ ไม่ตัดฉับความรู้สึก-รู้ทัน-ยอมรับ-ทำกิจกรรมอื่น
น.ส.อัญชลี ตู้ทอง นักวิชาการเผยแพร่ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การพัฒนางานด้านสุขภาพจิตต้องเน้นการสื่อสารเพื่อสร้างความรอบรู้แก่ประชาชน ส่วนหนึ่งสื่อสารผ่านการทำงานของบุคลากรทางการสาธารณะสุขในการลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ อีกส่วนเป็นการใช้สื่อต่างๆ ทั้งสื่อมวลชน และโซเซียลมีเดีย กรมสุขภาพจิต ร่วมกับ สสส. Understand และ AIS จัดทำเนื้อหาในช่อง Youtube “บ่อจอย Channel” ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย เพราะเรื่องของสุขภาพจิต ไม่ว่าวัยไหนก็มีปัญหาเกิดขึ้นได้ จึงควรมีองค์ความรู้ มีหลักในการดูแลสุขภาพจิตของตนเองและคนใกล้ตัว แต่ละ EP จะมีความสอดคล้องกับหลักวิชาการสุขภาพจิต และต้องโดนใจผู้รับชมผู้ฟัง จึงมีแบบประเมินความพึงพอใจและสำรวจองค์ความรู้ด้านสุขภาพจิตในช่วงท้ายคลิปด้วย เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์เนื้อหารายการให้มีการตอบโจทย์ผู้ชมมากขึ้น
น.ส.พิชญ์สินี สมิทธิเนตย์ Learning Designer Understand กล่าวว่า “บ่อจอย Channel” ทำให้องค์ความรู้ด้านจิตวิทยาเป็นเรื่องง่ายที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ นำเรื่องจิตวิทยาเชิงบวก ที่ทุกคนสามารถหยิบไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยเฉพาะคนวัยทำงาน และวัยเรียน ที่มีความเครียดสูงกว่าช่วงวัยอื่น โดยงาน “บ่อจอย Mental Festival” นี้ จัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ทุกคนได้รู้จักและเข้าชมรายการ ภายในงานมี 3 กิจกรรมหลัก 1.โซน Talk เวทีเสวนาที่พาทุกคนสำรวจตัวเองทั้งเรื่องความฝัน ความสุข กับผู้เชี่ยวชาญ และพูดคุยแลกเปลี่ยนความสุขแบบง่ายๆ 2.โซน Exhibition รูปแบบตลาดรวม psychology tools ที่ให้ทุกคนช้อปเครื่องมือสุขภาพจิตโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยตัวอย่างของบูธไฮไลท์ เช่น บูธ Chair Through Times - Time to share พื้นที่ที่จะได้มาพูดคุย และยินดีที่ได้รู้จักกับตนเองในเวอร์ชั่นต่าง ๆ ผ่านช่วงชีวิตของเรา, บูธ Balancing thought ชวนตรวจสอบความคิดที่อาจทำให้เราเป็นทุกข์, บูธ Emotional dartboard ชวนรู้จัก เข้าใจ สัมผัสความรู้สึกต่างๆ เพื่อจัดการกับอารมณ์ได้อย่างทันท่วงที และยังมีบูธอีกมากกว่า 10 บูธ ให้ได้ไปสำรวจและช้อปปิ้งเครื่องมือสุขภาพจิตแบบ ฟรีๆ 3.โซน Activity พื้นที่เรียนรู้ สัมผัสประสบการณ์ส่งเสริมสุขภาพจิตเชิงบวกแบบ exclusive มีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นอย่างมาก
ผศ.นพ.ชยุติ วงศ์เลิศวิศวกร อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล กล่าวในช่วงสนทนาหัวข้อ “วิธีจัดการความทุกข์แบบฉบับคนอินเพลงเศร้า” เรียนรู้ผ่าน 4 บทเพลงและ 4 ประเด็น 1.เพลงนักสะสมความเศร้า กับวิธีการผ่านอารมณ์ต่าง ๆ 2.เพลงลบไม่ได้ช่วยให้ลืม การทิ้งสิ่งของ หรือลบโพสต์ ช่วยให้ลืมได้ง่ายขึ้นหรือไม่ 3.เพลงเลือดกรุ๊ปบี การโทษตัวเองเมื่อความสัมพันธ์ไม่เป็นไปตามที่หวัง 4.เพลงผู้ถูกเลือกให้ผิดหวัง กับธรรมชาติและกลไกความผิดหวัง ว่า อารมณ์ด้านลบไม่ผ่านไม่ได้ ต้องผ่านไปได้ วิธีการคืออยู่กับมันให้สั้นแล้วจะก้าวผ่านได้เร็ว ทำความเข้าใจและใช้เวลากับมันเต็มที่จริง ๆ ก็จะผ่านไปได้ แต่ถ้ามองว่าเศร้าแล้วพยายามไม่คิด ไม่จำ ความรู้สึกนั้นจะยิ่งอยู่นาน เพราะอารมณ์เมื่อเกิดขึ้นจะเป็นก้อนพลังงานใหญ่ ๆ การพยายามตัดฉับความรู้สึก ไม่ให้คิด เมื่อพบตัวกระตุ้นมาใหม่ จะทำให้กลับไปดิ่ง
“ความเจ็บปวดจากความรัก หรือความผิดหวัง เปรียบเทียบกับโรคทางกายให้เข้าใจง่าย 2 รูปแบบ 1.เป็นมะเร็ง ไม่ได้เสียชีวิตทันทีแต่เจ็บเรื้อรัง คนที่ผิดหวังจากความรู้สึก จะยังอยู่กับความหวังที่เผื่อความรู้สึกว่าจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้ ก็จะยังเจ็บอยู่เรื่อย ๆ 2.อุบัติเหตุรถชน จะเจ็บปวดหนักมาก แต่จะใช้เวลาสั้น สามารถกลับไปฟื้นฟูตัวเองแล้วเดินได้เหมือนเดิม ดังนั้น เมื่อผิดหวังแล้วพยายามลบสิ่งต่าง ๆ เช่น รูป คลิป จะช่วยให้ผ่านความเจ็บปวดได้เร็วขึ้น แต่ก็ยังต้องผ่านช่วงเวลาของความเจ็บปวด ส่วนการเก็บไว้ไม่ลบ ก็เหมือนป่วยเรื้อรังเรื่อยๆ แต่ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บปวดในรูปแบบใดก็จะผ่านไปได้ ความผิดหวังเป็นอารมณ์หนึ่งของมนุษย์ ทุกคนมีความคาดหวัง เมื่อผิดหวังก็ต้องรู้ทันความรู้สึก และบางครั้งความผิดหวังโดยเฉพาะเรื่องความรักไม่มีถูกหรือผิด มีแค่รักกับไม่รัก” ผศ.นพ.ชยุติ กล่าว
นายนรพันธ์ ทองเชื่อม นักจิตวิทยา นักจิตบำบัดความคิดและพฤติกรรม มีรักคลินิก กล่าวในช่วงสนทนาหัวข้อ “ค้นหาตัวเองจำเป็นไหม” ว่า การค้นหาตัวเองไม่ได้เกิดเฉพาะช่วงวัยเรียนวัยรุ่น แต่เกิดขึ้นได้ตลอดชีวิต เช่น วิกฤติวัยกลางคน ก็ยังคงต้องทบทวนและค้นหาตัวเอง การรู้ว่าตัวเองต้องการอะไรทำให้มีเป้าหมายชัดเสมือนว่ายน้ำไปสู่จุดหมาย แต่มักจะมากับความคาดหวังและกดดันสูง การรับมือกับสภาวะการทำงานหรือสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและบีบคั้น จึงชวนสำรวจอารมณ์ตัวเองในแต่ละวันอย่างสม่ำเสมอ ถ้าใจไม่พร้อมจะทำให้ไม่มีความสุข เป้าหมายที่ต้องการนั้นจะยิ่งซับซ้อนและยากขึ้น ดังนั้นในเรื่องความฝันจึงชวนสร้างสมดุลใจด้วยการคิด การทำ และความรู้สึก ไปพร้อม ๆ กัน จะทำมีความสุขกับการไปถึงความฝันหรือเป้าหมายนั้น
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 183 views