73 สถานประกอบการปลอดบุหรี่

สสส.-สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ชู 73 สถานประกอบการปลอดบุหรี่ ผ่านเกณฑ์ประเมิน ขยายเครือข่ายสถานประกอบการปลอดบุหรี่ 4,000 กว่าแห่งทั่วไป ขับเคลื่อนแรงงานปลอดบุหรี่ สุขภาพดี เตือนวัยแรงงานสูบบุหรี่หนักสุด 21% ตายจากบุหรี่ 8 หมื่นคน สูญเสียทางเศรษฐกิจ 3.5 แสนล้านบาท ชี้ลงทุนงานควบคุมบุหรี่ 1 บาท ได้ผลตอบแทนคืน 2.53 บาท 

"73 สถานประกอบการปลอดบุหรี่"

สสส.-สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ชู 73 สถานประกอบการปลอดบุหรี่

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 16 พ.ค. 2566 ที่โรงแรมโนโวเทล ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต จ.ปทุมธานี สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานประกาศเกียรติคุณสถานประกอบการปลอดบุหรี่ ภายใต้แนวคิด : รวมพลังสถานประกอบการ ต้านบุหรี่ไฟฟ้า ให้สถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์ประเมินสถานประกอบการปลอดบุหรี่ 73 แห่ง ภายในงานมีการมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณให้สถานประกอบการทั้งสิ้น 73 แห่ง แบ่งเป็น ระดับดีเด่น 15 แห่ง  ระดับก้าวหน้า 23 แห่ง และระดับพื้นฐาน 35 แห่ง 

น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า ผลสำรวจอัตราการสูบบุหรี่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุด ปี 2564 พบว่า ในภาพรวมอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปลดลงตามลำดับ แต่กลุ่มวัยทำงานสูบบุหรี่ถึง 21% ถือเป็นกลุ่มที่มีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่ากลุ่มอื่น จากรายงานขององค์การสหประชาชาติ ร่วมกับองค์การอนามัยโลก และกระทรวงสาธารณสุขไทย ปี 2564 พบว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่มากกว่า 80,000 คน คิดเป็น 18% ของการเสียชีวิตทั้งหมด ในจำนวนนี้เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองกว่า 6,000 คน คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 352,000 ล้านบาทต่อปี เทียบเท่า 2.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) องค์การสหประชาชาติ ให้คำแนะนำว่า การควบคุมยาสูบของไทยให้มีประสิทธิภาพ ต้องใช้เงินลงทุน 2,500 ล้านบาทต่อปี (น้อยกว่า 1% ของความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการสูบบุหรี่) ภายใน 15 ปี จะช่วยลดคนเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 35,790 คน และลดคนป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ 169,117 คน หรือทุก 1 บาท ที่ลงทุนจะได้ผลตอบแทนกลับมาเป็นเงิน 2.53 บาท

"ชู 73 สถานประกอบการปลอดบุหรี่"

น.ส.รุ่งอรุณ กล่าวต่อว่า สสส. มุ่งเน้นการลดอัตราการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งการป้องกันนักสูบ/นักดื่มหน้าใหม่ การลด ละ เลิกการสูบ/การดื่มของผู้สูบ/ผู้ดื่มเดิม และการดูแลสภาพแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ โดยสสส. สนับสนุนสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดำเนินงานพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่ ตั้งแต่ปี 2551 เชื่อม สาน และเสริมพลังส่งเสริมให้สถานประกอบการสามารถคุ้มครองสุขภาพของพนักงานจากควันบุหรี่ ปัจจุบันมีสถานประกอบการปลอดบุหรี่มากกว่า 4,000 แห่ง มีการบูรณาการการทำงานในประเด็นสร้างเสริมสุขภาพอื่นๆ อาทิ Happy Workplace และการพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ไปยังสายเลิกบุหรี่ 1600 ช่วยเหลือให้เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ ทำให้กลุ่มวัยทำงานมีสุขภาพที่ดีขึ้น เจ็บป่วยน้อยลง สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นำมาสู่ผลประกอบการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของสถานประกอบการ 

น.ส.ศันสนีย์ กีรติวิริยาภรณ์ ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพแรงงานในสถานประกอบการ กล่าวว่า ปัจจุบันมีสถานประกอบการปลอดบุหรี่ต้นแบบมากกว่า 400 แห่ง จากสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการกว่า 4,000 แห่ง ในปีนี้มีสถานประกอบการที่ผ่านการประเมินตามเกณฑ์ 73 แห่ง มีการจัดสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้ปลอดควันบุหรี่ ช่วยเหลือพนักงานที่ติดบุหรี่ให้สามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ และป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ในสถานประกอบการอย่างจริงจัง ทั้งนี้ ได้จัดทำคู่มือ ชุดความรู้ และเครื่องมือต่างๆ จากบทเรียนและองค์ความรู้จากการดำเนินงานป้องกันและควบคุมการสูบบุหรี่ของแรงงาน เพื่อให้ผู้ประกอบการที่สนใจนำไปใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนแรงงานสุขภาพ ปลอดบุหรี่ และพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ ต่อไป

"73 สถานประกอบการปลอดบุหรี่"

นางประไพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยรองประธานฝ่ายบริหารและบุคคล บริษัท อินโดรามา โพลีเอสเตอร์ อินดัสตรี้ส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับสุขภาพของพนักงาน จึงได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพแรงงานในสถานประกอบการ ทำให้ได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้และเครื่องมือช่วยเลิกบุหรี่จากสสส.  และหน่วยงานจากภาครัฐ การดำเนินงานให้ความสำคัญการมีส่วนร่วมจากพนักงานทุกระดับและทุกขั้นตอน มีคณะทำงานสนับสนุนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานให้ปลอดบุหรี่ และเอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ มีกลไกการช่วยพนักงานที่ติดบุหรี่ให้สามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ ทำคู่ขนานกับการป้องกันเกิดนักสูบหน้าใหม่ ที่เน้นการสื่อสารให้ความรู้แก่พนักงานตระหนักถึงพิษภัยบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ปัจจุบันมีพนักงานที่เข้าร่วมโครงการเลิกบุหรี่ 43 คน จากพนักงานที่ติดบุหรี่ 107 คน และสามารถเลิกบุหรี่ได้ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปได้ 10 คน ส่งผลให้ให้บริษัทผ่านการประเมินเป็นสถานประกอบปลอดบุหรี่ระดับดีเด่นในที่สุด 

"ชู 73 สถานประกอบการปลอดบุหรี่ "

ด้านการเสวนาในหัวข้อ “รู้เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้า” มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมปัจจัยเสี่ยงด้านบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองต่อการดำเนินงานด้านการป้องกันบุหรี่ไฟฟ้าในสถานประกอบการ ในประเด็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารพิษในบุหรี่ไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพต่อผู้สูบและคนรอบข้าง การตลาดของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าที่สามารถเข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย และกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่มีผลบังคับใช้ครอบคลุมไปยังสถานประกอบการหรือโรงงานอุตสาหกรรม

รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ย้ำถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าว่า ปัจจุบันยังมีมายาคติเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่ 1.อันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา 2.ช่วยให้เลิกบุหรี่ธรรมดาได้ และ 3.ไม่ดึงดูดเด็กหรือเยาวชน แท้ที่จริงแล้ว บุหรี่ไฟฟ้าคือ บุหรี่ประเภทหนึ่ง ที่ผู้ผลิตปรับรูปแบบให้โฉมหน้าเข้ากับยุคสมัย ทำให้การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่บริษัทที่ขายบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าก็เป็นกลุ่มเดียวกันและใช้กลยุทธ์เดียวกัน 

"ชู 73 สถานประกอบการปลอดบุหรี่ "

"บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อร่างกาย โดยเฉพาะน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ที่มีส่วนผสมหลัก ๆ 4 กลุ่ม ทั้งสารเคมีที่อยู่ในตัวบุหรี่ไฟฟ้า และยังมีสารพิษเกิดขึ้นใหม่เมื่อสารนั้นถูกความร้อนอีกด้วย และแม้ว่าจะมีการโฆษณาของบุหรี่ไฟฟ้าบางชนิดว่าไม่มีนิโคติน ก็ยังตรวจพบนิโคติน สารนี้เป็นสารเเสพติด ที่ผู้ผลิตใส่ไปเพื่อให้ซื้อใช้ในระยะยาว" รศ.พญ.เริงฤดี กล่าวและยังเปิดเผยถึงความจริง 8 ประการ บุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่

  1. นิโคตินเป็นสารเสพติด นิโคติน ติดง่าย เลิกยากกว่า เฮโรอีน และโคเคน โดยบุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคติน ซึ่งเป็นสารเสพติดและมีอันตรายต่อเด็กและเยาวชน เช่น กระทบต่อการสร้างเซลล์สมอง เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมมารบกวน ในช่วงอายุก่อน 25 ปี ทำลายพัฒนาการทางสมองในเด็ก ทำให้การพัฒนาของสมองแย่ลง อีกทั้งยังพบสารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่าบุหรี่ธรรมดา
  2. บุหรี่ไฟฟ้ายังมีสารเคมีอันตรายจำนวนมาก ในบุหรี่ไฟฟ้ามีทั้งสารก่อมะเร็ง โลหะหนัก ทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 ค่อนข้างสูง สารเติมแต่งกลิ่นและรสชาติ ในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าก็ไม่ปลอดภัย แม้ว่าสารบางอย่างกินได้ แต่ไม่ใช่ว่าเอามาสูบแล้วจะปลอดภัย 
  3. ผลต่อปอดระยะสั้น รุนแรงกว่า พบปัญหาโรคปอดอักเสบเฉียบพลันที่รุนแรงกว่า และไม่เคยพบจากการสูบบุหรี่ธรรมดา 
  4. ผลระยะยาวยังไม่ทราบ แต่เมื่อผลกระทบระยะสั้นมีแน่ เมื่อผลกระทบระยะสั้นของการสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้นเลวร้ายยิ่งกว่า ก็เชื่อได้ถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าในระยะยาว ตัวอย่างของผลกระทบในร่างกาย เช่น ส่งผลเสียต่อการทำงานของหัวใจ ระบบทางเดินหายใจ จากสารนิโคติน และสารพิษในตัวบุหรี่ไฟฟ้า มีผลต่อการทำงานของหลอดเลือด ทำให้ความยืดหยุ่นที่จะสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายจะอ่อนแอลง นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืดและถุงลมโป่งพองมากขึ้น 2 เท่า ส่งผลต่อดีเอนเอเสี่ยงมะเร็งไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา มีผลต่อเส้นเลือดไปเลี้ยงดวงตาเสี่ยงตาบอดเพิ่มขึ้น 2 เท่า และยังพบการศึกษาด้วยการนำปัสสาวะของคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าไปตรวจ มีสารไซยาไนด์มากกว่าคนไม่สูบ
  5. สารพิษต่างจากบุหรี่ธรรมดา ในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า มีสารเคมีเกือบ 2 พันชนิด ซึ่งไม่พบในบุหรี่มวน จึงไม่สามารถบอกได้ว่า อันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน เพราะสารพิษเป็นคนละชนิดกัน
  6. บุหรี่ไฟฟ้าทำการตลาดพุ่งไปที่วัยรุ่น เด็กและเยาวชน บุหรี่ไฟฟ้าเปลี่ยนโครงสร้างนิโคตินเดิมให้สูบง่ายขึ้น ไม่ให้ระคายเคืองคอ สูบง่าย ยิ่งสูบยิ่งติด พุ่งสู่สมองได้เร็วเทียบเท่าบุหรี่ธรรมดา โดยเด็กไทยที่เริ่มด้วยการสูบบุหรี่ไฟฟ้า มีแนวโน้มสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่ม 5 เท่า 
  7. บุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยเลิกบุหรี่ องค์การอนามัยโลกยืนยัน ยังไม่มีงานวิจัยที่เป็นกลาง ดังนั้น บุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยเลิกบุหรี่ 
  8. บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าผิดกฎหมายในประเทศไทย 

รศ.พญ.เริงฤดี ยังกล่าวถึงสถานประกอบการจะจัดการผลกระทบทางสุขภาพจากบุหรี่ไฟฟ้าอย่างไร ว่า ควรทำให้สถานประกอบการปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อปกป้องพนักงานจากการสัมผัสควันมือสองจากทั้งบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าโดยไม่สมัครใจ และส่งเสริมโครงการเลิกบุหรี่โดยกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของสถานประกอบการปลอดบุหรี่ ส่วนพนักงาน หากเป็นไปได้ให้เลือกทำงานในสถานประกอบการปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ควรส่งเสริม กระตุ้นเพื่อนร่วมงานให้เลิกบุหรี่

ด้าน รศ.ดร.ศรีรัช ลอยสมุทร นักวิชาการประจำหน่วยวิชาการบ่มเพาะเครือข่ายนักจัดการปัจจัยเสี่ยง เสริมว่า ภัยที่เห็นอย่างชัดเจน มาพร้อมการตลาดที่เป็นมิตรต่อเด็ก ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า บุหรี่ไฟฟ้าพุ่งเป้าไปที่เด็ก โดยผลิตภัณฑ์และการตลาดที่เป็นมิตรต่อเด็ก การเข้าถึงออนไลน์ การส่องเสริมการขายและความเชื่อผิด ๆ อีกทั้งปรับรูปแบบใหม่ให้ดูน่ารัก ล่าสุดบุหรี่ไฟฟ้า Gen 5 เรียกว่า Toy Pod หน้าตาเป็นการ์ตูน ตุ๊กตา กล่องขนม ของเล่น เพราะเด็กคือ คนรุ่นใหม่ที่เป็นกลุ่มลูกค้า ต้องการทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาคุ้นเคยกับยาสูบ 

"73 สถานประกอบการปลอดบุหรี่"

รศ.ดร.ศรีรัช กล่าวด้วยว่า บุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบันจำหน่ายทางออนไลน์จำนวนมาก ดึงดูดใจด้วยการทำกิจกรรมแจกของแบรนด์เนม ส่งเสริมการขาย เช่น แจกโทรศัพท์มือถือ มอเตอร์ไซค์ และทองคำ อีกทั้งยังให้ข้อมูลผิด ๆ เปรียบเทียบว่าบุหรี่ไฟฟ้าดีกว่าบุหรี่มวน อาทิ ปลอดภัยกว่า ไม่มีสารก่อมะเร็ง หรือเรียกตัวเองว่าเป็น นิโคตินทดแทน ไม่มีสารพิษตกค้าง และมีกลิ่นหอม 

ขณะที่ นายอดิศักดิ์ พุ่มทอง รองหัวหน้ากลุ่มพัฒนากฎหมายฯ การควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ยืนยันว่า บุหรี่ไฟฟ้านั้นผิดกฎหมาย โดยมีกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 4 ฉบับ ได้แก่ 

  1. ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557
  2. คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับที่ 9/2558
  3. พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 
  4. พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 

ทั้งนี้ โรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการที่มีการผลิตสินค้า สถานที่ทำงานเอกชน ต้องมีเขตปลอดบุหรี่ ประกอบด้วย พื้นที่ภายในและดาดฟ้าของอาคาร โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง รวมถึงบริเวณทั้งหมดซึ่งวัดจากประตู หน้าต่าง ทางเข้า ทางออก ท่อ หรือช่องระบายอากาศ เป็นระยะ 5 เมตร โดยให้ผู้ดำเนินการจัดสถานที่ หรือยานพาหนะ ให้มีสภาพและลักษณะ ดังต่อไปนี้

  • ต้องมีเครื่องหมายแสดงไว้ให้เห็นได้โดยชัดเจนว่า "เป็นเขตปลอดบุหรี่"
  • ปราศจากอุปกรณ์ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการสูบบุหรี่
  • มีสภาพและลักษณะอื่นใด ตามที่ รัฐมนตรีประกาศกำหนด 

"ชู 73 สถานประกอบการปลอดบุหรี่"

นายอดิศักดิ์ ย้ำด้วยว่า บุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ห้ามขาย ห้ามนำเข้า ห้ามสูบ (ในพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่) กรณีการครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า แม้ไม่มีเจตนาหรือไม่รู้เป็นของมีความผิด หากพบเห็นสามารถแจ้งหรือส่งต่อข้อมูลเรื่อง บุหรี่ไฟฟ้า ได้ที่สายด่วน สคบ. 1166 และระบบร้องทุกข์ผู้บริโภค OCPB Complaint

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : สคบ.เผยเหตุผล “บุหรี่ไฟฟ้า” ผิดกฎหมาย...เพราะอะไรการพกพาจึงมีโทษหนัก

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org