นโยบายสาธารณสุขเลือกตั้ง 66
นโยบายสาธารณสุขเลือกตั้ง 66 "เพื่อไทย" ชูหนึ่งผู้ซื้อสามกองทุน สปสช.เป็นบริษัทประกัน ดูแลรักษาในมาตรฐานเดียวกัน "ประชาธิปัตย์" ให้ผู้ประกันตนเลือกใช้สิทธิ์การรักษาเอง พร้อมนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ รวมถึงรพ.เอกชน
ตามที่ 5 สำนักข่าวประกอบด้วย Hfocus, The Better, Today, The Active และคมชัดลึก ผนึกกำลังร่วมจัดเวทีดีเบต "นโยบายสาธารณสุขเลือกตั้ง 66" เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้าร่วมเพื่อแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะประเด็นสิทธิการรักษาพยาบาลทั้ง 3 กองทุน ได้แก่ 1.สิทธิสวัสดิการข้าราชการหรือกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กรมบัญชีกลาง 2.กองทุนประกันสังคม 3.กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ภาคประชาชนเสนอว่าควรมีการรวม 3 กองทุนให้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการเดียวให้ สำนักงานหลักประกันสุขแห่งชาติ หรือ สปสช. เป็นคนบริหารจัดการ
"เพื่อไทย" ชูนโยบายรักษามาตรฐานเดียวทั้ง 3 กองทุน ให้ สปสช.เป็นบริษัทประกันของรัฐขนาดใหญ่
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผู้ช่วยหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ชูนโยบายหนึ่งผู้ซื้อสามกองทุน โดยให้ สปสช.เป็นองค์กรหรือบริษัทที่ซื้อประกันสุขภาพให้ประชาชน กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะทำหน้าที่คล้ายกับบริษัทประกันสุขภาพให้ประชาชน ตามจ่ายเงินให้สถานบริการ โดยโรงพยาบาลจะทำหน้าที่ให้การรักษา สปสช.มีหน้าที่รับประกันสุขภาพให้ทุกคน หากประชาชนไปใช้ประกันที่ไหนก็จ่ายตามเงื่อนไขที่ตั้งเอาไว้ ทำให้เกิดมาตรฐานการรักษามาตรฐานเดียว ทั้งงการรักษาพยาบาล ยาที่ใช้ กระบวนการผ่าตัด ก็ควรจะเหมือนกันทั้ง 3 กองทุน โดยคำนวณตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัยว่า แต่ละปีรัฐบาลต้องซื้อประกันให้ประชาชนเท่าไหร่ และให้ทุกกองทุนสุขภาพมาซื้อประกันจาก สปสช. เกิดการรักษามาตรฐานเดียว หรือ 1 มาตรฐาน 1 บริษัทประกันสุขภาพ
"มาตรฐานในการรักษาพยาบาลของทั้ง 3 กองทุน ควรจะเท่าเทียมกัน เช่น ยาบางตัวที่ข้าราชการได้ แต่ประชาชนทั่วไปไม่ได้ แล้วยาเหล่านั้นจำเป็นหรือไม่ในการรักษาพยาบาล ประชาชนต้องได้รับเหมือนกันหรือไม่ ซึ่งต้องถูกพิสูจน์จากหลักวิชาการและงานวิจัย หากพบว่า ยาตัวนี้จำเป็น ก็ต้องรีบแก้ไขที่บัญชียาหลักแห่งชาติ แต่ถ้านอกเหนือจากมาตรฐานการรักษาพยาบาล สิทธิพิเศษบางอย่างที่ไม่ได้เกี่ยวกับพื้นฐานของการรักษา ก็ให้ทางกองทุนพิจารณาจ่ายเพิ่มเติม" นพ.สุรพงษ์ กล่าว
นพ.สุรพงษ์ เพิ่มเติมด้วยว่า สปสช.ก็ต้องปฏิรูปตัวเองด้วย ทบทวนภารกิจ หรือวิธีคิด เพื่อการทำงานร่วมกันกับผู้เกี่ยวข้องในโรงพยาบาล ทำอย่างไรให้ระบบต่าง ๆ มีประสิทธิภาพ ดูแลค่าใช้จ่ายให้โรงพยาบาลได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม โดยเริ่มต้นด้วยการดูแลประชาชน 47 ล้านคนให้ดีเสียก่อน ตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ให้ข้อมูลของผู้มีสิทธิ์บัตรทองอยู่บนคลาวด์ ในระยะต้น สปสช.ควรเดินหน้าในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบก่อน ระยะต่อไปเมื่อทำได้ดีแล้ว รัฐบาลจึงมอบให้เป็นองค์กรหลักประกันสุขภาพที่ดูแลบริหารจัดการข้อมูลทั้งระบบ
ส่วนเรื่องการเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์และปรับค่าตอบแทนนั้น นพ.สุรพงษ์ ให้ความเห็นว่า หัวใจของเรื่องนี้ คือ การไม่กระจายอำนาจอย่างแท้จริง แทนที่โรงพยาบาลจะอยู่ใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข ถึงเวลากระจายอำนาจแล้ว เช่น โรงพยาบาลบ้านแพ้วองค์การมหาชน เมื่อมีคณะกรรมการของโรงพยาบาลรับผิดชอบ จึงมีการปรับค่าตอบแทนได้อย่างเหมาะสม มีบุคลากรทางการแพทย์มาเพิ่ม และจัดตารางเวลาให้เหมาะสมกับภาระงานของแพทย์ หรือในโรงพยาบาลเอกชน ก็ไม่มีเรื่องการเกี่ยงกันอยู่เวร หรือภาระงานหนักเกินไป
"การกระจายอำนาจจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาที่ต้นตอ ควรไปทีละพื้นที่หรือทีละเฟส ขึ้นอยู่กับความพร้อม อาจกระจายเป็นเครือข่ายได้ เช่น 1 จังหวัด 1 โครงข่ายหลายโรงพยาบาล เป็น 1 องค์การมหาชน ไม่ควรมีรูปแบบตายตัว ขึ้นอยู่กับลักษณะพิเศษของแต่ละพื้นที่ สำหรับการออกกฎว่าไม่ควรทำงานเกินกี่ชั่วโมงนั้น ออกกฎได้ แต่ถ้าอำนาจยังไม่ถูกกระจาย แพทย์ก็ลาออก ถ้ากระจายอำนาจให้บริหารจัดการได้จริง ๆ ผู้รับผิดชอบอยู่ตรงนั้นก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้เร็ว นอกจากนี้ ยังควรเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ใช่แค่ดูแลเฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศและประชาชน เพราะเมืองไทยมีจุดแข็งทั้งสปา นวดไทย สมุนไพรไทย สามารถเป็น Wellness Destination ได้" นพ.สุรพงษ์ เพิ่มเติม
"ประชาธิปัตย์" ให้ผู้ประกันตนเลือกใช้สิทธิ์การรักษาเอง พร้อมนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่-รพ.เอกชน
ด้านนโยบายสาธารณสุขของพรรคประชาธิปัตย์ มีนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ รวมไปถึงโรงพยาบาลเอกชน กระจายอำนาจให้โรงพยาบาลเป็นองค์การมหาชน โดยให้ผู้ประกันตนเลือกใช้สิทธิ์รักษาบัตรทองได้ พร้อมปรับสิทธิ์ประโยชน์ประกันสังคม ให้เท่ากับสิทธิ์อื่น
นพ.เธียรชัย สุวรรณเพ็ญ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คนไทยดูแลสุขภาพได้ด้วย 3 กองทุน สำหรับนโยบายแรกที่พรรค ปชป.เห็นถึงความจำเป็น คือ การปรับแก้และเปลี่ยนแปลงกฎหมายบางข้อ ให้ประชาชนที่เจ็บป่วยเข้าถึงบริการสุขภาพ มีโอกาสที่จะได้อิสระในการเลือกใช้สิทธิ์ เพราะความมุ่งหมายของการไปโรงพยาบาล ต้องรักษาได้ รักษาอย่างรวดเร็ว หายได้เร็ว ประชาชนมั่นใจและศรัทธาในโรงพยาบาลนั้น ทั้งนี้ การแก้กฎหมาย กฎระเบียบ หากมีการแก้ไขได้ทั้ง 3 กองทุน ก็สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ จะต้องไม่ทำลายสิทธิเดิมที่มีอยู่
"ขณะนี้สิทธิ์ในการรักษาพยาบาลทุกคนเข้าถึงทั่วกันหมด เข้าสู่กระบวนการรักษาได้หมด แต่ทุกภาคส่วนบอกว่า ช้า ไม่สะดวก เป็นอุปสรรค เรื่องนี้ยังแก้ไขไม่ได้ จึงคิดว่าต้องทำให้ผู้ใช้บริการเป็นอิสระ เลือกได้เองว่าจะเอาสิทธิ์ไหนอย่างไร สามารถเลือกโรงพยาบาลไหนก็ได้ แม้แต่โรงพยาบาลเอกชน เป็นการเข้าถึงโรงพยาบาลที่มีคุณภาพ อาจใช้ระบบที่ว่า นำเงินที่ได้ต่อหัวไปทำประกันกับบริษัทเอกชนก็ได้ เพื่อให้เป็นอิสระมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ อีกนโยบายที่สำคัญ คือ เรื่องการกระจายอำนาจให้โรงพยาบาลเป็นองค์การมหาชน ตามที่พรรค ปชป.นำเสนอ เช่นเดียวกับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว" นพ.เธียรชัย อธิบาย
ส่วนความกังวลที่ว่า ผู้ใช้สิทธิ์จะเลือกโรงพยาบาลเอกชนจนทำให้เกิดความแออัดได้นั้น นพ.เธียรชัย ให้ความเห็นว่า ข้อเท็จจริงแล้ว โรงพยาบาลเอกชนที่รับผู้ประกันตนภายใต้ระบบประกันสังคม ที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหา เพราะต้นทุน รายรับรายจ่าย พออยู่ได้ การให้ประชาชนใช้สิทธิ์ที่โรงพยาบาลเอกชนจะช่วยสร้างรายได้ แต่หากมีคนใช้บริการมากหรือแออัด ฝ่ายบริหารก็ต้องจัดการดูแล
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
นโยบายสาธารณสุข 3 พรรค แก้ปัญหารพ.แออัด ไม่รวม 3 กองทุน รักษาถึงบ้าน ให้ความสำคัญบุคลากร
“ชาติไทยพัฒนา” ชูนโยบายสุขภาพดีมีเงินคืน ส่วนก้าวไกล ชู “2 ลด 2 เพิ่ม” ลดชั่วโมงการทำงานของแพทย์-เพิ่มความครอบคลุมการรักษา
"รวมไทยสร้างชาติ"ชู รพ.วิสาหกิจเพื่อสังคม "ไทยสร้างไทย"ใช้หมอ AI ช่วย
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 342 views