รองเลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่เยี่ยมชมผู้ป่วยในโครงการบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตผ่านทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) ของโรงพยาบาลชัยนาท ย้ำเป็นนโยบายสำคัญที่ สปสช. พยายามขับเคลื่อนและผลักดันให้มีการใช้เครื่อง APD ให้แพร่หลายมากขึ้น
เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ทพ.อรรถพร บิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย สปสช. เขต 3 นครสวรรค์ ลงพื้นที่ จ.ชัยนาท เพื่อรับฟังและเยี่ยมชมโครงการบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตผ่านทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) ของโรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร และเยี่ยมบ้านผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รับการรักษาโดยวิธี APD
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ต้องรับการบำบัดทดแทนไตในระบบหลักประกันสุขภาพจะมีทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ 1. การล้างไตทางเส้นเลือด หรือการฟอกเลือด (HD) 2. การล้างไตทางหน้าท้อง แบบที่ผู้ป่วยทำเอง หรือ CAPD ซึ่งจะมีรอบการล้างเฉลี่ย 3-4 รอบต่อวัน และ การล้างไตทางหน้าท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ หรือ APD และ 3.การปลูกถ่ายไต ซึ่งหากพูดถึงประสิทธิภาพแล้ว วิธีการปลูกถ่ายไตเป็นวิธีที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่จำนวนไตที่สามารถนำมาปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยมีน้อย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงรับการบำบัดทดแทนไตใน 2 วิธีคือการฟอกเลือดและการล้างไตทางหน้าท้อง
ในส่วนของการบำบัดทดแทนไตด้วยเครื่อง APD เป็นทางเลือกล่าสุดที่ สปสช. ได้เพิ่มเข้ามาในชุดสิทธิประโยชน์ โดยมีหลักการทำงานแบบเดียวกับการล้างไตทางหน้าท้อง เพียงแต่เปลี่ยนมาใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติ ใช้เวลาประมาณ 8 - 10 ชั่วโมง ในเวลากลางคืน ทำให้ผู้ป่วยสามารถเปิดให้เครื่องล้างไตทำงานแล้วนอนหลับได้เลย เมื่อตื่นขึ้นมาก็ล้างไตเสร็จพอดี วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่ต้องออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านและไม่สะดวกล้างไตด้วยตนเอง เช่น ผู้ป่วยที่ต้องออกไปเรียนหรือออกไปทำงาน เป็นต้น
“วิธีการล้างไตด้วยเครื่อง APD ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสุขสบายและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น สามารถมีชีวิตประจำวันกลับมาเป็นเกือบปกติเหมือนคนทั่วไป จุดนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ สปสช. พยายามขับเคลื่อนและผลักดันให้มีการนำเครื่อง APD ไปใช้กับผู้ป่วยที่มีความจำเป็น ให้ได้เข้าถึงบริการนี้มากยิ่งขึ้น ปัจจุบันเรามีผู้ป่วยสิทธิบัตรบัตรทองที่ใช้เครื่อง APD ประมาณ 2,500 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่ที่ใช้เครื่อง APD เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 170- 200 ราย/เดือน”ทพ.อรรถพรกล่าว
ด้าน แพทย์หญิงอังคณา อุปพงษ์ ผอ.รพ.ชัยนาทนเรนทร กล่าวว่า โรงพยาบาลชัยนาทนเรนทรมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต จำนวน 94 ราย ใช้วิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) 28 ราย ล้างไตทางหน้าท้องด้วยตนเอง (CAPD) 66 ราย ส่วนการล้างไตทางหน้าท้องด้วยเครื่องAutomated Peritoneal Dialysis (APD) นั้น เริ่มจัดบริการเมื่อ วันที่ 9 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ขณะนี้มีผู้ป่วยที่ใช้เครื่อง APD จำนวน 12 ราย โดยที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ ยังไม่พบปัญหาใดๆ อย่างกรณี ผู้ป่วยรายคุณอำพร ชื่นจิตร์ ได้เริ่มนำเครื่องล้างไตอัตโนมัติมาใช้กับผู้ป่วยตั้งแต่เดือน ก.ค. 2565 จนถึงปัจจุบัน 9 เดือน ยังไม่พบปัญหา การติดเชื้อที่เยื้อบุช่องท้อง และแผลช่องสายออก ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองในชีวิตประจำวันและร่วมกิจกรรมทางสังคมได้เป็นอย่างดี สุขภาพดีขึ้น
แพทย์หญิงกิติยา แช่มอุบล อายุรแพทย์โรคไต ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดบริการสำหรับ ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่รับบริการล้างไตทางหน้าท้องด้วยเครื่อง APD ระบบบริการที่โรงพยาบาลฯ ได้วางแนวทางไว้ นอกจาก จะมีอายุรแพทย์โรคไต อายุรแพทย์ทั่วไป และพยาบาลเฉพาะทางการบำบัดทดแทนไตคอยดูแลผู้ป่วยในภาพรวม แล้ว ยังมีบริการให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง โดย PD nurse มีบริการให้คำปรึกษาทาง Application Line กลุ่ม APD โดยทีมสหสาขาวิชาชีพร่วมให้คำปรึกษา มีการจัดโครงการ CKD และ CAPD สัญจรเพื่อประเมินติดตามการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการดูแล ในชุมชน การเยี่ยมบ้าน การกำจัดถุงน้ำยาล้างไตที่ใช้แล้ว เป็นต้น"
จากนั้นลงเยี่ยมบ้าน นางอำพร ชื่นจิตร์ อายุ 62 ปี ซึ่งผู้ป่วยได้รับการบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตทางหน้าท้องด้วยตนเอง (CAPD) ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2565 ต่อมาผู้ป่วยและญาติสนใจ การทำล้างไตด้วยเครื่อง APD จึงสมัครเข้ารับบริการโดยได้รับการเตรียมความพร้อมในการทำล้างไตทางหน้าท้องด้วยเครื่องAPD จากหน่วยล้างไตทางหน้าท้องของโรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร ร่วมกับ โรงพยาบาลสรรพยา ผ่านการประเมินคัดเลือกผู้ป่วยเพื่อทำการล้างไตด้วยเครื่อง APD เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 และเริ่มทำการล้างไตด้วยเครื่อง APD ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นมา ระยะเวลาจนถึงปัจจุบัน 9 เดือน ยังไม่พบปัญหาการติดเชื้อที่เยื้อบุช่องท้อง ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองในชีวิตประจำวันและร่วมกิจกรรม ทางสังคมได้สุขภาพแข็งแรง
ด้านนางน้ำผึ้ง จิรานันท์สกุล พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลชัยนาจนเรนทร กล่าวว่า ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง รวมถึงให้คำปรึกษา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในระยะที่ 5 ที่ต้องทำการบำบัดทดแทนไต โดยผู้ป่วยสามารถเลือกวิธีได้ 3 แบบ อาทิ ผู้ป่วยที่อยู่บ้านไกลอาจจะเลือกวิธี “ล้างไตผ่านหน้าท้อง” หรือผู้ป่วยที่เดินทางสะดวกมีญาติมาส่ง ส่วนมากจะเลือกวิธี “ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม” หรืออีกวิธีคือการผ่าตัดเปลี่ยนไตซึ่งคนไข้ที่อายุน้อยกว่า 60 ปี จะแนะนำให้ไปผ่าตัดเปลี่ยนไต ในส่วนนี้เราจะให้คำปรึกษากับผู้ป่วยก่อนทุกครั้ง
และเมื่อถึงกระบวนการที่ผู้ป่วยตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกวิธีไหน อาทิเลือกล้างไตผ่านหน้าท้อง เราจะมีหน้าที่แนะนำและสอนวิธีการใช้งานให้โดยละเอียด โดยมีญาติเข้ามาคุยด้วยเพื่อให้เป็นแนวทางตามกระบวนการ ซึ่งการเตรียมพร้อมจะมีหลายหน่วยงานเข้ามาดูแล เช่น ทีมสหวิชาชีพ อสม. หรือทีมโรงพยาบาลอำเภอ เข้ามาเตรียมความพร้อมด้วย โดยจะประเมินสิ่งแวดล้อมที่บ้านว่าเหมาะสมไหมหรือมีอะไรที่ต้องปรับปรุงหรือไม่ หลังจากนั้นก็ดูแลผู้ป่วยเป็นระยะโดยการเข้ามาเยี่ยมบ้านผู้ป่วยตามกรอบที่กำหนด แนะนำวิธีการรับประทานอาหารที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยอีกด้วย ส่วนเรื่องน้ำยาล้างไตไปรษณีย์สามารถจัดส่งได้ตามกำหนด ที่ผ่านมายังไม่พบปัญหามากนัก
- 200 views