“ชาติไทยพัฒนา” ชูนโยบายสุขภาพดีมีเงินคืน 3000 บาททำได้จริงสวัสดิการอัพเกรดได้ พร้อมสร้างศูนย์เด็กเล็กครบทุกชุมชน ดูแลผู้สูงอายุ ผ่านการสร้างงาน ด้านพรรคก้าวไกล ชู “2 ลด 2 เพิ่ม” คือลดความเหลื่อมล้ำ-ลดชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และเพิ่มความครอบคลุมในการรักษา-แนวทางป้องกัน-ประคับประคอง

ตามที่ 5 สำนักข่าวประกอบด้วย Hfocus,  The Better,  Today,  The Active  และคมชัดลึก ผนึกกำลังร่วมจัดเวทีดีเบต ”นโยบายสาธารณสุขเลือกตั้ง 66“  เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วม โดยนายแพทย์ วาโย อัศวรุ่งเรือง  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่พูดถึงการเพิ่มการตรวจสุขภาพกายสุขภาพจิต-ลดความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุน  (บัตรทอง ประกันสังคม สิทธิสวัสดิการข้าราชการ) และ ดร.อุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา รองเลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา ที่พูดถึงนโยบายสุขภาพดีมีเงินคืน 3000 บาท จะเป็นอย่างไร...

ดร.อุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา รองเลขาธิการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า สุขภาพดีมีเงินคืน 3000 บาททำได้จริงสวัสดิการอัพเกรดได้ อาทิ ส่งเสริมการจัดเก็บข้อมูลกิจกรรมทางสุขภาพเช่นการตรวจสุขภาพประจำปีกิจกรรมการออกกำลังกายประวัติการรักษาพยาบาลผ่านแอพพลิเคชั่นสำหรับประชาชนที่สุขภาพดีออกกำลังกายสม่ำเสมอไม่มีประวัติการรักษาพยาบาลสามารถรับเครดิต 3000 บาทเพื่อซื้อสินค้า จัดตั้งระบบประกันพลัส สำหรับประชาชนที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพพื้นฐาน 10 บัตรทองสิทธิ์ประกันสังคมและสิทธิ์สวัสดิการข้าราชการสามารถสมทบทุนส่วนตัวเพื่ออัพเกรดในการใช้สิทธิ์ในโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมได้

นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้เด็กเกิดใหม่มีจำนวนมากขึ้นเนื่องจากทุกวันนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยสร้างแรงจูงใจให้ค่าคลอดบุตร 5000 บาท ให้เงินดูแล 10,000 บาท/เดือน กับเด็กเกิดใหม่ รวมถึงเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 10 ขวบ ได้รับ 10,000 บาท/ปี สร้างศูนย์เด็กเล็กครบทุกชุมชน ดูแลผู้สูงอายุ ผ่านการสร้างงาน สร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และเพื่อลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เสนอให้นำพวงเครื่องปรุงออกจากสถานศึกษา เพื่อลดการบริโภค เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม      

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายด้านสังคมสร้างสวัสดิภาพ เด็กและสตรีผู้มีความหลากหลายทางเพศผู้สูงอายุผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส พรรคชาติไทยพัฒนามุ่งมั่นให้ความสำคัญกับการจัดให้มีเครือข่ายความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาคราชการและเอกชนในการสนับสนุนการจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กภายใต้การควบคุมมาตรฐานอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเด็กเร่ร่อนป้องกันคุ้มครองสตรีจากการถูกล่อลวงหรือถูกล่วงละเมิด และถูกทารุณกรรม ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิ์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศจัดสวัสดิการที่เหมาะแก่ผู้สูงอายุฟื้นฟูพัฒนาผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส ให้ได้รับการศึกษาและการพัฒนาตนให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างภาคภูมิรวมทั้งจะสนับสนุนให้ผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงแหล่งงานและบริการสวัสดิการสาธารณะอย่างเป็นธรรมและการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นประโยชน์ให้มีประสิทธิภาพ

ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน พรรคชาติไทยพัฒนามุ่งมั่นที่จะส่งเสริมบริการสาธารณะที่เอื้อต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตและมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนและจะเคร่งครัดต่อการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เร่งรัดแก้ไขปัญหายาเสพติดตลอดจนการแค่ไขปัญหาชุมชนแออัด และปัญหาการจราจรติดขัดในเขตเมืองรวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย 

 

ด้านนายแพทย์ วาโย อัศวรุ่งเรือง  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า สำหรับนโยบายสุขภาพพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะเรื่องการทำงานของบุคคลากรทางการแพทย์ ซึ่งค่าเฉลี่ยประเทศไทยในขณะที่มาตรฐานชั่วโมงการทำงานคือ วันละ 8 ชั่วโมง แต่หมอต้องทำงานวันละ 17 ชั่วโมงหลายครั้งไม่ได้นอนข้ามวันข้ามคืน โดยจากสถิติพบว่าการทำงานต่อเนื่องกัน 17 ชั่วโมง ซึ่งเป็นจำนวนชั่วโมงทำงานต่อวันโดยเฉลี่ยของแพทย์โรงพยาบาลรัฐนั้น กระทบต่อสมรรถภาพร่างกายเทียบเท่าการมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 0.05% ซึ่งในบางประเทศเป็นระดับแอลกอฮอล์ที่มีการออกกฎหมายห้ามขับรถ

ทางออกของเรื่องนี้ จำเป็นต้องใช้หลักการ “2 ลด 2 เพิ่ม” ประกอบด้วย ลดที่ 1 คือลดความเหลื่อมล้ำ เพราะปัจจุบันแพทย์ส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ ด้วยสัดส่วนแพทย์ต่อคนไข้ 1:600 คน ขณะที่แพทย์ในจังหวัดอื่นๆ เช่น จ.บึงกาฬ มีสัดส่วนแพทย์ต่อคนไข้ถึง 1:5,000 คน หรือ จ.กระบี่ มีสัดส่วนแพทย์ต่อคนไข้ 1:3,000 คน สะท้อนความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรอย่างชัดเจน ประชาชนแต่ละพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงคุณภาพการให้บริการที่ใกล้เคียงกัน ลดที่ 2 คือลดชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ไม่เช่นนั้น ประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าแพทย์ที่ต้องทำงานหนักอย่างต่อเนื่องหลายชั่วโมง จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่เกิดความผิดพลาด ส่วนการแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มคนเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ลดชั่วโมงทำงาน จะทำให้บุคลากรไหลออกจากระบบอยู่ดี

ส่วน “2 เพิ่ม” คือการทำให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีตั้งแต่ต้น และเพิ่มช่องทางอื่นๆ ในการรักษา เพื่อลดความแออัดและลดการรอคอยที่โรงพยาบาล ประกอบด้วย เพิ่มที่ 1 เพิ่มความครอบคลุมในการรักษา ไม่ใช่เพียงการรักษาสุขภาพทางกายเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงสุขภาพทางใจ เพิ่มที่ 2 เพิ่มแนวทางป้องกัน-รักษา-ประคับประคอง เช่น การคัดกรองมะเร็งให้ครอบคลุมและทำได้ทันที จากปัจจุบันการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง 6 ชนิด ต้องมีใบสั่งจากแพทย์ก่อน ทำให้ใช้เวลายาวนานกว่าจะพบโรคและรับการรักษา รวมถึงเพิ่มวิธีการรักษาที่หลากหลายสำหรับโรคบางชนิด เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มแนวทางการประคับประคองดูแลผู้ป่วยติดเตียง

นอกจากนี้ยังมีนโยบาย เพิ่มแนวทางป้องกัน-รักษา-ประคับประคอง เช่น การคัดกรองมะเร็งให้ครอบคลุมและทำได้ทันที จากปัจจุบันการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง 6 ชนิด ต้องมีใบสั่งจากแพทย์ก่อน ทำให้ใช้เวลายาวนานกว่าจะพบโรคและรับการรักษา รวมถึงเพิ่มวิธีการรักษาที่หลากหลายสำหรับโรคบางชนิด เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มแนวทางการประคับประคองดูแลผู้ป่วยติดเตียง

คนอีกกลุ่มคนที่สำคัญ สร้างคุณูปการต่อวงการสาธารณสุขไทย คืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ที่ทำหน้าที่ป้องกันโรคภัยและส่งเสริมสุขภาพ อสม. ไม่ควรเป็นเพียงอาสาสมัคร แต่สามารถทำเป็นอาชีพได้ โดยเพิ่มเติมการอบรมความรู้และเพิ่มค่าตอบแทนให้เหมาะสมตามชิ้นงานพรรคก้าวไกลจึงต้องการผลักดันให้ทุก รพ.สต. มีหมอประจำ หรืออย่างน้อยต้องมีบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) เพื่อเพิ่มทางเลือกของประชาชนในการเข้าถึงแพทย์และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปโรงพยาบาล

นอกจากนี้ เราต้องมีนโยบายสร้างแรงจูงใจให้คนดูแลสุขภาพ ผ่านการให้รางวัลแก่คนสุขภาพดี และนโยบายเชิงป้องกันอื่นๆ เช่น การคัดกรองโรคให้มากขึ้น เพิ่มการฉีดวัคซีน เพราะเราตระหนักว่าต้นทุนการป้องกันโรคถูกกว่าการรักษา เราตระหนักดีว่าการดูแลสุขภาพเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสภาพเศรษฐกิจของประชาชน คนร่ำรวยอาจมีเวลาและทรัพยากรเพื่อใช้ดูแลสุขภาพของตัวเองได้มากกว่าคนยากจน

 

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง 

นโยบายสาธารณสุข 3 พรรค แก้ปัญหารพ.แออัด  ไม่รวม 3 กองทุน  รักษาถึงบ้าน ให้ความสำคัญบุคลากร

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org