คณะกรรมการโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม เห็นชอบเพิ่ม “โรคจากรังสีแตกตัว” เป็นโรคจากการประกอบอาชีพฯ รวมทั้งให้อำนาจประกาศเขตพื้นที่ เฝ้าระวัง ควบคุมฝุ่น PM 2.5  สามารถออกมาตรการต่างๆได้ ด้านอธิบดีคร.เล็งใช้กฎเกณฑ์ทดลองในจังหวัดค่าฝุ่นสูง

 

เห็นชอบแนวทางดำเนินงาน “รังสี” และ “ฝุ่นPM2.5”

เมื่อวันที่ 4  พฤษภาคม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ว่า วันนี้ที่ประชุมรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 และการจัดตั้งหน่วยบริการต่างๆ ดูแลอาชีวเวชกรรม โดยวันนี้มีเรื่องการวางมาตรการทางกฎหมายเฝ้าระวังโรคจากฝุ่น PM 2.5 หากจะประกาศเขตควบคุม เขตเฝ้าระวัง จะมีหลักเกณฑ์อย่างไร โดยคณะกรรมการฯ เห็นชอบในหลักการจะมีการประกาศเขตพื้นที่ที่ต้องมีการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากการประอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม กรณีฝุ่น PM 2.5 ซึ่งจะมี 2 แนวทางในการประกาศ ดังนี้

1.คณะกรรมการฯ ระดับชาติเสนอเข้า ครม.เห็นชอบออกประกาศเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง หรือพื้นที่ควบคุม ในภาพรวมระดับประเทศ กรณีสถานการณ์มากกว่า 1 จังหวัด ซึ่งจะมีการฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ เพราะมีกฎหมายหลายฉบับเกี่ยวข้อง ทั้งของ ปภ. คุ้มครองแรงงาน สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ประมวลให้สมบูรณ์แบบก่อนเข้า ครม.

2.คณะกรรมการโรคจากการประกอบอาชีพฯ จังหวัด/กทม.เสนออธิบดีกรมควบคุมโรคเพื่อออกประกาศ เมื่อเห็นปัญหาและความจำเป็นในพื้นที่ตนเอง

"ขณะนี้กำลังจะเข้าฤดูฝน สถานการณ์ฝุ่นจากนี้คงไม่มีปัญหามากนัก ก็เป็นโอกาสที่เรามีเวลา 3-6 เดือนเตรียมต่างๆ ให้เกิดความรอบคอบมากที่สุด ทั้งนี้ เมื่อมีการประกาศเขตพื้นที่แล้วจะมีมาตรการอะไรออกมา เช่น ภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ท้องถิ่น และประชาชนต้องทำอะไร ถ้าไม่ทำจะมีข้อลงโทษอะไร เป็นรายละเอียดที่ต้องดำเนินการต่อ คล้ายการควบคุมโควิด ซึ่งมาตรการก็จะดูทุกอย่าง เช่น สีแดงต้องมีมาตรการ ไม่ได้ดูแค่โรคอย่างเดียวที่เป็นปลายเหตุ หากอันตรายจริงๆ ก็ต้องมีการควบคุมแหล่งเกิดไม่ให้มี ควบคุมประชาชนให้ปฏิบัติตัวอย่างไร ต้องใช้กับกฎหมายอื่นๆ หลายฉบับประกาศร่วมกัน" นพ.โอภาสกล่าว

โรคจากรังสีแตกตัว คือ...

นพ.โอภาสกล่าวว่า คณะกรรมการฯ ยังเห็นชอบประกาศกำหนดชื่อและอาการสำคัญของโรคจากการประกอบอาชีพฯ โดยเพิ่ม "โรคจากรังสีแตกตัว" เนื่องจากที่ผ่านมามีสถานการณ์เรื่องของซีเซียม-137 ที่เป็นประเด็น เช่นกันรังสีเกี่ยวข้องกับหลายกฎหมายหลายหน่วยงาน ทั้งสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงอุตสาหกรรม ศัพท์บางคำมีการพูดไม่ตรงกัน วันนี้เห็นชอบว่าจะประกาศแต่ขอไปทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนว่านิยามสอดคล้องต้องกันกับทุกฝ่ายหรือไม่ ก่อนออกประกาศต่อไป ทั้งนี้ หลังจากมีการประกาศฯ แล้ว ผู้ที่มีอาการเข้าได้กับนิยามจะมีระบบรายงานเพื่อให้เกิดการเฝ้าระวัง ซึ่งการเฝ้าระวังโรคมีความสำคัญมาก บางครั้งการเกิดโรคขึ้นมาคนเดียวจะไม่ผิดสังเกต แต่หากเกิดพร้อมกันหลายคนในช่วงเวลาเดียวกัน มีปัจจัยเสี่ยงเดียวกัน คือความสำคัญทางระบาดวิทยา ที่ต้องไปหาสาเหตุจบพบต้นตอ และการที่ต้องแยกมาเป็นโรคจากการประกอบอาชีพฯ ก็จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของการชดเชยทดแทน มีกฎหมายแรงงานเกี่ยวข้องด้วย การทำงานต้องร่วมกันทุกฝ่าย

"เราเคยเจอสถานการณ์เรื่องโคบอลต์มานานแล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่มีกฎหมาย เราจึงมาออก พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพฯ ในปี 2562 ก็เนื่องจากโคบอลต์ และมีอนุบัญญัติตามมาที่ให้กำหนดว่าโรคอะไร อาการเป็นอย่างไร จึงเป็นที่มาของการออกโรคจากรังสีแตกตัว สำหรับอาการในการเฝ้าระวังโรคจากรังสีแตกตัวนั้น จะเป็นนิยามกว้างๆ เพื่อให้เอาคนเข้ามาและสอบสวนดูว่าเกี่ยวข้องกันหรือไม่ เป็นอาการสำหรับการเฝ้าระวังภาพรวมของประเทศสำหรับนักระบาดวิทยา เช่น มีตุ่มน้ำ มีผื่นขึ้น มีมะเร็งอะไรต่างๆ เป็นต้น แต่ไม่ใช่อาการสำหรับวินิจฉัยขั้นสุดท้ายว่าเป็นโรค" นพ.โอภาสกล่าว

กรมควบคุมโรคเผยข้อดีประกาศพื้นที่เฝ้าระวังฝุ่น PM 2.5  

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การประกาศเขตพื้นที่เฝ้าระวัง พื้นที่ควบคุม และพื้นที่ควบคุมสูงสุด กรณีฝุ่น PM 2.5 จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ เช่น ค่าฝุ่นต้องเกินเท่าไรกี่วัน ซึ่งยังติดในเรื่องนี้อยู่ว่าควรเป็นเกณฑ์เท่าไร เนื่องจากรับทราบจากกรมควบคุมมลพิษว่า จะมีการบังคับใช้ตัวเลขค่าฝุ่นใหม่ จึงให้ 2-3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือกันก่อน สำหรับอำนาจจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่เฝ้าระวัง เป็นภาพใหญ่หลายจังหวัดรวมกัน ต้องเสนอเข้า ครม.เห็นชอบ และกรณีมีความเร่งด่วนหรืออันตราย ให้สามารถประกาศพื้นที่ควบคุมในจังหวัดนั้น โดยอธิบดีควบคุมโรค ภายใต้คณะกรรมการฯ จังหวัด/กทม. พอประกาศแล้วให้สามารถประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการเงื่อนไขในการดำเนินการได้ เช่น ดำเนินการกับแหล่งที่ทำให้เกิดฝุ่น ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะแตกต่างกันว่ามาจากปัญหาใด อย่างต่างจังหวัดอาจต้องควบคุมการเผาอ้อย หรือ กทม.อาจควบคุมการเผาขยะ ควบคุมเรื่องรถราต่างๆ มาตรการป้องกันการเจ็บป่วยของคน และการรักษาพยาบาล อย่างพื้นที่ควบคุมสูงสุด ก็อาจจะเสนอให้มีการทำงานที่บ้านหรือสั่งปิดโรงเรียนได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ จะมีกฎหมายต่างๆ หลายฉบับเกี่ยวข้อง จึงให้ไปชวนเข้ามาร่วมด้วย เมื่อประกาศแล้วจะสามารถเอาเครื่องมือไปใช้ได้ทันที นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเสนอว่าน่าจะเอาหลักเกณฑ์ที่รอประกาศไปใช้ในบางจังหวัดว่า กลไกจะทำงานอย่างไร เพื่อให้หลักเกณฑ์ที่เราเสนอเข้าไปอยู่บนพื้นฐานจริงๆ อาจจะเป็นจังหวัดที่มีค่าฝุ่นสูง เช่น เชียงใหม่ เชียงราย หรือเลือกจังหวัดหลางๆ เป็นพื้นที่ตัวอย่างเฝ้าระวัง เป็นต้น โดยทั้งหมดจะทันกับสถานการณ์ฝุ่นในครั้งหน้า

"นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์"

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์