ภาวะ Long Covid
ภาวะ Long Covid อาการเป็นอย่างไร ทำให้เกิดอาการขี้หลงขี้ลืม มีผลต่อสมอง จริงหรือไม่ เป็นได้นานกี่เดือน อาการที่พบบ่อยทางด้านร่างกาย มีอะไรบ้าง
ภาวะ Long Covid อาการที่หลงเหลืออยู่ของเชื้อโควิด 19
ภาวะ Long Covid หรืออาการที่หลงเหลืออยู่ของเชื้อโควิด 19 เกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้ป่วยหายจาก โควิด 19 แต่อาการของผู้ป่วยที่หายแล้ว ก็ยังคล้ายคลึงกับอาการตอนเป็นโควิด 19 โดย ภาวะ Long Covid สามารถเกิดขึ้นได้หลายระบบในร่างกาย เช่น
- ระบบทางเดินหายใจ
- ระบบประสาท
- ระบบทางเดินอาหาร
- ระบบหัวใจและหลอดเลือด
อาการที่หลงเหลืออยู่ของเชื้อโควิด 19 นั้นจะพบมากในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักตัวมาก ผู้มีประวัติเป็นโรคหัวใจ ผู้ที่มีอาการติดเชื้อโควิด 19 ที่รุนแรง รวมถึงผู้สูงอายุ เนื่องจากอวัยวะต่าง ๆ ของร่ายการเสื่อมถอยร่วมกับมีการอักเสบจากการติดเชื้อโควิด 19 ทำให้ผู้ป่วยบางรายมีอาการต่อเนื่องได้นานมากกว่าคนปกติ
จากอาการ "ลองโควิด" ที่พบได้ในหลายระบบของร่างกาย ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ภาวะ Long Covid ทำให้เกิดอาการขี้หลงขี้ลืม มีผลต่อสมอง จริงหรือไม่ แล้วอาการที่พบบ่อยทางด้านร่างกาย มีอะไรบ้าง พญ.บุษกร โลหารชุนกรมการแพทย์ ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญานสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลกับ Hfocus ว่า กรมการแพทย์ โดยสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ ได้มีการศึกษาติดตามอาการกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่รับการรักษาในหน่วยงานสังกัดกรมการแพทย์ในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านทางช่องทางการสื่อสารเพื่อให้ผู้ป่วยประเมินอาการตนเอง รับทราบความรู้ และดูแลสังเกต อาการเบื้องต้นได้ จำนวน 17,893 ราย รวมทั้งได้มีการติดตามอาการภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มบุคลากร สังกัดกรมการแพทย์จำนวน 3,284 ราย พบว่า สามารถพบได้หลากหลายอาการในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย บางคนอาจมีอาการผิดปกติเพียงอาการเดียว หรือหลายอาการร่วมกันได้
อาการของภาวะลองโควิดที่พบได้บ่อย 10 อันดับแรก ได้แก่
- อ่อนเพลีย
- หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- นอนไม่หลับ
- ไอ
- ปวดศีรษะ
- ผมร่วง
- เวียนศีรษะ
- วิตกกังวล
- ความจำสั้น
- เจ็บหน้าอก
ส่วนใหญ่ความรุนแรงของอาการจะอยู่ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ส่วนอาการผิดปกติสามารถพบได้ยาวนานแตกต่างกันตั้งแต่ 3 เดือน ไปจนกระทั่ง 12 เดือน แต่ส่วนใหญ่อาการมักค่อย ๆ ดีขึ้น และหายไปในที่สุด
ความผิดปกติทางระบบประสาทที่พบบ่อย
พญ.บุษกร เพิ่มเติมว่า ส่วนความผิดปกติทางระบบประสาทที่พบบ่อยในกลุ่มลองโควิด ได้แก่
- อาการปวดศีรษะ
- อาการมึนศีรษะ
- อ่อนเพลีย
- ภาวะบกพร่องของปริชาน ได้แก่ ความสามารถด้านสมาธิและความจำที่ใช้ในการทำงาน (attention and working memory) และการตัดสินใจวางแผน (executive function) ซึ่งอาจจะสัมพันธ์กับการติดเชื้อรุนแรง
- การมีรอยโรคที่สมองอยู่เดิม หรือระหว่างการเป็นโรคโควิด-19
- มีภาวะโรคร่วมทางจิตเวช เช่น ภาวะซึมเศร้า
ทั้งนี้ ข้อมูลการศึกษาติดตามอาการเหล่านี้ยังไม่เพียงพอที่จะยืนยันความสัมพันธ์หรือสาเหตุการก่อโรคได้
คำแนะนำผู้ป่วยโควิด-19
ผอ.สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญานสังวรเพื่อผู้สูงอายุ ยังให้คำแนะนำผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยว่า คำแนะนำที่สำคัญ คือ ผู้ป่วยโควิด-19 ควรรับการรักษาตามอาการ ประเมินและสังเกตอาการผิดปกติภายหลังจากครบกำหนดการรักษา หากสงสัยว่าจะมีความผิดปกติในระบบต่าง ๆ สามารถขอคำปรึกษาและรับการตรวจเพิ่มเติมจากสถานพยาบาลใกล้บ้าน โดยคลายความวิตกกังวลซึ่งเป็นสาเหตุร่วมหนึ่งที่ทำให้เกิดความผิดปกติต่าง ๆ ตามมาได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางการดูแลตนเองในผู้ป่วยที่เพิ่งหายป่วยจากโรคโควิด-19 ควรฟื้นฟูสมรรถภาพปอด ด้วยการออกกำลังกาย ชนิดแอโรบิคแบบเบา ๆ ฝึกการหายใจแบบช้าและลึก เพื่อให้กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจมีความแข็งแรง เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะควันบุหรี่ธรรมดาหรือแม้แต่บุหรี่ไฟฟ้า ฝุ่น PM2.5
ที่สำคัญควรรักษาสุขอนามัยของตนเองด้วยการล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ ทุกครั้งที่สัมผัส ควรเว้นระยะห่างจากผู้อื่น 1-2 เมตร หากผู้ป่วยหมั่นดูแลสุขภาพตนเองอย่างต่อเนื่อง ไม่วิตกกังวลจนเกินไป ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ และหากพบว่ามีอาการภาวะ Long Covid กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ควรพบแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษา
นอกจากนี้ กรมการแพทย์ได้จัดทำแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หลังรักษาหาย (Post COVID syndrome) หรือภาวะ Long COVID สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข แนวทางการจัดตั้งคลินิกลองโควิด รวมทั้งได้จัดทำแบบสอบถามการติดเชื้อโควิด-19 และอาการหลังการติดเชื้อโควิด-19 สำหรับประชาชน พร้อมสื่อความรู้เกี่ยวกับภาวะลองโควิด ที่เผยแพร่ในหลายช่องทางสื่อสังคมต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถประเมินตนเองและมีความรู้เบื้องต้นในการดูแลตนเองได้ซึ่งปัจจุบันหน่วยรักษาพยาบาลต่าง ๆ มีความรู้และทักษะการดูแลผู้ป่วยที่สงสัยภาวะลองโควิด โดยดำเนินการจัดบริการตามแนวทางที่กรมการแพทย์จัดทำและเผยแพร่ ซึ่งขณะนี้สถานพยาบาลหลายแห่งมีการเผยแพร่คำแนะนำ แบบสอบถามอาการเพื่อประเมินตนเองในผู้ป่วยโควิด-19 ที่รับการรักษาดูแลก่อนจำหน่าย รวมทั้งมีการเผยแพร่ผ่านช่องทาง Official line และแอพพลิเคชั่นหมอพร้อม
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : แนะ ผู้ป่วยลองโควิด-19 ฟื้นฟูร่างกายด้วยการเน้นกิน ‘โปรตีน – โพรไบโอติกส์ – วิตามิน’
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 1306 views