สปสช. ขอความร่วมมือหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั่วประเทศ ร่วมดูแลผู้ป่วยโควิด-19 สิทธิบัตรทอง พร้อมเปิดหลักเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาพยาบาล ครอบคลุมทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน ค่ายาและเวชภัณฑ์ รวมถึงค่าบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
วันที่ 20 เมษายน 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา สปสช. ได้มีการประชุมหารือเพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท โดยมีการนำเสนอรายละเอียด “หลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19” ที่เป็นการจ่ายชดเชยค่าบริการให้กับหน่วยบริการที่ร่วมให้บริการผู้ป่วยโควิด-19 สิทธิบัตรทอง ดังนี้
1. บริการผู้ป่วยนอก
- หน่วยบริการประจำ การเบิกจ่ายจะรวมอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัว แต่หากเป็นหน่วยบริการที่ไม่ได้เป็นหน่วยบริการประจำ จะเป็นการเบิกจ่ายกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉินผู้ป่วยนอก (OPAE) และบริการปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้ (OP anywhere) สำหรับการตรวจ ATK Professional use ในกลุ่มเสี่ยงตามหลักเกณฑ์กระทรวงสาธารณสุขและตามดุลยพินิจแพทย์จะได้ค่าตรวจ 150 บาท/ครั้ง ค่าตรวจ RT-PCR 900 บาท โดยในกรณีที่ผู้ป่วยต้องรับยารักษาโควิด-19 สามารถเบิกจ่ายค่ายาเพิ่มเติม ดังนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์ 14 บาท/เม็ด ยาโมนูลพิราเวียร์ 12 บาท/เม็ด
- ร้านยาคุณภาพของฉันให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย เป็นการเบิกจ่ายค่าบริการทางเภสัชกรรมด้านเภสัชกรมปฐมภูมิ ซึ่งรวมถึงบริการโรคโควิด-19 ในอัตราเหมาจ่าย 180 บาท/ครั้ง โดยมีบริการคำปรึกษา ยาและเวชภัณฑ์ บริการติดตามอาการและผลการดูแล
- พบแพทย์ออนไลน์ ส่งยาฟรีถึงบ้าน (หน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านเวชกรรม) เป็นการเบิกจ่ายค่าบริการสาธารณสุขระบบทางไกล ประกอบด้วย ค่าตรวจวินิจฉัยให้คำปรึกษา อัตราบริการ 100 บาท/ครั้ง, ค่าตรวจวินิจฉัยให้คำปรึกษา รวมยาและเวชภัณฑ์ อัตราบริการ 150 บาท/ครั้ง, ค่าตรวจวินิจฉัยให้คำปรึกษา ค่ายาและเวชภัณฑ์ รวมค่าส่งยา อัตราบริการ 200 บาท/ครั้ง ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องได้รับยารักษาโรคโควิด-19 สามารถเบิกจ่ายค่ายาเพิ่มเติม ดังนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์ 14 บาท/เม็ด ยาโมนูลพิราเวียร์ 12 บาท/เม็ด
2. บริการผู้ป่วยใน
หน่วยบริการที่ให้การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจะเป็นการจ่ายตามระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) แต่ในกรณีที่เป็นการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้าข่ายอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) หากเป็นการเข้ารับการรักษาที่โรงเรียนแพทย์ ห้องฉุกเฉินคุณภาพ ให้เบิกจ่ายตามระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม ร่วมกับการเบิกจ่ายตามรายการบริการฉุกเฉินวิกฤติ (FS UCEP) ภาครัฐ 728 รายการ ส่วนกรณีสถานบริการอื่น ให้เบิกจ่ายในรายการฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ (UCEP)
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในส่วนค่าบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ได้แก่ ค่าพาหนะรับส่งต่อให้เบิกจ่ายตามอัตราปกติในระบบ ค่าบริการฟอกเลือดในผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ให้เบิกจ่ายค่าบริการในอัตรา 1,500 บาท/ครั้ง หรือในอัตรา 1,300 บาท และเบิกจ่ายตัวกรอง สาย และเข็ม นอกจากนี้ยังมีค่าอุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโดยจ่ายตามจริงไม่เกิน 1,000 บาท/ครั้ง และค่าพาหนะตามอัตราการจ่ายในระบบปกติ โดยรวมค่าทำความสะอาดไม่เกิน 500 บาท ส่วนกรณีการรักษาผู้ป่วยที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 การเบิกจ่ายก็ให้เป็นไปตามการเบิกจ่ายค่าบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในตามระบบปกติ
กรณีที่มีผู้ป่วยโควิด-19 สิทธิบัตรทอง
“กรณีที่มีผู้ป่วยโควิด-19 สิทธิบัตรทองเข้ารับการรักษา สปสช.ขอความร่วมมือหน่วยบริการทุกแห่งทั่วประเทศให้ร่วมกันดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยในส่วนของค่าบริการนั้น ขอให้เรียกเก็บจาก สปสช. ซึ่งได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 รองรับไว้แล้ว เมื่อหน่วยบริการ สปสช. ส่งรายการเบิกจ่ายเข้ามา สปสช.จะรีบดำเนินการจ่ายค่าบริการโดยเร็วที่สุด” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
- 5503 views