ปลัดสธ. อยู่ระหว่างหารือนำงบกลางประมาณ 3,000 ล้านบาท จ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิดทุกสายงาน ทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข เหตุที่ช้ายังขาดเอกสารหลักฐานหน่วยงานนอกสังกัด ส่วนเรื่องบรรจุข้าราชการโควิดอยู่ขั้นตอนพิจารณาของสำนักงาน ก.พ.

 

เตรียมงบกลาง 3 พันล้านจ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิด

เมื่อวันที่ 19 เมษายน นพ.โอภาส การย์กวิงพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการจัดสรรค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานช่วงโควิด19 ว่า  ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้มีการหารือร่วมกับสำนักงบประมาณ ในเรื่องการจัดสรรค่าเสี่ยงภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานโควิด19 ทุกสายงาน โดยมีงบประมาณที่เป็นงบกลางเหลืออยู่ประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งได้มีการทำเรื่องไปตั้งนานแล้ว แต่เนื่องจากช่วงเลือกตั้งหากจะของบฯ หรือดำเนินการอะไรช่วงนี้จะลำบาก จึงได้นำงบกลางที่มีอยู่เดิมเพื่อนำมาจ่ายก่อน ซึ่งจะจ่ายให้ทั้งในส่วนของบุคลากรที่ปฏิบัติงานโควิดในกระทรวงสาธารณสุข และนอกกระทรวงสาธารณสุข

 

สาเหตุที่จ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิด ทั้งในและนอกสังกัดล่าช้า

“สาเหตุที่ช้า เนื่องจากติดเรื่องเอกสาร ข้อมูลที่ยังไม่ครบถ้วนจากหน่วยงานนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จึงต้องมีการส่งเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ชัดเจนแล้วว่า จะจ่ายอันแรกก่อนคือ งบกลางประมาณ 3,000 ล้านบาท ที่เหลืออยู่ให้จบไปก่อน ซึ่งจะจ่ายได้ถึงช่วงของเดือนมิถุนายนที่ยังค้าง ส่วนเดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน รอรัฐบาลใหม่แล้วมาดำเนินการกันอีกครั้ง แต่ระหว่างนี้ให้เตรียมข้อมูลให้พร้อมก่อน” นพ.โอภาส กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าการจัดสรรงบกลางราว 3,000 ล้านบาท คือให้สายสนับสนุนด้วยหรือไม่ ปลัดสธ. กล่าวว่า ให้ทุกสายงานที่เข้าเกณฑ์ปฏิบัติงานโควิด

เมื่อถามว่าค่าเสี่ยงภัยงบกลางราว 3 พันล้านบาทจะเริ่มจ่ายให้บุคลากรทุกสายงานทั้งในและนอกสังกัดเมื่อไหร่ นพ.โอภาส กล่าวว่า กำลังหารือกันอยู่ โดยต้องรอข้อมูลจากนอกกระทรวงฯ ต้องมีหลักฐานครบ จากนั้นก็จะสามารถจ่ายได้ตามขั้นตอนที่ถูกต้อง

“เรื่องค่าเสี่ยงภัยโควิด ได้มอบหมายให้ทางพื้นที่สื่อสารสร้างความเข้าใจบุคลากรทุกคนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทุกอย่างมีขั้นตอนในการดำเนินการ” ปลัดสธ. กล่าว

เมื่อถามกรณีการบรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง ยังคงมีอยู่หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ขั้นตอนอยู่ที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.สั่งรพ.ตั้งแผนกฉีดวัคซีน “โควิด-ไข้หวัดใหญ่” ไม่เชื่อบุคลากรโอด! ไม่ได้ค่าเสี่ยงภัยไม่อยากทำงาน)

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มติ ครม.เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 ให้กระทรวงสาธารณสุขยุติการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขและค่ารักษาพยาบาล กรณีโรคโควิด 19 เพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่ปรับโรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 แต่ยังมีค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิด 19 ช่วงก่อนถึงวันที่ 1 ตุลาคม ที่ค้างจ่ายอีกจำนวนหนึ่ง  โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เผยแพร่ข่าวเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา เกี่ยวงกับการสรุปร่างรายละเอียดการทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 (ค้างจ่ายปีงบประมาณ 2565) ทั้งในสังกัดและนอกกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นการยืนยันยอดสุดท้าย รวมทั้งสิ้น 7,181,616,699.04 บาท แบ่งเป็น ค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วย (คนต่างด้าว/ไร้รัฐ) กรณีไม่มีสิทธิสวัสดิการภาครัฐ ในช่วงมกราคม - กันยายน 2565 รวม 230,872,030 บาท และค่าตอบแทนค้างจ่าย จำนวน 6,950,744,669.04 บาท ได้แก่ 

1.ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยค้างจ่าย ปีงบประมาณ 2564 (กรกฎาคม-กันยายน 2564) ของบุคลากรสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 3,950,875 บาท

2.ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยค้างจ่ายปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม 2564 - กันยายน 2565) รวม 6,932,790,669.04 บาท เป็นในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 4,712,115,288.62 บาท และนอกสังกัด 2,220,675,380.42 บาท

3.ค่าตอบแทนค้างจ่ายเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานฉีดวัคซีนโควิด 19 นอกสถานพยาบาล ของกรมการแพทย์ เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2565 จำนวน 14,003,125 บาท โดยแต่ละหน่วยงานจะต้องส่งรายละเอียดหลักฐานการปฏิบัติงานเพื่อประกอบคำของบประมาณ โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ (งบกลาง) จากสำนักงบประมาณ ตามกรอบระยะเวลาที่วางไว้ต่อไป 

ข่าวเกี่ยวข้อง : สธ.เตรียมของบกลาง 7.1 พันล้านบาท จ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิดค้างจ่ายและค่ารักษากลุ่มไร้สิทธิ 

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org