โรงพยาบาลบางปะอิน เปิดข้อมูลหลังยกระดับการให้บริการ ‘ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า’ มาเป็นเวลากว่า 1 ปี ผอ.รพ. ระบุ พร้อมเป็น ‘แม่ข่ายรับส่งต่อ’ ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมจากพื้นที่ใกล้เคียง-กรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน ช่วย ‘สิทธิบัตรทอง’ เข้าถึงการรักษากว่า 60 ราย ลดเวลารอคอยการรักษาจาก 1-2 ปี เหลือ 3-6 เดือน
วันที่ 17 เมษายน 2566 นพ.ฐาปกรณ์ จิตตนูนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า หลังจากที่โรงพยาบาลบางปะอินได้เปิดให้บริการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งนับเป็นโรงพยาบาลชุมชนแห่งแรก รวมถึงเป็นโรงพยาบาลแห่งที่ 2 ของ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีศักยภาพในการให้การรักษาโรคดังกล่าว ได้ช่วยให้ประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทองหรือบัตร 30 บาท) ใน อ.บางปะอิน เข้าถึงบริการได้มากขึ้นอย่างมาก โดยสามารถลดระยะเวลารอคอยเพื่อเข้ารับการรักษาที่จากเดิมต้องรอนัดหมายผ่าตัดนานถึง 1-2 ปี เพราะมีโรงพยาบาลรัฐเพียงแห่งเดียวที่ทำได้ แต่ปัจจุบันระยะเวลาการรอคอยเฉลี่ยลดลงเหลือเพียง 3-6 เดือนเท่านั้น
นอกจากนี้ โรงพยาบาลบางปะอินยังได้ทำหน้าที่เป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย (Node) ให้กับโรงพยาบาลบางไทร และโรงพยาบาลวังน้อย ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ข้างเคียง ในการรับส่งต่อเพื่อให้การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมอีกด้วย รวมถึงต่อยอดในการรับส่งต่อกรณีเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินที่ต้องรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมโดยด่วน ซึ่งช่วยให้ลดความแออัดและแบ่งเบาภาระจากโรงพยาบาลจังหวัดที่ปกติแล้วต้องรับหน้าที่ดังกล่าว
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางปะอิน กล่าวต่อไปว่า ข้อมูลโดยเฉลี่ยตั้งแต่เปิดให้บริการมาถึงปัจจุบัน ทางโรงพยาบาลได้ให้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมไปแล้วกว่า 129 ราย โดยในปี 2566 นี้ให้บริการไปแล้วจำนวน 76 ราย ซึ่งจากจำนวนทั้งหมดประมาณ 60-70% เป็นผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง ซึ่งต้องบอกว่างบประมาณที่ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดสรรมาเพื่อสนับสนุนการให้บริการนี้เพียงพอที่จะบริหารจัดการ
“ถ้าเป็นคนไข้บัตรทองไม่ว่าจะเป็นจากใน อ.บางประอิน หรือพื้นที่อื่นๆ และประสงค์จะมารับบริการ ซึ่งมีอาการที่เข้าเกณฑ์การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม รวมทั้งทางทีมแพทย์ของเราพร้อมให้บริการ ก็สามารถมาเข้ารับการนัดหมายเพื่อรับการรักษาได้เลยโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะนโยบายและหลักเกณฑ์ของ สปสช. ครอบคลุมไว้หมดแล้ว” นพ.ฐาปกรณ์ ระบุ
นพ.ฐาปกรณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับปี 2566 นี้ ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะทำการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมให้ได้ทั้งหมด 200 ราย ซึ่งเป็นจำนวนกว่า 15% ของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมในเขตสุขภาพที่ 4 รวมถึงในอนาคตอันใกล้จะมีการขยายห้องผ่าตัด หาบุคลากรเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถให้บริการได้มากขึ้น เพื่อรองรับผู้ป่วยจากอำเภออื่นๆ เช่น มหาราช บ้านแพรก พาชี และยังคงจุดเน้นเรื่องการรักษาที่มีมาตรฐานไม่ต่างจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และระยะในการรอคอยเพื่อรับการรักษาที่เร็วกว่าหลายแห่ง
“มั่นใจได้ว่าการผ่าตัดรักษา รวมเครื่องไม้เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษามีคุณภาพแน่นอน เพราะการจะให้บริการได้ต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับทาง สปสช. ซึ่งมีการประสานงานกับราชวิทยาลัยศัลยกรรมกระดูกและข้อ ที่จะเป็นผู้ประเมินในด้านต่างๆ เช่น การดูแลผู้ป่วยในห้องไอซียู การดูแลผู้ป่วยในห้องผ่าตัด โดยเป็นมาตรฐานแบบเดียวกันทั้งประเทศ ไม่ว่าจะโรงเรียนแพทย์ หรือโรงพยาบาลจังหวัด” นพ.ฐาปกรณ์ กล่าว
- 811 views