กรมควบคุมโรค สสส.ภาคีเครือข่าย จัดทำข้อมูลวิธีการสังเกตและประเมินอาการมึนเมาสุราเบื้องต้น มุ่งเน้น สงกรานต์นี้ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนทุกคน

 

สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยแพร่ข้อมูลเตือนประชาชนเกี่ยวกับการสังเกตและประเมินอาการมึนเมาสุราเบื้องต้น

โดยระบุว่า การดื่มแล้วขับ เป็นสาเหตุหลักของการบาดเจ็บ และการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ โดยอุบัติเหตุส่วนมากเกิดบนถนน อบต. หมู่บ้าน เทศบาล ทางหลวงชนบท ดังนั้น เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้พิจารณาแนวทางสนับสนุนการลดอุบัติเหตุตามแนวคิด “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัย ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ไร้อุบัติเหตุ” ยึดแนวทางและหลักการของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ผ่านมาตรการ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” โดย อสม. ร่วมตั้งด่านชุมชน และทดสอบผู้ขับขี่ที่สงสัยว่าดื่มแล้วขับ โดยใช้การสังเกต และประเมินอาการมึนเมาสุราเบื้องต้น

สังเกตอาการแสดงออกทางร่างกาย อารมณ์ ผู้มีลักษณะเมาสุรา

สำหรับวิธีสังเกตผู้ที่มีภาวะเมาสุราอาจจะมีลักษณะอาการที่แสดงออกทางร่างกาย และพฤติกรรมกรรมหลายด้าน ซึ่งผู้ใกล้ชิดอาจจะสังเกต และประเมินได้เบื้องต้น ดังนี้

-อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายและแสดงออกอย่างไม่เหมาะสม หรืออารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

-พูดจากหรือแสดงพฤติกรรมการไม่เหมาะสมกับกาลเทศะ เช่น พูดโพล่งเสียงดัง พูดมากขาดสาระ พูดจาก้าวร้าว เกี่ยวพาราสีลวนลามผู้อื่น

-มีอาการทางจิตประสาท เช่น พูดจาอ้อแอ้ เดินเซ ตากระตุก สมาธิและความจำบกพร่อง หรือ อาจจะหมดสติ

-ระดับการรู้สึกตัวเสียไป ซึม หมดสติ และอาจจะเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ สรุปวิธีการประเมินอาการมึนเมาสุรา ดังนี้

1.สังเกตจากการแสดงออกทางร่างกาย และอารมณ์และพฤติกรรม

1.1 ตาเยิ้มแดง หนังตาหย่อน ลืมตาไม่ขึ้น

1.2 สังเกตกลิ่นกาย คนที่เมาสุรามักจะมีกลิ่นแอลกอฮอล์ซึมออกมาจากตัว

1.3 การควบคุมการเคลื่อนไหว คนที่มีอาการเมาสุรามักจะเดินเป็นเส้นตรงไม่ได้ เดินโซเซ มือสั่น เป็นต้น

2.ประเมินเบื้องต้นจากอากการทางร่างกาย

2.1 แตะจมูกตัวเอง

ยืดแขนไปข้างหน้าแล้วชี้นิ้วออกไป จากนั้นให้งอศอกและเอานิ้วมาแตะที่ปลายจมูกโดยไม่ลืมตา หากแตกที่ปลายจมูกไม่ได้ แสดงว่าบุคคลนั้นน่าจะอยู่ในภาวะมึนเมาสุรา

2.2 เดินแล้วหัน

ยืนตัวตรง เดินสลับเท้าโดยให้ส้นชิดปลายเท้า เป็นเส้นตรงไปข้างหน้า 9 ก้าว แล้วหันตัวด้วยเท้า 1 ข้าง จากนั้นเดินสลับเท้าแบบส้นชิดปลายอีก 9 ก้าว หากไม่สามารถเดินให้ส้นเท้าชิดปลายเท้าได้ ต้องใช้แขนช่วยพยุง หรือล้มเซว แสดงว่าบุคคลนั้นน่าจะอยู่ในภาวะมึนเมาสุรา

2.3 ยืนขาเดียว

ให้บุคคลนั้นยืนตัวตรง ยกขาข้างหนึ่งขึ้นจากพื้น 15 ซม. เริ่มนับ “1000, 1001, 1002... จนกว่าจะครบ 30 วินาที หากตัวเซ วางเท้าลง เขย่งหรือใช้แขนทรงตัว แสดงว่าบุคคลนั้นน่าจะอยู่ในภาวะมึนเมาสุรา

ขอบคุณข้อมูล

ที่มา : การสังเกตและประเมินอาการเมาสุรา

วิทย์ วิชัยดิษฐ และศาสตราจารย์สาวิตรี อัษณางด์กรชัย. ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.2563.