คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เห็นชอบลดเกิดอุบัติเหตุทางถนนช่วงสงกรานต์ 2564 “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” มอบคกก.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด/กทม. เข้มบังคับใช้กฎหมาย ห้ามขายผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ลดแลกแจกแถม การโฆษณา
เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับมอบหมายจากนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครั้งที่ 1/2564 โดยคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้เสนอให้ประสานงานกับศบค. เพื่อกำหนดแนวทางการจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ให้ปลอดภัยจากโควิด 19 และอุบัติเหตุทางถนน (Free Alcohol Free Covid-19) โดยกำหนดให้สถานที่จัดกิจกรรมในเทศกาลสงกรานต์ต้องไม่มีการขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณสถานที่จัดงาน และมีจุดสกัดเพื่อคัดกรองผู้ดื่มแล้วขับ ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ”
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการ ฯ เห็นชอบให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด/กทม. ร่วมกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด สรรพสามิต และฝ่ายปกครอง จัดทำแผนมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และลดอุบัติเหตุทางถนน บูรณาการร่วมกับแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เน้นการห้ามขายให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ ห้ามขายในลักษณะการลด แลก แจก แถม
ให้แลกเปลี่ยนกับสิ่งอื่น รวมถึงการเสนอสิทธิการรับชมการแสดง การชิงโชค ชิงรางวัลด้วย ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ดื่ม เริ่มรณรงค์ตั้งแต่ช่วงก่อนเทศกาล ภายใต้แนวคิด “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” เน้นผู้ขับขี่ยานพาหนะ ให้งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มากกว่า 6 ชั่วโมงก่อนขับขี่
นอกจากนี้ ขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มมาตรการทดสอบผู้ขับขี่ที่สงสัยว่าดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ณ ด่านชุมชน ในช่วง 10 – 16 เมษายน 2564 กรมคุมประพฤติ คัดกรองผู้ถูกคุมความประพฤติความผิดฐานขับรถขณะเมาสุรา และส่งต่อผู้ถูกคุมความประพฤติทุกรายที่ยินยอมเข้ารับการบำบัดที่สถานพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข ในกรณีที่พบผู้บาดเจ็บอุบัติเหตุทางถนนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และสงสัยว่าดื่มสุรา ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ทางลมหายใจผู้บาดเจ็บทุกราย หากผู้บาดเจ็บไม่สามารถเป่าวัดระดับแอลกอฮอล์ทางลมหายใจได้ ให้ส่งเจาะเลือดตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ทันทีที่พบอุบัติเหตุ หรือภายใน 4 ชั่วโมงหลังการเกิดอุบัติเหตุ และดำเนินการกับสถานที่ที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่ผู้อายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งสรุปผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะ ส่งคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ในช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลสงกรานต์ 2558 - 2562 พบว่า มีอุบัติเหตุทางถนน เฉลี่ย 3,514 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 400 ราย ผู้บาดเจ็บเฉลี่ย 3,672 ราย สาเหตุมาจากการดื่มแล้วขับเฉลี่ยร้อยละ 38.67 แต่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2563 มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน และทุกจังหวัดมีประกาศห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่มีสาเหตุมาจากการดื่มแล้วขับลดลง โดยอุบัติเหตุเกิดขึ้น 1,307 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 1,260 ราย เสียชีวิต 167 ราย เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2558 - 2562 พบว่า เกิดอุบัติเหตุลดลง 2,207 ครั้ง (ร้อยละ 62.81) บาดเจ็บลดลง 2,412 ราย (ร้อยละ 65.69) และเสียชีวิตลดลง 233 ราย (ร้อยละ 58.23)
- 16 views