คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เผยพรรคการเมืองให้ความสำคัญกับนโยบายสาธารณสุขเพียงแค่ ‘นโยบายสอดแทรก’ ชี้ต้องเร่งแก้ปัญหา Workload - กำลังคนไม่เพียงพอ – ชั่วโมงการทำงานหนัก แนะลงทุนเม็ดเงินกับงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคคุ้มค่ากว่าการตามรักษา พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลหน้าทุ่มงบประมาณกับการวิจัย-นวัตกรรม รับมือวิกฤตสุขภาพในอนาคต

วันที่ 12 เมษายน 2566 รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ปัญหาในระบบสาธารณสุขไทยที่ยังรอการแก้ไขมีอยู่ด้วยการหลายมิติ อาทิ ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ปัญหาการกระจายตัวและการสร้างแรงจูงใจ ปัญหาภาระงานและชั่วโมงการทำงานของบุคลากรที่เข้าข่าย Workload และ Overload รวมถึงความต้องการการสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ฯลฯ ซึ่งหากพิจารณาจากนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองในขณะนี้ พบว่านโยบายด้านสาธารณสุขเป็นเพียงแค่ส่วนสอดแทรกเท่านั้น จึงอยากให้พรรคการเมืองหันมาให้ความสนใจและแสดงความชัดเจนต่อการแก้ไขปัญหา เนื่องจากสุขภาพของคนไทยเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ

ปัญหาเรื่องกำลังคนในระบบสุขภาพ

รศ.นพ.ดิลก กล่าวว่า ปัญหาเรื่องกำลังคนในระบบสุขภาพเป็นสิ่งหนึ่งที่ควรได้รับการแก้ไข ทุกวันนี้พบว่าบุคลากรมีภาระงานหนักมาก ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาจากความขาดแคลนและการกระจายตัว ซึ่งข้อเท็จจริง โดยเฉพาะพื้นที่ชนบท พบว่าโรงพยาบาลบางแห่งมีแพทย์ไม่เพียงพอ หลังทำงานช่วงกลางวันเสร็จก็ต้องอยู่เวรต่อ ถ้าวันนั้นเกิดมีผู้ป่วยอุบัติเหตุร้ายแรงเข้ามา แพทย์อาจต้องผ่าตัดทั้งคืน เมื่อถึงตอนเช้าก็จะมีคนไข้มารออีก แน่นอนว่าสถานการณ์เช่นนี้ย่อมทำให้ประสิทธิภาพการรักษาลดลง

รศ.นพ.ดิลก กล่าวอีกว่า จากการที่แพทย์ต้องตรวจทั้งวันทั้งคืนทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาลดลง เราจึงได้เห็นข่าวแพทย์พักผ่อนไม่เพียงพอจนเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดความผิดพลาด เช่นเดียวกับพยาบาลที่ทุกวันนี้ต้องทำงานหนักมาก นอกจากนี้ ปัญหาการกระจายและการกระจุกตัวของบุคลากรทางการแพทย์ ก็เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองและนักการเมืองควรให้ความสำคัญ แน่นอนว่าบุคลากรทุกคนต้องการความก้าวหน้าทางอาชีพและต้องการความมั่นคง การเรียนต่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง (specialist) จำเป็นต้องอยู่ในสถานพยาบาลใหญ่ๆ ที่มีศักยภาพสูง หรือบุคลากรที่มีครอบครัวก็ต้องการอยู่ในชุมชนเมือง เนื่องจากต้องการสถานศึกษาที่ดีให้กับบุตร หรือต้องการความสะดวกสบายทั่วไป

เพิ่มการผลิตบุคลากรให้เพียงพอ

ทั้งนี้ วิธีแก้ไขคือจะต้องเพิ่มการผลิตบุคลากรให้เพียงพอ ซึ่งตอนนี้มีการเพิ่มโรงเรียนแพทย์กว่า 20 แห่ง และต้องลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนส่งเสริมการกระจายตัว จัดสวัสดิการที่ดีและสร้างแรงจูงใจให้แพทย์ได้อยู่ในระบบต่อ รวมถึงพร้อมทำงานในพื้นที่ชนบทบนความมั่นใจและความก้าวหน้า

“หากความเหลื่อมล้ำของต่างจังหวัดน้อยกว่าในเมืองใหญ่และมีคุณภาพชีวิตที่ใกล้เคียงกัน ไม่ใช่แค่แพทย์เท่านั้น แต่ทุกวิชาชีพก็จะกระจายไปด้วย” รศ.นพ.ดิลก กล่าว

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มธ. กล่าวว่า การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) หรือหลักการ ‘สร้างนำซ่อม’ เป็นแนวทางที่พรรคการเมืองควรให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก เนื่องจากมีความคุ้มค่ากับการลงทุนด้านงบประมาณ เพราะการทำให้ประชาชนไม่ป่วยใช้งบประมาณน้อยกว่าการตามไปรักษาเมื่อเขาป่วยแล้ว ฉะนั้นพรรคการเมืองที่อยู่ระหว่างการหาเสียงในขณะนี้ อาจพิจารณาผลักดันนโยบายเหล่านี้ควบคู่ไปกับการให้การรักษาที่มีคุณภาพ ซึ่งเรื่องการรักษานั้น มั่นใจว่าบุคลากรสาธารณสุขและโรงพยาบาลทำอย่างเต็มที่เต็มความสามารถอย่างมีมาตรฐานแน่นอน

การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)

การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่พรรคการเมืองพยายามชูขึ้นมา เนื่องจากชัดเจนว่าระบบบัตรทองเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากทุกพรรคการเมือง และการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทองย่อมหมายถึงประโยชน์ของประชาชน ซึ่งหมายถึงคะแนนเสียงทางการเมืองในท้ายที่สุด 

อย่างไรก็ดีในประเด็นนี้ ต้องไม่ลืมเรื่องความสมดุลระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ผู้ให้บริการกับประชาชนผู้รับบริการ ซึ่งจำเป็นต้องมีความพร้อมด้วย ดังนั้นเรื่องนี้ควรผ่านการปรึกษาหารือระหว่างทั้งสองฝ่าย พร้อมรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายให้รอบด้าน ถึงจะมีความคุ้มค่ากับงบประมาณที่เสียไป และได้มาซึ่งประสิทธิภาพมากที่สุด

การสนับสนุนการวิจัยและการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ

รศ.นพ.ดิลก กล่าวด้วยว่า เรื่องการวิจัยเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ยังไม่ได้รับความสนใจจากพรรคการเมืองเท่าที่ควร ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว การวิจัยคิดค้นนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาสามารถสร้างมูลค่ามหาศาล ยกตัวอย่างวิกฤตโควิด-19 ไทยต้องเผชิญทั้งสภาวะขาดแคลนหน้ากากอนามัย วัคซีน และยาต้องพึ่งพาการสั่งจากญี่ปุ่น จีน และอินเดีย เพราะฉะนั้นพรรคการเมืองและรัฐบาลชุดต่อไปควรประกาศนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการวิจัยและการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อรองรับวิกฤตสุขภาพครั้งใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

สำหรับคณะแพทย์ธรรมศาสตร์ มธ. ปัจจุบันได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลิตแพทย์ โดยได้ร่วมมือกับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) และได้ดำเนินโครงการร่วมผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท (CPIRD) ในพื้นที่ จ.สระบุรี จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชุมพร และ จ.สุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ยังร่วมกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ในการดูแลสุขภาพสังคม ตลอดจนลงพื้นที่ชุมชนเพื่อให้บริการสุขภาพด้านต่างๆ ด้วย 

“ระบบสุขภาพในประเทศไทยเป็นระบบใหญ่ หากพรรคการเมืองสามารถแบ่งนโยบายออกเป็นกลุ่มๆ อย่างชัดเจน เช่น กลุ่มผู้ให้บริการ กลุ่มผู้รับบริการ แล้วให้ความชัดเจนว่าจะทำอะไรกับส่วนนั้นๆ      ก็จะช่วยให้ประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงตัดสินใจเลือกได้ง่ายขึ้น เพราะเรื่องสุขภาพคือรากฐานที่สำคัญของบุคคล ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ” รศ.นพ.ดิลก กล่าว