สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ร่วม รพ.ธัญญารักษฺเชียงใหม่โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน และเครือข่าย 7 แห่งบนพื้นที่สูง รวมพลังสร้างสรรค์ผลงาน “รวมพลังเยียวยาผู้ติดฝิ่นสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยชุมชนมีส่วนร่วม” ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ระดับดีเด่น
เมื่อวันที่ 6 เมษายน นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ติดฝิ่นในพื้นที่สูง ซึ่งเป็นพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดน ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงเป็นป่า มีความทุรกันดารมาก การเข้าออกในพื้นที่ทำได้ยาก ในพื้นที่มีหลายชนเผ่าอาศัยอยู่รวมกันมีความแตกต่างทางความเชื่อ ภาษา และวัฒนธรรม มีประเพณีการต้อนรับแขกด้วยฝิ่น และใช้ฝิ่นเพื่อการรักษาอาการเจ็บป่วย ผู้ติดฝิ่นมีสภาพร่างกายทรุดโทรม เหมือนคนตายทั้งเป็น ไม่สามารถทำงานประกอบอาชีพได้ กลายเป็นภาระของครอบครัวที่ต้องดูแล ครอบครัวแตกแยก บุตรหลานไม่ได้รับการศึกษาตามความเหมาะสม เมื่อจะเข้าสู่การบำบัดรักษาก็ทำได้ยาก เนื่องจากไม่มีหน่วยบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน ประกอบกับมีฐานะยากจน ไม่มีค่าใช้จ่ายเพียงพอในการเดินทางเข้ารับการบำบัด วงจรชีวิตจึงดำเนินอยู่ต่อไปกับปัญหาความยากจน ความด้อยโอกาส และติดฝิ่นเป็นเรื่องยากที่จะหลุดออกจากวงจร หรือเปลี่ยนแปลงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ตั้งศูนย์ลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด ใช้เมทาโดนรักษาผู้ติดฝิ่น
กรมการแพทย์โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ร่วมกับโรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่และโรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน จึงนำแนวทางการแก้ปัญหาโดยการดำเนินการในเชิงรุก โดยใช้การมีส่วนร่วมของชุมชน(Community Based Participation)ใช้ครอบครัว ชุมชน และทรัพยากรที่มีในชุมชน เปลี่ยนพื้นที่สีแดงเป็นสีเขียวและร่วมบูรณาการกับองค์การภายนอกในการปรับแก้กฎระเบียบ และแก้กฎหมาย เพื่อเอื้ออำนวยต่อการดำเนินการในบริบทของพื้นที่ จัดตั้งศูนย์ลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (Drop in center) ครอบคลุมในมิติร่างกาย คือการใช้เมทาโดนระยะยาว ในการรักษา มิติจิตใจ ปรับเจตคติ ด้วยการเสริมพลังในการดูแลตนเอง มิติสังคม เปลี่ยนกรอบคิด ปรับมุมมอง ผู้เสพ ผู้ติด คือ ผู้ป่วย ต้องให้การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม แก้ปัญหาความยากจน พัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกๆ ด้าน
รักษาผู้ติดฝิ่น ทำคุณภาพชีวิตดีขึ้น
นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลลัพธ์จากการมุ่งมั่นดำเนินงานดังกล่าว พบว่า จำนวนผู้ติดฝิ่นที่เข้ารับการบำบัดเพิ่มขึ้นจาก 300 คน เป็น 2,984 คน อัตราการคงอยู่ในระบบการบำบัดของผู้ติดฝิ่น ร้อยละ 80 อัตราการเลิกเสพฝิ่น ร้อยละ 12.3 เพิ่มจำนวน Drop in Center จาก 7 แห่ง เป็น 27 แห่ง คุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้ติดฝิ่นหลังเข้ารับบริการ อยู่ในระดับดีมาก ทั้งด้านความผาสุกในชีวิต ด้านจิตใจและอารมณ์ ด้านสังคม และด้านร่างกายอยู่ในระดับมาก ส่วนอาชีพและรายได้อยู่ในระดับปานกลาง และชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ผลงาน “รวมพลังเยียวยาผู้ติดฝิ่นสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยชุมชนมีส่วนร่วม ได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม Thailand Excellent Participatory Governance Awards ประจำปี พ.ศ. 2563 ระดับดีเด่น ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ผลงานนับเป็นความภาคภูมิใจของสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่และโรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน ที่สามารถช่วยเหลือผู้ติดฝิ่นให้สามารถเลิกใช้ฝิ่นได้ มีความเป็นอยู่ที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- 345 views