“สช.-IHPP” เปิดเวทีสนทนาสาธารณะ (Policy Dialogue) สำรวจความพร้อม-ความเป็นไปได้ต่อการสร้าง ‘ระบบหลักประกันรายได้รองรับสูงวัย’ เพื่อสร้างความมั่นคงหลังเกษียณ

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 “สช.-IHPP” เปิดเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ (Policy Dialogue) ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ ‘ไทยพร้อมยัง ... ที่จะมีหลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ’  ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ทพ. วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และนางสาวณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ ไทยพีบีเอส ร่วมแลกเปลี่ยน

โดยวิทยากรร่วมสนทนาคือ นางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, นางนวพร วิริยานุพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดุลยภาพการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง , นายบุญเลิศ อันประเสริฐพร รองเลขาธิการกลุ่มงานปฏิบัติการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, นางสาวบุษยา ใจสว่าง รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ, นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

ผู้บริหารแต่ละหน่วยงานได้แลกเปลี่ยนสถานการณ์ที่ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ตลอดจนบอกเล่าถึงการดำเนินงานของหน่วยงานตัวเอง และกลไกการออมที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยพบว่าอัตราการเกิดทุกวันนี้ต่ำกว่าอัตราการตาย ส่งผลให้จำนวนประชากรของประเทศโดยรวมลดลง ซึ่งหมายถึงกำลังคนในวัยทำงานลดลงด้วย นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้สูงอายุในประเทศไทยจำนวนมากขาดรายได้ หรือไม่มีรายได้เพียงพอหลังเกษียณอายุ นำไปสู่ปัญหาความยากจนและคุณภาพชีวิตที่ต่ำลง ทุกหน่วยงานรวมถึงผู้เข้าร่วมการสนทนาจึงเห็นพ้องร่วมกันถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมี ‘ระบบบำนาญผู้สูงอายุ’ อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่วงสนทนาได้ตั้งคำถามและแสดงความห่วงใย คือ ‘แหล่งงบประมาณ’ ที่จะนำมาจัดทำระบบสวัสดิการในครั้งนี้ มาจากที่ใด 

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เป็นที่ทราบดีว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และผู้สูงวัยก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา การสร้างความมั่นคงโดยเฉพาะในด้านรายได้ให้กับผู้สูงวัยนับจากนี้ จึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ ซึ่งการศึกษาของภาควิชาการเองก็พบว่าประชาชนเองมีความต้องการ แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือเราจะสามารถขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปด้วยกันได้อย่างไร

เรื่องการสร้างหลักประกันรายได้ให้กับผู้สูงอายุ กำลังเป็นนโยบายที่เกือบทุกพรรคการเมืองใช้เป็นแคมเปญช่วงหาเสียง ไม่ว่าจะเป็นการขยายเบี้ยยังชีพ การสร้างบำนาญถ้วนหน้า หวยบำเหน็จ ฯลฯ แต่คำถามสำคัญ อย่างแรกคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายมีความพร้อมในการขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้หรือไม่ และอีกคำถามใหญ่คือ นโยบายที่ถูกนำเสนอออกมามากมายนั้น จะนำงบประมาณมาจากส่วนใด เรื่องนี้ฝ่ายนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองจะเป็นผู้นำคำตอบมาให้กับประชาชน บนเวทีที่ สช. เตรียมจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนเมษายน ก่อนการเลือกตั้งใหญ่

สร้างหลักประกันรายได้หลังเกษียณ

 

นายบุญเลิศ อันประเสริฐพร รองเลขาธิการกลุ่มงานปฏิบัติการ กบข. กล่าวว่า กบข. เป็นกองทุนการออมที่ให้ข้าราชการมีส่วนร่วมในการออมได้สองส่วนคือ การออมภาคบังคับ 3% และการออมภาคสมัครใจที่ขยายได้สูงสุดถึง 30% โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างหลักประกันรายได้ที่มั่นคงหลังเกษียณ พร้อมกับจัดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับสมาชิก ซึ่งภาพรวมในปัจจุบันมีข้าราชการเป็นสมาชิกทั่วประเทศรวม 1.2 ล้านคน และมีเงินในกองทุนกว่า 1.2 ล้านล้านบาท 

กบข. พยายามผลักดันให้สมาชิกเริ่มต้น “ออมเร็ว” และ “ออมให้มาก” สูงสุดตามเพดานที่ออมได้ กับอีกส่วนคือ “ออมให้เป็น” เพราะพบว่าแต่ละบุคคลย่อมรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน ผลตอบแทนจึงย่อมต่างกัน ดังนั้น กบข. จึงออกแบบแผนการลงทุนที่สมาชิกสามารถเลือกให้สอดคล้องกับตนเองได้ ดังนั้นจึงมองว่าในแง่ของความท้าทายในการสร้างหลักประกันรายได้ที่ครอบคลุม เพียงพอ และมั่นคงในอนาคต ภาครัฐจึงอาจจำเป็นจะต้องลดสัดส่วนของบำเหน็จบำนาญ แล้วไปเพิ่มระบบการออมแบบมีส่วนร่วมให้มากขึ้น เพื่อช่วยลดภาระทางการคลังลงได้

 

กองทุนผู้สูงอายุ หรือเบี้ยยังชีพ

ด้านน.ส.บุษยา ใจสว่าง รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวว่า ภายใต้ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 นอกจากการกำหนดในเรื่องของกองทุนผู้สูงอายุ หรือเบี้ยยังชีพ เป็นสวัสดิการสำหรับผู้สูงวัยแล้ว กองทุนนี้ยังสนับสนุนการสร้างรายได้และการประกอบอาชีพ เนื่องจากมีผู้สูงวัยเป็นสัดส่วนถึง 30% ที่มีศักยภาพและยังสามารถทำงานได้ โดยผู้สูงวัยเหล่านี้จะสามารถนำเงินจากกองทุนไปใช้ส่งเสริมการประกอบอาชีพได้ เป็นเงินทุนกู้ยืมปลอดดอกเบี้ยระยะเวลา 3 ปี อย่างไรก็ตาม ภายใต้เนื้อหาของ พ.ร.บ. ตั้งแต่ปี 2546 มาถึงปัจจุบันอาจไม่ตอบโจทย์ ขณะนี้ทางกรมจึงอยู่ระหว่างการเสนอปรับปรุงร่าง พ.ร.บ. เพื่อสนับสนุนสิทธิ สวัสดิการ รายได้ต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับผู้สูงวัยมากขึ้น

 

สวัสดิการผู้สูงอายุ

ด้านนายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า พอช. เป็นอีกหนึ่งกลไกของสวัสดิการที่รัฐจัดให้กับประชาชน ผ่านการสนับสนุนความเข้มแข็งในระดับชุมชนท้องถิ่นซึ่งเป็นฐานราก โดยหนึ่งในนั้นคือการเริ่มต้นจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ที่ปัจจุบันขยายจนมีสมาชิกรวมกันทั่วประเทศกว่า 6.2 ล้านคน มีเงินกองทุนรวมทั้งหมด 1.9 หมื่นล้านบาท จากเงินของประชาชนที่เก็บสมทบร่วมกันวันละ 1 บาท และถูกนำไปใช้จัดสวัสดิการของคนในชุมชน ดูแลร่วมกันตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

 “โจทย์สำคัญคือ หากมีรายได้จากรัฐเพื่อให้มีคนดูแลผู้สูงอายุ แต่หากวันนี้คนดูแลผู้สูงอายุเจ็บป่วยก่อนวัยอันควรจะทำอย่างไร เป้าหมายสำคัญจึงอยู่ที่คุณภาพชีวิตที่ดีในแบบ “กินอิ่ม นอนอุ่น ฝันดี” คำว่า กินอิ่ม คือ การมีอาชีพ และรายได้ที่มั่นคง , นอนอุ่น คือ การมีที่อยู่อาศัย คุ้มแดด คุ้มฝนให้นอนหลับ สุดท้าย คือ ฝันดี โดยมีมิติที่รัฐจัดให้ โดยมีระบบที่ประชาชน ชุมชน นั้นลุกขึ้นมาจัดการตนเอง” วันนี้จึงเป็นความท้าทายในการขับเคลื่อนบทบาทของชุมชน รวมทั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนปัจจุบันมี 5,915 กองทุน สมาชิก 6.4 ล้านคน โดยมีการสมทบจากสมาชิกวันละบาท รัฐสมทบร้อยละ 20 , อบต. ท้องถิ่นร้อยละ 7 และแหล่งอื่นๆ โดยมีการจัดสวัสดิการตั้งแต่ครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน

ทั้งสวัสดิการในการดูแลผู้สูงอายุ กองทุนชราภาพ การเยี่ยมบ้านผู้เปราะบาง การร่วมโดยชุมชนและทุกภาคส่วน จนถึงการตรวจสุขภาพกาย และตายอย่างมีความสุขโดยสวัสดิการชุมชนจากรูปธรรมที่ผ่านมาในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศที่พี่น้องนำระบบกองทุนสวัสดิการมาดูแลซึ่งกันและกัน และยังเป็นฐากรากที่จะมองในระยะต่อไปที่ทำให้เทศบาลหรือกองทุน 1,000 กว่าแห่งที่ไม่มีกรือกำลังฟื้นฟูให้ได้พัฒนาเข้มแข็ง รวมทั้งมองไปข้างหน้าในโอกาสที่จะให้เกิดการหักลดหย่อนภาษีที่เป็นมาตรจูงใจให้แหล่งประมาณมาสนับสนุนการแก้ไขและการพัฒนาชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นภายในเป้าหมายและความคาดหวังของสังคมและชุมชนในการเดินไปข้างหน้าร่วมกัน