เห็บ หมัด เกาะดวงตา

เตือน! กลุ่มรักหมา-แมว ระวัง เห็บ หมัด เกาะดวงตา รพ.เมตตาฯ แนะนำ หากมีเห็บ หมัด กัดที่ตา ไม่ควรดึงออกเอง ควรพบจักษุแพทย์ เพราะอาจทำให้เชื้อโรคเข้าไปในแผล ติดเชื้อ ตาบวม ตาแฉะ น้ำตาไหล ตาอักเสบมีหนองบริเวณเปลือกตาใช้เวลานานในการรักษา

"ระวัง เห็บ หมัด เกาะดวงตา"

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 66 นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์  เปิดเผยว่า เห็บมีหลายชนิด มีบางชนิดเป็นพาหะนำโรคได้ เช่น โรคไทฟัส โรคไข้กลับซ้ำ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น เห็บกินเลือดของสัตว์พวกสัตว์เลื้อยคลาน นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นอาหาร คนก็เป็นเหยื่อของเห็บด้วยเช่นกัน ส่วนมากเห็บที่กัดคนมาจากสัตว์เลี้ยง เช่น แมว สุนัข หรือมาจากบริเวณพงหญ้า หรือพุ่มไม้ที่เห็บหลบอยู่ เมื่อได้กลิ่นเหงื่อหรือความร้อนจากอุณหภูมิของร่างกาย เห็บจะกระโดดเกาะเพื่อดูดเลือด จึงต้องระวัง เห็บ หมัด เกาะดวงตา

"ระวัง เห็บ หมัด เกาะดวงตา"

นายแพทย์อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวว่า จากเหตุการณ์ในสื่อโซเชียลที่เห็บกัดอยู่โคนขนตา สามารถพบบ่อยได้ในสัตว์เลี้ยงและในคนได้ จึงอยากเตือนให้ตระหนักหมั่นดูแลเรื่องความสะอาดคอยกำจัดเห็บ หมัดอยู่เสมอ ต้องระวัง เห็บ หมัด เกาะดวงตา โดยเฉพาะในสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว เป็นต้น โดยเห็บจะกระโดดเกาะคนแล้วคลานหาบริเวณที่ปลอดภัยเพื่อดูดเลือด เช่น บริเวณซอกพับ รักแร้ ไรผม มักกินเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง เห็บมีส่วนของปากที่งับบนผิวหนังคนเพื่อดูดเลือด เมื่ออิ่มเห็บจะคลายปากและหลุดไปเอง ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ถึง 7 วัน

"ระวัง เห็บ หมัด เกาะดวงตา"

แพทย์หญิงสุณิสา สินธุวงศ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญ กล่าวเพิ่มว่า หากสงสัยว่า เห็บ หมัด เกาะดวงตา หรือมีเห็บ หมัด กัดที่ตา โดยเฉพาะเด็กเล็กอาจพบเป็นตุ่มสีดำที่บริเวณเปลือกตาไม่ควรดึงออกเอง ควรพบแพทย์ เนื่องจากการดึงออกเองอาจเอาปากเห็บออกไม่หมดและมีการติดเชื้อแทรกซ้อนเนื่องจากเชื้อโรคเข้าไปในแผล ติดเชื้อ ตาบวม ตาแฉะ น้ำตาไหล  ตาอักเสบมีหนองบริเวณเปลือกตาได้อาจใช้เวลาในการรักษานานขึ้น อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถพบแพทย์ได้ วิธีที่จะเอาเห็บออกจากผิวหนังคือการใช้แหนบถอนขนคีบเห็บส่วนที่ใกล้ผิวหนังมากที่สุดแล้วค่อยๆ ดึงออก ห้ามใช้บุหรี่จี้รวมถึงน้ำยาล้างเล็บ ขี้ผึ้ง หรือสบู่เหลว เนื่องจากสารพวกนี้จะทำให้เห็บระคายเคืองและปล่อยสารพิษเข้าไปในแผลที่มันกัดได้ ไม่ควรบิด กระชาก บีบขยี้ หรือเจาะตัวเห็บ เพราะจะทำให้ของเหลวจากตัวเห็บ ซึ่งอาจมีเชื้อโรคถูกปล่อยออกมาเข้าสู่บาดแผล ควรล้างมือ และผิวหนัง บริเวณที่ถูกกัดด้วยสบู่ให้สะอาดถ้าเห็นส่วนของปากเห็บติดอยู่ที่ผิวหนัง ควรพบแพทย์อย่าพยายามแกะ แคะออกจะทำให้ผิวหนังเป็นแผลติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : สธ.ชี้แมลงโผล่จากผิวหนังที่สระบุรี เป็น “หมัดสุนัข”ธรรมดา ไม่ใช่แมลงประหลาด

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org