เริ่มแล้วรับฟังความเห็น ปี 66 ยกระดับสิทธิบัตรทองของคนไทย สปสช.เพิ่มช่องทางใหม่ พร้อมเปิดประเด็นเฉพาะ ทั้งกรณีผู้ใช้สิทธิบัตรทองถูกเรียกเก็บเงิน เข้าไม่ถึงบริการตามสิทธิประโยชน์ และการดำเนินการของ สปสช. หลัง รพ.สต. โอนถ่ายไปท้องถิ่นให้ข้อเสนอแนะผ่านไลน์ทราฟฟี่ ฟองดูว์

 วันที่ 19 ีมีนาคม 66 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้และผู้รับบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท คือการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาในด้านต่างๆ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จึงได้กำหนดให้มีการจัดรับฟังความเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการเป็นประจำทุกปี และในปี 2566 นี้

สปสช. ยังคงเดินหน้าจัดการรับฟังความเห็นฯ โดยเป็นไปตามแผนพัฒนาแนวทางการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ตามมาตรา 18 (13) ประจำปี 2566 ของอนุกรรมการสื่อสารฯ ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565  
 
ทั้งนี้ ในการจัดการรับฟังความเห็นฯ ได้มีการกำหนดประเด็นแสดงความเห็นเป็น 8 ประเด็น ตามข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ พ.ศ. 2556 และ พ.ศ. 2558 ประกอบด้วย 

การพัฒนาสิทธิประโยชน์และยกระดับกองทุนบัตรทอง

1.ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข 2.มาตรฐานบริการสาธารณสุข 3.การบริหารจัดการสำนักงาน โดยในปี 2566 นี้ มีการเน้นการระดมความเห็นกรณีผู้ใช้สิทธิบัตรทองถูกเรียกเก็บเงิน และการทำให้เข้าถึงบริการที่เป็นสิทธิประโยชน์อยู่แล้วเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น เช่น บริการทันตกรรม เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา

4.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 5.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) 6.การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และ 7.การรับรู้และคุ้มครองสิทธิ 8.ประเด็นอื่นๆ  ซึ่งในปีนี้เป็นประเด็นรับฟังข้อเสนอแนะการบริหารกองทุนบัตรทองในส่วนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพและตำบล (รพ.สต.) หลังจากการถ่ายโอนไปยังท้องถิ่น เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด 
 
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ในปีนี้กระบวนการรับฟังความเห็นฯ ได้เริ่มขึ้นแล้ว นอกจากการรับฟังความเห็นที่ได้จากการบูรณาการงานประจำของระบบงานใน สปสช. เพื่อรับข้อเสนอแนะมาปรับปรุงการทำงานในส่วนที่สามารถดำเนินการได้ทันทีแล้ว ขณะนี้อยู่ในช่วงดำเนินการในระดับเขต ทั้ง 13 เขตพื้นที่ ขณะเดียวกัน สปสช.ได้เปิดช่องทางรับฟังความเห็นผ่านระบบออนไลน์ ดังนี้

1.เว็บไซต์ สปสช. รับฟังความเห็นออนไลน์ http://hearing.nhso.go.th/ 2.แบบฟอร์มรับข้อเสนอแนะ และ 3.ในปีนี้ได้เพิ่มช่องทางพิเศษเพื่อความสะดวกกับประชาชนคือไลน์ทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) ในระหว่างนี้ สปสช. จะดำเนินการรวบรวมข้อเสนอแนะที่ได้รับทั้งหมดมากลั่นกรอง และจะมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นฯ ระดับประเทศในวันที่ 30 มิถุนายน 2566 นี้ เพื่อส่งมอบข้อเสนอจากการรับฟังความเห็นในปี 2566 ให้กับบอร์ด สปสช. เพื่อสู่การพิจารณาและดำเนินการต่อไป  
 
นอกจากการรับฟังความเห็นโดยบูรณาการกับงานประจำ และรับฟังผ่าน 3 ช่องทางออนไลน์แล้ว สปสช.ยังจัดกระบวนการรับฟังความเห็นที่หลากหลายมากขึ้น โดยในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม นี้ จะเดินสายเพื่อรับฟังข้อเสนอจากกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำข้อเสนอที่ได้มาปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไป 
 
“การรับฟังความเห็นฯ เป็นกระบวนการที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นส่วนที่นำไปสู่การพัฒนาสิทธิประโยชน์และยกระดับกองทุนบัตรทอง ที่คนไทยทุกคนร่วมเป็นเจ้าของ จึงขอเชิญชวนประชาชน แพทย์ พยาบาล บุคลากร อสม อสส. ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ-เอกชน มาร่วมกันแสดงความเห็นเพื่อขับเคลื่อนไปด้วยกัน” ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นฯ กล่าว 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  
1.สายด่วน สปสช. 1330 
2.ช่องทางออนไลน์
• ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
• Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
• ไลน์ Traffy Fondue เป็นเพื่อนใน LINE ค้นหาไอดี @traffyfondue หรือคลิกที่ลิงค์ https://lin.ee/nwxfnHw