สถาบันโรคผิวหนัง ปรับโฉมตึก 22 ชั้นเพิ่มศักยภาพบริการประชาชน เดินหน้าแก้ปัญหาแพทย์ผิวหนัง (ตจแพทย์) ขาดแคลน 25 จังหวัด เน้นให้ทุนการศึกษาเป็นศูนย์เทรนนิ่งกระจายหมอเติมเต็มพื้นที่ขาด

เปิดตัวแล้ว....สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ (Institute of Dermatology: IOD) กับการปรับโฉมเพื่อเพิ่มศักยภาพการบริการประชาชนมากยิ่งขึ้น ด้วยกิจกรรม OPEN HOUSE “1 st IOD OPEN HOUSE”  โดยมี นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์  พร้อมด้วย พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง  และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องร่วมงาน พร้อมให้ข้อมูลสื่อมวลชน ถึงการปรับโฉมครั้งนี้

ปรับโฉมสอดคล้อง Health for Wealth

นพ.ธงชัย ให้ข้อมูลว่า การปรับโฉมของ สถาบันโรคผิวหนัง   เป็นไปตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข Health for Wealth  คือ พัฒนาให้แข็งแรงทุกมิติ เมื่อสุขภาพดี เศรษฐกิจสังคมก็จะดี  ซึ่งนอกจากรักษาโรคทางผิวหนังต่างๆ ทั้งสะเก็ดเงิน มะเร็งทางผิวหนัง โรคเรื้อน โรคผิวหนังต่างๆ ยังให้บริการในเรื่องความงาม สร้างรายได้เข้าประเทศไทย ที่สำคัญยังให้การอบรมพัฒนาศักยภาพแพทย์จากภูมิภาคที่ต้องการต่อยอดองค์ความรู้ เรียกว่า   เป็นศูนย์เทรนนิ่งให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด้านผิวหนังที่ต้องการความเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น

การปรับโฉมครั้งนี้มีการพัฒนาศักยภาพต่างๆจำนวนมาก เพื่อรองรับประชาชนที่มาใช้บริการที่สถาบันฯ ซึ่งพบว่า ปัจจุบันมีผู้มาใช้บริการมากถึงร้อยละ 40 การให้บริการส่วนใหญ่ของผู้มารับบริการในขณะนี้พบว่าเป็นกลุ่มในวัยรุ่นทั่วไปอายุระหว่าง 20 - 29 ปี และผู้สูงอายุก็มีสัดส่วนมารับบริการมากขึ้นถึงร้อยละ 20 โดยกลุ่มโรคที่มารักษาได้แก่โรคผิวแห้ง,สะเก็ดเงิน  รวมถึงความสวยงามทั่วไป นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้ผลิตภัณฑ์ไม่มีคุณภาพปนเปื้อนและสารอันตราย เช่น ไฮโดรควิโนน ปรอท  กรดวิตามินเอ เป็นต้น

หมอผิวหนังขาดแคลน 25 จังหวัด

ด้านพญ.มิ่งขวัญ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์แพทย์ผิวหนัง หรือ ตจแพทย์ในภาครัฐยังไม่เพียงพอ  ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 600 คน รับราชการอยู่ 300 คน  ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานครราว 200 คน  แต่ยังมีถึง 25 จังหวัดที่ไม่มีแพทย์ผิวหนังรับราชการ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน พะเยา น่าน ตาก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร พิจิตร อ่างทอง กาญจนบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระแก้ว ระยอง เลย หนองคาย หนองบัวลำภู บึงกาฬ ชัยภูมิ อำนาจเจริญ มุกดาหาร ระนอง สตูล นราธิวาส และปัตตานี

ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงมีความพยายามผลักดันเพื่อให้แพทย์ที่มาฝึกได้ลงไปเติมในจังหวัดที่ยังขาดแคลน โดยจะเน้นการให้ทุนการศึกษาลงไปในพื้นที่นั้นๆ

ฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ

สำหรับการฝึกอบรมแพทย์ผิวหนัง มีทั้งการฝึกศักยภาพแพทย์ประจำบ้าน รวมไปถึงแพทย์เชี่ยวชาญต่างๆ เช่น แพทย์ปฏิบัติการ สาขาตจวิทยา หลักสูตรวิชาโรคผิวหนังสำหรับแพทย์ หลักสูตรแพทย์ปฏิบัติการทางคลินิกตจศัลยศาสตร์ หลักสูตรศัลยศาสตร์  หลักสูตรเชื้อราวิทยา หลักสูตรโรคผื่นแพ้สัมผัส และอาชีวเวชศาสตร์ หลักสูตรอบรมการพยาบาลโรคผิวหนัง เป็นต้น

 

ปัญหาผิวพรรณ เหี่ยว แห้ง ดำ

ทั้งหมดเป็นตัวอย่างในการฝึกแพทย์เพื่อให้บริการประชาชน  นอกจากนี้ สถาบันฯ ยังให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพผิวพรรณอย่างเหมาะสม โดยพญ.มิ่งขวัญ บอกว่า  ปัญหาผิวพรรณส่วนใหญ่จะมี 3 คำ คือ   “เหี่ยว แห้ง ดำ”  อย่างผู้สูงอายุจะมีเรื่องผิวแห้ง หย่อนคล้อยตามวัย ส่วนผิวดำ เนื่องจากมีเทรนเรื่องผิวขาว แต่จริงๆ ควรเน้นเรื่องผิวกระจ่างใส สุขภาพดีมากกว่า เพราะการทำให้ผิวขาว ค่อนข้างอันตราย เนื่องจากไปใช้ครีมที่ผสมสารอันตราย ซึ่งเราพบปัญหาตรงนี้เยอะ  ที่ผ่านมาจะมีการสื่อสารให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับเรื่องนี้มาตลอด

"สถาบันโรคผิวหนังเมื่อ พ.ศ.2515"

สถาบันโรคผิวหนังเมื่อครั้งอดีต

อย่างไรก็ตาม สำหรับสถาบันโรคผิวหนัง  มีการดำเนินการ ทั้งการให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วย ทั้งการรักษาโรค การดูแลผิวพรรณ ความสวยความงาม มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515   โดยใช้พื้นที่ 1 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา เดิมเป็นอาคาร 6 ชั้น ใช้งานต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 40 กว่าปี  

สถาบันโรคผิวหนัง ณ ปัจจุบัน

ล่าสุดจึงได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้น ซึ่งแบ่งเป็นงบประมาณ 880 ล้านบาท และงบการสมทบเงินบำรุงของสถาบันฯ อีก 164 ล้านบาท รวม 1,044 ล้านบาท  ปัจจุบันอาคารสถาบันโรคผิวหนังหลังใหม่นี้สร้างเสร็จสมบูรณ์มีความสูง 22 ชั้น มีที่จอดรถชั้นใต้ดิน 3 ชั้นรวมเป็น 25 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวม 40,365 ตารางเมตร

ภารกิจ สถาบันโรคผิวหนัง

โดยปัจจุบัน สถาบันโรคผิวหนัง มีภารกิจ 3 ด้านหลักๆ ได้แก่

1. ด้านการบริการที่เป็นเลิศ

มีการให้บริการตรวจรักษาโรคผิวหนังทั่วไปและคลินิกเฉพาะโรคที่สำคัญ 13 คลินิก มีระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และระบบ Tele-Consult 

2. ด้านวิชาการที่เป็นเลิศ

มีศูนย์ฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านและการอบรมเฉพาะทางด้านโรคผิวหนังอื่น ๆ ทั้งในประเทศและนานาชาติ มีศูนย์ข้อมูลเผยแพร่ความรู้ด้านโรคผิวหนังต่อสื่อสาธารณะและประชาชนทั่วไป

3. ด้านการวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นเลิศ 

มีการพัฒนางานวิจัย องค์ความรู้ใหม่และเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงการพัฒนาสูตรยาตำรับสถาบันโรคผิวหนังและต่อยอดให้เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ  

นอกจากภารกิจด้านการให้บริการตรวจรักษาโรคผิวหนังเป็นภารกิจหลักแล้ว ด้านการส่งเสริมและแก้ไขปัญหาผิวพรรณยังมีความสำคัญต่อสุขภาพผิวของประชาชนด้วยเช่นกัน อาทิ นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านเลเซอร์ผิวหนังที่มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานระดับสากล โดยศูนย์เลเซอร์ผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง มีเครื่องเลเซอร์ที่มีความหลากหลายและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทันสมัย เช่น เครื่องยกกระชับด้วยคลื่นวิทยุ (Radiofrequency)  เครื่องยกกระชับด้วยคลื่นอัลตราซาวน์ (High Intensity Focus Ultrasound) เครื่องเลเซอร์รักษาเส้นเลือด (Pulsed-dye laser) เครื่องกำเนิดแสงความเข้มสูง (Intense Pulsed Light) เครื่องเลเซอร์รักษาเม็ดสีและลบรอยสัก (Picosecond laser, Q-switched Nd:YAG) เครื่องเลเซอร์คาร์บอนไซด์ออกไซด์ (CO2 laser) เครื่องเลเซอร์กำจัดขนและกระชับรูขุมขน (Long pulsed Nd:YAG) เครื่องเลเซอร์รักษารอยแผลเป็น (Erbium:YAG laser) เป็นต้น

อีกทั้ง ยังมี ศูนย์ชะลอวัย ที่มีการบริการให้ตรวจ วินิจฉัย รักษา ส่งเสริมป้องกันและชะลอความเสื่อมของร่างกาย ให้คำแนะนำ และวางแผนการรักษา เพื่อฟื้นฟูสุขภาพแบบองค์รวมและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น รวมถึงดูแลปัญหาผิวพรรณ ปัญหาเรื่องรูปร่างสัดส่วน โดยทีมแพทย์และนักกายภาพบำบัด รวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัยและปลอดภัย เพื่อรองรับการให้บริการให้ครอบคลุมทุกกลุ่มวัยให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น  เครื่องตรวจวัดองค์ประกอบของร่างกาย เครื่องวิเคราะห์ระดับวิตามิน แร่ธาตุและสารต้านินุมูลอิสระในร่างกาย คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้างเนื้อและกระชับกล้ามเนื้อ รักษาอาการปวดเมื่อยจากการทำงาน  (Office Syndrome) รักษาความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันไม่แข็งแรง ลดขนาดของเซลล์ไขมัน ขนาดเส้นรอบเอว กระชับสัดส่วนด้วยคลื่นวิทยุ  เร่งกระบวนการรักษาแผลฟื้นฟูผิวพรรณ เพิ่มความชุ่มชื้นของผิวและผลักสารต้านอนุมูลอิสระเข้าชั้นผิว เพื่อเสริมสร้างความอ่อนเยาว์ของผิวพรรณ เป็นต้น