นักวิชาการสาธารณสุข ชู "13-17 มี.ค." สัปดาห์ร้องความเป็นธรรม "14 มี.ค." ยื่นทำเนียบฯ ร้องตำแหน่ง นักสาธารณสุข บรรจุข้าราชการ โควิด19 ปัญหาตำแหน่งหัวหน้างานสาย นักวิชาการสาธารณสุข
เมื่อวันที่ 12 มีนาคม นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข(ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์ Hfocus ถึงการขับเคลื่อนเรียกร้องความเป็นธรรมให้นักวิชาการสาธารณสุข ที่กำลังรอตำแหน่งใหม่เป็น “นักสาธารณสุข” ทั่วประเทศ ว่า หลังจากมีการเรียกร้องสิทธิสวัสดิการ ความเป็นธรรมให้นักวิชาการสาธารณสุขมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดตำแหน่งใหม่เป็น “นักสาธารณสุข” การเรียกร้องการบรรจุข้าราชการโควิด-19 รอบสอง โดยเฉพาะกลุ่มนักวิชาการสาธารณสุขที่ตกหล่น แต่จนบัดนี้ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ดังนั้น ทางชมรมนักวิชาการสาธารณสุข(ประเทศไทย) ร่วมกับเครือข่ายนักสาธารณสุขทั่วประเทศ จึงต้องออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยกำหนดให้วันที่ 13-17 มีนาคม 2566 เป็นสัปดาห์เรียกร้องความเป็นธรรมให้นักสาธารณสุขทั่วประเทศ และในวันที่ 14 มีนาคม จะมีผู้แทนยื่นหนังสือที่ กพร. ทำเนียบรัฐบาล
สัปดาห์เรียกร้องความเป็นธรรม นักสาธารณสุข
นายริซกี กล่าวว่า สำหรับสัปดาห์เรียกร้องความเป็นธรรมให้นักสาธารณสุข ได้กำหนดระหว่างวันที่ 13-17 มีนาคม ให้นักสาธารณสุขทุกพื้นที่ร่วมกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยจะไปยื่นหนังสือที่ศูนย์ดำรงธรรมของแต่ละจังหวัด พร้อมทั้งจะมีการติดป้ายแสดงออกแต่ละหน่วยงาน
14 มีนา ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม นักสาธารณสุข กพร.ทำเนียบรัฐบาล
นายริซกี กล่าวว่า ในวันที่ 14 มีนาคม จะมีตัวแทนไปยื่นหนังสือที่ กพร. ทำเนียบรัฐบาล โดยจะไม่ไปเรียกร้องที่กระทรวงสาธารณสุขแล้ว เพราะเคยยื่นมาหลายครั้ง กระทรวงสาธารณสุขรับรู้แล้ว แต่เรื่องยังนิ่งเฉย ไม่ค่อยมีความชัดเจน จึงขอไปยื่นหนังสือกับหน่วยงานภายนอกให้ช่วยเหลือ อย่างที่ผ่านมาเคยร้องทางคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ส.ส. และส.ว. ก็ดูเหมือนจะช่วยติดตามเรื่องมากกว่า
ข้อเรียกร้องของ นักวิชาการสาธารณสุข
นายริซกี กล่าวว่า เป็นข้อเรียกร้องเดิมๆ ที่มีการร้องขอมานาน แต่ยังไม่มีผลเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยแบ่งออกเป็น 4 ข้อหลักๆ ดังนี้
1.กำหนดตำแหน่ง นักสาธารณสุข
เป็นการกำหนดตำแหน่งที่ล่าช้า เพราะผ่าน อกพ.กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่เดือน เม.ย.65 สธ.ส่งก.พ. ตั้งแต่พ.ค.65 เรื่องเกือบปีแต่กลับไม่ขยับ คำตอบที่ สำนักงาน ก.พ.ตอบคือ กำลังเตรียมข้อมูล ซึ่งนานมาก
2.ปัญหาการเลื่อนระดับที่สูงขึ้นของหัวหน้างานสาย นักวิชาการสาธารณสุข
การเลื่อนระดับที่สูงขึ้นของหัวหน้างานสายงานนักวิชาการสาธารณสุขในรพ.ชุมชน ยังมีความไม่ธรรม เนื่องจากมีการให้เลื่อนระดับเฉพาะสายงานพยาบาล ทำให้เวลาพิจารณาหัวหน้างานของนักวิชาการไม่ได้ทั้งที่ม่คุณสมบัติครบ แต่ไม่ใช่ชำนาญการพิเศษ คนที่เป็นหัวหน้าอยู่แล้ว ก็ให้ลงจากตำแหน่ง และให้พยาบาลที่เป็นลูกน้องขึ้นมาเป็นหัวหน้าแทน
ทั้งนี้ เพราะว่ามีการกำหนดกรอบตำแหน่งชำนาญการพิเศษในรพช. จำกัดแค่แพทย์ เท่านั้น จริงๆ กรอบงานไหนหรือสายงานไหนขึ้นตำแหน่งได้ ควรกำหนดให้เหมือนกัน อันนี้เป็นปัญหามาก เพราะหนังสือกำหนดขึ้นแค่เภสัชกร และพยาบาลเพิ่มเติม แต่กลับไม่เปิดช่องนักวิชาการสาธารณสุข ทั้งที่บางที่นักวิชาการเขาเป็นหัวหน้างานแล้ว อย่างกลุ่มงานปฐมภูมิ สำหรับรพช.กว่า 800 แห่งมีนวก.ที่เป็นหนัวหน้ากลุ่มปฐมภูมิแค่ 60 กว่าแห่ง ซึ่งหลายคนให้ลงจากหัวหน้า เพราะไม่ใช่ชำนาญการพิเศษ พยาบาลที่เป็นลูกน้องขึ้นเป็นหัวหน้าแทน ตอนนี้มีหลายที่แล้วถูกขยับ รวมไปถึงหัวหน้าคนเก่าเกษียณ นวก.ที่รอขยับก็ไม่ได้
3.การบรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง
ปัญหาการบรรจุข้าราชการโควิดรอบสอง ล่าช้ามาก ที่สธ.บอกว่าจะบริหารตำแหน่งว่างภายใน 1 เม.ย. โดยให้ดำเนินการขอมติ ครม.นั้น จนบัดนี้ไม่รู้ว่า บริหารตำแหน่งว่างแล้วเสร็จหรือมีความคืบหน้าการบริหารตำแหน่งอย่างไร ซึ่งจริงๆ อยากให้บรรจุตำแหน่งสายงานต่างๆ อย่างครอบคลุม ไม่ใช่แค่นักเรียนทุนอย่างเดียว โดยเฉพาะกรณีตกค้างจากการบรรจุรอบแรก ก็ควรให้เขาก่อน อย่างนักวิชาการสาธารณสุขที่จบปี 63 อยู่ในมติก็ควรได้เช่นกัน
4.การปรับตำแหน่งเจ้าพนักงาน (จพ.) วุฒิปริญญาตรีมีใบวิชาชีพให้ขึ้นสู่แท่งวิชาการ
“ทั้งหมดเป็นสิทธิที่นักสาธารณสุขควรได้ อย่างเรื่องนี้บอกว่า อยู่ที่ ก.พ. แต่เขาบอกว่า กระทรวงสาธารณสุขบอกว่าให้กำหนดสายงานอื่นเข้ามาด้วย แต่เรามองว่าไม่ควรรอ สายงานไหนพร้อมก็ควรให้ก่อน อย่างนักวิชาการสาธารณสุขพร้อมแล้วก็ควรปรับเป็นนักสาธารณสุข ไม่เช่นนั้นต้องรอไปเรื่อยๆ เราก็เสียสิทธิ ความก้าวหน้าอีกสายงานหนึ่งต้องไปผูกติดอีกสายงานหนึ่ง แบบนี้ก็ไม่ควร” นายริซกี กล่าว
แฟ้มภาพ
ไม่เข้าใจขั้นตอน บรรจุข้าราชการ โควิด19 รอบสอง ล่าช้า
นายริซกี กล่าวว่า ปัญหาคือ กระทรวงสาธารณสุขบอกว่า เสนอคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ.แล้ว ซึ่ง ก.พ.กำลังพิจารณา แต่ก็ล่าช้ามาก เพราะก่อนหน้านี้ ทางสำนักงาน ก.พ. เคยบอกให้กระทรวงสาธารณสุข บริหารตำแหน่งว่างให้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งตอนนี้ทางกระทรวงฯ ก็ยังไม่ได้บอกถึงความคืบหน้าว่า บริหารตำแหน่งว่างถึงเท่าไหร่ อย่างไร สุดท้ายกลุ่มที่ตกหล่นก็ไม่แน่ใจว่าจะได้หรือไม่
ค่าเสี่ยงภัยชายแดนใต้ อยู่ระหว่างการพิจารณาศาลปกครอง
นายริซกี กล่าวอีกว่า สำหรับค่าเสี่ยงภัยชายแดนใต้ เข้าสู่ศาลปกครองแล้ว ซึ่งก็รอตามกระบวนการของศาล เพราะกระบวนการ 6 ปีที่ผ่านมาเราขับเคลื่อนมาพอสมควรแล้ว ส่วนที่กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลว่า กำลังส่งกระทรวงการคลังก็ไม่แน่ใจว่า สุดท้ายจะได้หรือไม่ หลักเกณฑ์เป็นอย่างไร หากสุดท้ายไม่ได้ ก็ต้องเดินหน้าเรียกร้องตามขั้นตอน
ติดตามช่องทางข่าวสารอีกช่องทางของ Hfocus ได้ที่เฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 6001 views